โหมโรง“ประชานิยม”กู้เศรษฐกิจ “พรรคการเมือง” ประชัน“แก้หนี้-สร้างโอกาส”
โหมโรง“ประชานิยม”กู้เศรษฐกิจ “พรรคการเมือง” ปล่อยนโยบายหลักสู้ศึกเลือกตั้ง ประชัน“แก้หนี้-สร้างโอกาส” ท้ายที่สุดหากผิดสัญญาประชาชน โอกาสถูกโหวตสั่งสอน อาจมีให้เห็นในการเลือกตั้งครั้งนี้
ผ่านความชัดเจนไปแล้วสำหรับข้อกล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อคำวินิจฉัยวาระนายกรัฐมนตรี 8 ปี ทำให้ขณะนี้บรรดาพรรคการเมือง เห็นทิศทางการนับถอยหลังการเลือกตั้งชัดเจนขี้น โดยหลายพรรคเริ่มโหมโรงแคมเปญเลือกตั้งเพื่อสะสมกระแสนิยม และชิงความได้เปรียบทางการเมืองก่อนการเลือกตั้งในปี 2566
เพราะหากพรรคการเมืองใดเปิดนโยบายก่อน จะเคลมได้ว่าเป็นเจ้าของนโยบายนั้นทันที โดยเฉพาะนโยบาย “ประชานิยม” ลด-แลก-แจก-แถม ซึ่งมีไม่กี่โครงการที่ประชาชนจดจำได้
เห็นได้ชัดจากปรากฎการณ์ ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนเงินให้หู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่...) พ.ศ... หรือ ร่าง พ.ร.บ. กยศ. เสียงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แตกออกเป็นหลายแนวทาง ทั้งขอให้ปลดหนี้ กยศ. ปล่อยกู้แบบปลอดดอกเบี้ย เก็บดอกเบี้ยอัตราต่ำ
“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมข้อมูล ความคืบหน้าการวางนโยบายของแต่ละพรรคการเมือง ที่ทยอยเปิดแคมเปญ เพื่อเตรียมพร้อมลงสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า หลายพรรครอจังหวะ ยังไม่เปิดนโยบายออกมาให้เห็น แต่ระดับมือปฏิบัติการ ขบคิดแผนเชิงยุทธศาสตร์เอาไว้หมดแล้ว
แกนนำรัฐบาลอย่าง พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ยังคงสาละวนอยู่กับการแย่งชิงอำนาจกันเอง โดยเฉพาะเครือข่ายของ “3 ป.” เปิดศึกขับเคี่ยวไม่มีใครยอมใคร ทำให้งานเชิงยุทธศาสตร์สะดุดไปพอสมควร
ทว่า ก็ยังมีข้อได้เปรียบ โดยนโยบายหลักยังต่อยอดผลงานของ “รัฐบาล” ตั้งแต่ระดับเมกะโปรเจค ลงมาถึงรากหญ้า ซึ่งยุทธศาสตร์หลักในการเข้าถึงคนโดยตรง จะเป็นการอัดฉีดงบประมาณลงในพื้นที่ผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการคนละครึ่ง โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) โครงการบ้านประชารัฐ เป็นต้น
ที่น่าสังเกตคือ โครงการคนละครึ่ง ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูง ในช่วงใกล้วันเลือกตั้ง มีโอกาสสูงที่ “รัฐบาล” จะอัดฉีดงบประมาณผ่านโครงการนี้ รวมไปถึงการใช้กลไกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่อาจจะใส่งบประมาณเพิ่มเติม
