สภาอุตฯ ชี้ ไทยต้องขับเคลื่อน S-Curves BCG และClimate Change ฝ่าวิกฤตพาไทยรอด

สภาอุตฯ ชี้ ไทยต้องขับเคลื่อน  S-Curves  BCG  และClimate Change   ฝ่าวิกฤตพาไทยรอด

ปธ.สภาอุตสาหกรรม ฯ ชี้ ไทยต้องพลิกเกม ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมรับมือวิกฤตเศรษฐกิจ เผย S-Curves BCG และClimate Change จะพาไทยรอด กลายเป็นผู้นำด้าน Green Economy

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวในการสัมมนา Thailand Economic Outlook 2023 ในหัวข้อ ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ 2023 รอดหรือร่วง? ว่า เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอน มีความผันผวนสูง ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สภาอุตสาหกรรมต้องปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะดิจิทัลทรานฟอร์ม ซึ่งอุตสาหกรรมหลายอุตสาหกรรมก็ถูกดิสรัปชั่น ขณะที่ภายในประเทศก็เจอปัญหาการขาดแรงงาน เพราะสังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ขณะนี้อัตราการเกิดลดลงถึง 3 แสนคน ทำให้จุดที่เคยได้เปรียบในอดีตโดยเฉพาะแรงงาน ปัจจุบันไม่ใช่แบบนั้นแล้ว เพราะค่าแรงของไทยไม่ได้มีราคาถูกอีกต่อไป ทำให้นักลงทุนย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศ  ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยโตเพียง 3% เท่านั้น

ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังเผชิญปัญหา Perfect Storm หรือวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ทำให้เราจำเป็นต้องปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไทย ยิ่งมาเจอปัญหาเงินเฟ้อ ค่าพลังงานที่แพง สงครามรัสเซียและยูเครน ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไทย ต้นทุนการผลิตก็สูงขึ้น โดยเฉพาะค่าแรงที่ปรับขึ้นเฉลี่ยทั้งประเทศ 5%  เงินบาทอ่อนค่า ที่แม้จะดีต่อการส่งออกและการท่องเที่ยว แต่ในภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากการนำเข้า โดยเฉพาะค่าพลังงานที่เราต้องนำเข้าถึงวันละ 9 แสนบาร์เรล ซึ่งแม้จะแพงเท่าใดแต่เราก็ยังต้องใช้เท่าเดิม

 

ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น ทั้งน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ส่งผลต่อต้นทุนการผลิต ยิ่งมาเจอกับการปรับขึ้นค่าเอฟที 4.7 สตางค์ ขณะที่คู่แข่งเราอย่างเวียดนาม การประกาศสิ้นปีนี้ยืนค่าเอฟทีที่ 2.88 สตางค์ ทำให้อุตสาหกรรมประเภทเดียวกัน ผลิตแบบเดียวกัน แต่แค่เปิดเครื่องผลิตก็แพ้แล้ว เพราะต้นทุนต่างกัน ไม่ต้องพูดถึงการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ เพราะแค่เห็นค่าไฟนักลงทุนก็เป็นลมแล้ว สิ่งนี้จึงเป็นปัญหาหนักของภาคอุตสาหกรรมไทย เนื่องจากโครงสร้างการผลิตของไทย ที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานในการผลิตจากต่างชาติ แต่หากเทียบกับเวียดนามที่นำเข้าเหมือนกัน และเป็นคู่แข่งโดยตรงกับไทย ก็จะพบว่าต้นทุนของเวียดนามถูกกว่าไทยเกือบครึ่ง แต่ไม่ใช่ว่าเราไม่สู้กับปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมา เราสู้กับทุกเหตุการณ์อยู่แล้ว นับตั้งแต่เกิดโควิด-19 เราก็ปรับตัวมาตลอด ในหลายอุตสาหกรรมก็ถูกกระทบรุนแรง และในบางอุตสาหกรรมก็ถือเป็นการใช้วิกฤตให้เกิดโอกาส

นายเกรียงไกร กล่าวว่า  ขณะนี้สิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมมองคือ การเปลี่ยนเกม โดยมุ่งเน้นการขับเคลื่อน  First Industries  ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วน  คือ 1. อุตสาหกรรมเดิมที่ประกอบด้วย 45 กลุ่มอุตสาหกรรม 11 คลัสเตอร์  ที่เป็นอุตสาหกรรมดั่งเดิม ซึ่งกำลังถูกดิสรัปชั่น ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการปรับตัวให้เข้มแข็งขึ้น แม้ไม่ได้หมายความว่าจะรอดก็ตาม  2. Next-GEN Industries อุตสาหกรรมใหม่หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต

โดยการเปลี่ยนเกมประเทศไทยผ่านภาคอุตสาหกรรม เน้น 3 หัวข้อหลัก ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมใหม่ (เอสเคิร์ป) 2. BCG  หรือบีซีจี อาศัยความหลากหลายทางชีวิตภาพ ที่นำวัตถุดิบในแต่ละอุตสาหกรรมพัฒนาต่อยอดเพิ่มเติม และ 3.ความยั่งยืน หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่ไทยเป็นประเทศส่งออกเกือบ 60% ของจีดีพี ทำให้เราต้องทำตามกฎเกณฑ์ที่ตั้งขึ้นใหม่ในการส่งออกของประเทศต่างๆ ซึ่งทั้ง 3 เรื่องนี้ถือเป็นความแข็งแกร่งที่ไทยได้ประโยชน์

ภาคเอกชนและภาครัฐต้องจับมือกัน และต้องพลิกเกม โดยเกมนี้ถ้าพลิกได้จะเป็นของประเทศไทย จะรอดหรือรุ่ง แต่ไทยต้องรอดเพราะที่ผ่านมาเรารอดตลอด ส่วนจะรุ่งหรือไม่รุ่งอยู่ที่พวกเรา โดยปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมและทำอย่างจริงจัง ซึ่งเราจะกลายเป็นผู้นำด้าน Green Economy "นายเกรียงไกร กล่าว

นายเกรียงไกร กล่าวว่า สิ่งที่อยากได้คือ ความต่อเนื่องของนโยบายด้านเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหน ใครจะมาเป็น อะไรที่ทำต่อได้ก็ต้องทำ ไม่ควรทาเริ่มต้นที่ศูนย์ใหม่อีกครั้งภาครัฐและเอกชนต้องจับมือกันทำงานเหมือนกับโมเดลทุกประเทศ  นอกจากนี้ควรมีการปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย เรามีกฎหมาย 1,400 ฉบับ มีอนุบัญญัติกว่าแสนฉบับ ที่มัดมือมัดเท้านักธุรกิจ ทำอย่างไรให้ปลดล็อค อำนวยความสะดวกและช่วยออกแบบกฎหมายใหม่เพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ในอนาคต ถ้าปลดล็อคเร็วเท่าไร ประเทศเราก็ยิ่งรุ่งเท่านั้น ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลขอฝากรัฐบาลชุดใหม่ด้วย