ต้องยอมรับว่า “บัตรคนจน” จะเป็นตัวปลุกกระแสให้พรรค พปชร.ในระดับหนึ่ง ยิ่งพรรคเพื่อไทย (พท.) ออกมาจุดกระแสยกเลิกบัตรคนจน ยิ่งทำให้พรรค พปชร.หวังจะได้กระแสตีกลับ เพราะคนไทยจำนวนไม่น้อยได้รับความช่วยเหลือผ่าน “บัตรคนจน” ไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในอีกด้าน จุดอ่อนของพรรคพปชร.ก็อยู่ที่นโยบายเก่า ที่ไม่สามารถผลักดันให้เกิดขึ้นจริงได้ โดยเฉพาะนโยบายเพิ่มค่าจ้างและค่าแรง แบ่งเป็น ค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาท/วัน จบอาชีวะ เงินเดือนเริ่มต้น 18,000 บาท จบปริญญาตรี เงินเดือนเริ่มต้น 20,000 บาท มีโอกาสถูกคู่แข่งขุดมาโจมตีอีกครั้ง
พรรคเพื่อไทย (พท.) มีแผนจะประกาศนโยบาย หลังยุบสภา แม้จะยังไม่เปิดแคมเปญ แต่ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ได้ประกาศแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจไว้แล้วว่า หากได้เป็นรัฐบาลจะทำงานเชิงรุก 6 เดือนแรก และจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ภายใน 1 ปี ทั้งภาพใหญ่ และลงรายละเอียดทุกปัญหา
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ได้ประกาศ 5 ภารกิจแลนด์สไลด์ โดยระบุถึงการบ้านหลัก 5 ข้อของพรรค ไว้ว่า
1.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและกระจายอำนาจสู่ระดับประชาชน ตั้งแต่ยุคไทยรักไทยเคยทำ กระจายงบฯ สู่หมู่บ้าน ให้ประชาชนมีสิทธิตัดสินใจเอง จัดกระจายอำนาจการศึกษา สาธารณสุข การเกษตร และการปกครองท้องถิ่นให้อยู่ในระดับจังหวัด ไม่ต้องมาส่วนกลาง กระทรวงต่าง ๆ จะมีขนาดเล็กลง จัดให้มีการรายงานของประชาชนผ่านระบบออนไลน์เรียลไทม์ ทั้งปัญหา ข้อเสนอแนะ เพื่อแก้ปัญหาถูกต้อง ถูกจุด ทันเวลา และใช้งบคุ้มค่าที่สุด
2.จะดึงศักยภาพของคนไทย โดยใช้ ซอฟต์พาวเวอร์ 1 คนต่อ 1 ครอบครัว โดยจะทำระบบค้นหาศักยภาพของคนไทย อย่างน้อยๆ 1 คนต่อ 1 ครอบครัวเพื่อนำศักยภาพเหล่านั้นมาพัฒนา
3. ใช้เทคโนโลยี AI เพื่อการเกษตร เพื่อการวิเคราะห์ สภาพดิน ฟ้า อากาศ น้ำ อย่างแม่นยำและเกิดผลผลิตสูงที่สุด ใช้วิทยาศาสตร์เพื่อที่จะให้เกษตรกรรู้วิธีถนอมผลิตภัณฑ์ กระจายและจัดจำหน่ายให้เร็วที่สุด ไม่ค้างสต็อก
4.ปรับเปลี่ยนภาครัฐและภาคเอกชน ด้วย Digital transformation ครั้งใหญ่ จัดให้มี Digital Government แพลตฟอร์มที่ใช้ได้จริง และระบบราชการต้องเป็น Paper less รับฟังปัญหาประชาชนผ่านแอปพลิเคชั่น เช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค จากเดิมประชาชนที่ต้องตื่นตี 5 ไปจองคิว เราจะจัดให้มีระบบการจองผ่านออนไลน์ นัดเวลาไหนไปตอนนั้น
ทำการตลาดแบบ อีคอมเมิร์ซ ให้สินค้าโอทอปเป็นสินค้าระดับสากลมากขึ้น พรรคเพื่อไทยถ้าเป็นรัฐบาล จะทำให้ขายดีกว่าสมัยพรรคไทยรักไทย
5. เตรียมคนไทยเข้าสู่ยุค Metaverse โลกเสมือนจริงจะนำโลกที่เป็นจริง ซึ่งจะประกอบด้วย NFT (Non-Fungible Token) หรือสกุลเงินดิจิทัลที่แสดงความเป็นเจ้าของสินทรัพย์ รวมถึง Games และ E-Sports เพื่อพัฒนาทักษะให้กับเด็กและเยาวชน รวมถึงเทคโนโลยี AR (Augmented reality) VR (Virtual reality)
แม้ “ทีมยุทธศาสตร์” เพื่อไทย คิดนโยบายใหม่ๆ มาเติมสำหรับคนรุ่นใหม่ และมุ่งเน้นแก้วิกฤติเศรษฐกิจ ทั้งการแก้ปัญหาให้ประชาชนพ้นหนี้ เปิดโอกาสให้เข้าถึงแหล่งทุนให้มากขึ้น เพิ่มช่องทางทำมาหากิน และเพิ่มช่องทางให้คนทุกรุ่นทุกวัยหารายได้ด้วยตัวเอง แต่จุดอ่อนเพื่อไทย ที่ทุกสายตาจับจ้อง คือนโยบายต้นตำรับ “ประชานิยม” ที่เริ่มมาตั้งแต่ยุค “ทักษิณ ชินวัตร" ต่อด้วย"ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" จะซึ่งจะถูกนำมาปรับใช้อีก เพื่อยืนยันในหลักการว่า เป็นนโยบายที่สามารถทำได้จริง
โดยเฉพาะนโยบาย “จำนำข้าว” ที่แม้จะถูกตรวจสอบทุจริต และถูกมองว่าเป็นตราบาป เนื่องจากโดนคู่แค้นนำไปขยี้ปมทุกครั้ง แม้ในอีกด้าน การ“จำนำข้าว” ยังเป็นนโยบายโดนคนรากหญ้า และกลุ่มเป้าหมายหลักฐานเสียงใหญ่ของเพื่อไทยในภาคอีสาน และภาคเหนือ
พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เน้นต่อยอดความสำเร็จ จากนโยบายของพรรคที่หาเสียง เมื่่อปี 2562 โดยจะพัฒนาต่อ ทั้งนโยบายประกันรายได้ นโยบายด้านสวัสดิการสังคม เรื่องความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย เบี้ยคนพิการ ดูแลเงินเด็กแรกเกิดถ้วนหน้า ดูแลเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
ด้านการเกษตรคุณภาพ ที่ประสบผลสำเร็จ การประกันรายได้ แก้ไขปัญหาหนี้สิน สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการเกษตร
สำหรับนโยบายหลัก ปชป.ที่เริ่มรณรงค์แล้วคือ การประกันรายได้พืชเศรษฐกิจสำคัญ 5 ชนิด ประกอบด้วย ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากต้องเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนหลายอย่าง ทำให้เกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศขาดทุน
โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ปชป.ใช้กลไก “รัฐบาล” ดำเนินโครงการประกันรายได้อย่างต่อเนื่อง ใช้งบประมาณไปแล้วไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท แม้จะสามารถบรรเทาปัญหาให้เกษตรกรได้จริง แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน จึงไม่พ้นถูกวิจารณ์ว่า เป็นเพียง“ประชานิยม” ที่อัดฉีดเม็ดเงินเอาใจเกษตรกร
พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ล่าสุด หัวหน้าพรรคอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี รมว.สาธารณสุข ได้ปล่อยชุดนโยบายระหว่างเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.ในพื้นที่ภาคใต้ว่า ตั้งแต่ ส.ค.เป็นต้นไปจะทยอยเปิดนโยบายหลัก 8 นโยบาย แบ่งเป็น 2 นโยบายต่อ 1 เดือน จนครบ
โดย ส.ค.ที่ผ่านมา 1. นโยบายพักหนี้ ปลอดดอกเบี้ย 3 ปี รายละ 1 ล้านบาท จากเดิมที่มีแต่พักหนี้แต่เกษตรกร แต่ต่อไปจะพักหนี้ไม่เฉพาะเกษตรกร จะพักหนี้ให้กับผู้เป็นหนี้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย เหตุเพราะต่างประสบปัญหากับสถานการณ์โควิด -19 มาร่วม 3 ปี และ 2. นโยบายภาษีบ้านเกิดเมืองนอน โดยภาษีที่เสียไปจะต้องคืนให้กับบ้านเกิด 30% เพื่อนำมาเป็นงบประมาณบำรุงพัฒนาบ้านเกิด โดยอนุทินยืนยันว่านโยบายนี้จะต้องนำมาปฏิบัติ เมื่อได้เป็นรัฐบาล
สำหรับนโยบายที่ประสบความสำเร็จ ภท.ก็เดินหน้าต่อยอด ขยายผล และที่จะส่งผลดีต่อแต้มการเมือง คือการเพิ่มเบี้ยให้กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจําหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งหวังแปรเปลี่ยนเป็นฐานเสียงหลักของพรรค จากที่ขยับเพิ่มขึ้นมาจาก 1,000 เป็น 1,500 ได้เสนอขึ้นเป็น 2,000 บาทต่อเดือน ยังไม่นับนโยบายด้านสาธารณสุข ด้านคมนาคม ที่ ภท.เตรียมพีอาร์ผลงานพรรค เพื่อตอกย้ำสโลแกน “ภูมิใจไทย พูดแล้วทำ”
ขณะที่ “กัญชาเสรี” นโยบายหาเสียงปี 2562 แม้แนวโน้มจะเสร็จสมบูรณ์ยาก จึงเป็นไปได้สูงที่ ภท.จะใช้วิธีขอโอกาสกลับเข้ามาผลักดันนโยบายนี้ต่อ
พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ประกาศเดินหน้านโยบายหลัก โฟกัสไปที่นโยบายสวัสดิการถ้วนหน้า เพื่อเป็นหลักประกันในการดำเนินชีวิตสำหรับทุกครอบครัว ตามช่วงอายุ ตั้งแต่เกิดจนตาย ดังนี้ เด็กเล็ก 0-6 ปี เงินอุดหนุนเด็กเล็ก 1,200 บาทต่อเดือน เด็กโตและเยาวชน 7-22 ปี เงินสนับสนุน 800 บาทต่อเดือน
ผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป บำนาญผู้สูงอายุ 3,000 บาทต่อเดือน ผู้พิการ เบี้ยยังชีพผู้พิการ 3,000 บาทต่อเดือน และการดูแลผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยติดบ้านต่อติดเตียงอย่างถ้วนหน้า ภายใต้กรองงบประมาณ 9,000 บาทต่อเดือนต่อผู้ป่วยหนึ่งคน
ก้าวไกล คาดหวังว่าการสร้างสวัสดิการให้ประชาชน สามารถเป็นแรงจูงใจให้คะแนนนิยมของพรรคเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะฐานเสียง “คนรุ่นใหม่” ที่ออกมาเรียกสร้างสวัสดิการที่ดีขึ้นจำนวนมาก
นอกจากนี้ ยังมีนโยบายอื่นๆ อาทิ จัดตั้งกองทุนตรวจสอบข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินและออกเอกสารรับรองสิทธิในที่ดิน 10,000 ล้านบาท เพื่อพิสูจน์สิทธิ์ และออกเอกสารสิทธิ์ให้ครบถ้วนทั้งหมด ภายใน 5 ปี พิจารณาคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทย ที่มีอยู่ 450,000 ราย เป็นต้น
พรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) ที่กำลังนำเสนอตัว โดยมีจุดขายเป็น“พรรคเศรษฐกิจ” ระดมมือเศรษฐกิจทุกด้านเพื่อขับเคลื่อนนโยบายกู้วิกฤติ โดยล่าสุด ได้ประกาศแนวทางรีเซ็ตประเทศไทย ด้วยเสนอพันธกิจ 5 แก้ 5 สร้าง เพื่อฟื้นวิกฤติเศรษฐกิจ หนี้สิน เสนอตั้งกองทุนสร้างอนาคตไทย 3 แสนล้านบาท
อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค ระบุถึง 2 โจทย์เร่งด่วนจากวิกฤติโควิด วิกฤติหนี้ค่าครองชีพสูง ต้องเร่งวางรากฐาน จึงเสนอ“กองทุนสร้างอนาคตประเทศไทย วงเงิน 3 แสนล้านบาท”แบ่งสัดส่วน 1 แสนล้านบาท สำหรับ“สร้างอนาคตเอสเอ็มอีไทย”แบ่งเป็น 3 กลุ่มมาตรการ 1.การเข้าถึงแหล่งทุน 2.ลดภาระทางการเงิน 3.แก้ปัญหาเรื่องหนี้สินพัฒนาขีดความสามารถ เพื่อปลดหนี้สินให้คนตัวเล็ก พักชำระเงินต้นดอกเบี้ย เสริมทักษะอาชีพ เติมทุนใหม่ ผ่านกลไกรัฐที่มีมาตรการกำกับเช่น สร้างระบบจัดทุนใหม่ให้คนรายเล็ก ใช้นอนแบงค์
ส่วนอีก 2 แสนล้านบาท เป้าหมายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก สร้างเศรษฐกิจใหม่
พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นำทีมไทยสร้างไทย เปิดนโยบายนโยบายของพรรค ที่เน้นการดูแลประชาชน เกิดจนแก่ ต้องการให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง เนื่องจากอัตราการเกิดลดลงอย่างมาก เพื่อเป็นแรงจูงใจในการเพิ่มจำนวนประชากร
ด้านการศึกษา ไทยสร้างไทย เสนอนโยบายให้เด็กไทยทุกคนเรียนฟรีจนจบปริญญาตรี ในระยะเวลาที่สั้นลงกว่าเดิม อายุ 18-19 โดยเฉลี่ยสามารถจบปริญญาตรี เพื่อประหยัดในการเลี้ยงดู 3-4 ปี
ด้านเศรษฐกิจ ไทยสร้างไทย เสนอตั้ง 5 กองทุน 1.กองทุนเอสเอ็มอี ช่วยผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งทุน 2.กองทุนสตาร์ตอัพ 3.กองทุนวิสาหกิจชุมชน 4.กองทุนธุรกิจท่องเที่ยว 5.กองทุนเครดิตประชาชน เพื่อให้เครดิตตั้งแต่ 5,000 บาทขึ้นไป
อีกนโยบายสำคัญ คือ “บำนาญประชาชน” คนละ 3,000 บาทต่อเดือน โดยยึดจากเส้นแบ่งแยกความยากจน 2,700 บาท (ฐานผู้สูงวัยที่จะเพิ่มเป็น 12 ล้านคน) ยังถูกตั้งคำถามว่าจะนำงบประมาณในส่วนใดมาจ่ายให้กับ “ผู้สูงอายุ”
เหล่านี้คือนโยบายบางส่วนของ “พรรคการเมือง” ที่โหมโรงเลือกตั้ง จับจองความเป็นเจ้าของ ปลุกปั้นนโยบาย “ประชานิยม” เพื่อหวังกวาดเก้าอี้ ส.ส.ให้ได้มากที่สุด และก้าวไปสู่อำนาจรัฐให้สามารถขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นจริง
ทว่า นโยบายที่บรรดาพรรคการเมืองนำเสนอจะสามารถทำได้จริงมากน้อยแค่ไหน ยังถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด และส่วนใหญ่จะเน้นนโยบายใช้เงิน แทนที่จะเน้นนโยบายหาเงิน หารายได้เข้าประเทศ
ท้ายที่สุด หาก “พรรคการเมือง” ผิดสัญญากับประชาชน โอกาสที่จะถูกโหวตสั่งสอน อาจมีให้เห็นในการเลือกตั้งครั้งนี้