จับทิศทางโลก สร้าง "โอกาส" ประเทศ
ในวันที่โลกเปลี่ยนแปลงไป ต้องคอยจับตาและปรับตัวให้ดี มองให้รอบด้านหลากหลายมิติ วางยุทธศาสตร์ธุรกิจที่ต้องก้าวให้ทันความเปลี่ยนแปลง ผู้นำประเทศเองก็ต้องพยายามแก้โจทย์จากวิกฤติ เพื่อหาโอกาสให้ประเทศฟื้นตัว และกลับไปยืนบนเวทีโลกได้ก็จะมีมากขึ้น
โควิด-19 ที่กินเวลายาวนานกว่า 3 ปี ส่งผลให้โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างฉับพลัน กติกาโลกใหม่เกิดขึ้น ทุกอย่างไม่มีสูตรสำเร็จอีกต่อไป การล็อกดาวน์เป็นเวลายาวนาน ทำให้ระบบเศรษฐกิจโลกมีปัญหา โดยเฉพาะซัพพลายเชน การขนส่งที่หยุดชะงัก กระทบลากยาวกลายเป็นปมใหญ่วิกฤติเศรษฐกิจมาจนถึงทุกวันนี้ เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะที่ผันผวน เงินเฟ้อ พลังงานแพง ค่าครองชีพขึ้นสูง จากราคาสินค้าที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง กระทบกันเป็นโดมิโน
รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เราเห็นความเคลื่อนไหวของบิ๊กคอร์ปใหญ่ เริ่มรัดเข็มขัด ลดค่าใช้จ่าย ลดคน หลายบริษัทเริ่มหาโซลูชัน แนวทางการอยู่รอด เพื่อรับมือความท้าทายและวิกฤติ ที่ซ้ำเติมด้วยภาวะสงครามที่ยังยืดเยื้อ ยิ่งทำให้สถานการณ์พลังงานย่ำแย่ลง ส่งผลให้ราคาสินค้ายิ่งปรับตัวสูงขึ้นไปอีก ยังไม่นับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ที่กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น ภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นทุกปี รวมถึงในบ้านเราที่ปีนี้น้ำท่วมหนัก หลายพื้นที่มีปริมาณน้ำฝนมากกว่าในรอบหลายปีที่ผ่านมา
เรียกว่า โลกกำลังป่วยหนัก วิกฤติและความผันผวน กลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่ธุรกิจ และวิถีชีวิตต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด และเดินหน้าต่อได้อย่างยั่งยืน ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน เดือน ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา บอกว่า ความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 67.83 ปรับตัวลดลง 41.8% จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา” นักลงทุนมองว่า การฟื้นตัวภาคท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
อาจเป็นเพราะหลายสิบปีที่ผ่านมาเราเห็นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศดาวรุ่งหลายแห่งเติบโตพุ่งสูง เพราะสภาพสังคมและเศรษฐกิจเอื้ออำนวยมาอย่างยาวนาน แต่เมื่อโลกถูกกระหน่ำด้วยพายุของโรคระบาด ตามด้วยมหาพายุเศรษฐกิจ ยังไม่นับปัญหาในแต่ละประเทศ เช่น อัตราการเกิดลดลง จำนวนประชากรชะลอตัว หรือประชากรส่วนใหญ่กลายเป็นกลุ่มผู้สูงวัย มากกว่าวัยทำงาน ย่อมส่งผลกระทบถึงเศรษฐกิจทั้งระบบ กลายเป็นเศรษฐกิจโลกย่ำแย่ผันผวนเดายากแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
สิ่งหนึ่งที่เราทำได้ และควรต้องทำอยู่ตลอดเวลา คือ การเตรียมพร้อมรับมือ เตรียมตัวเพื่อรับภาวะที่เลวร้ายที่สุด อย่ามัวแต่รอให้ทุกอย่างดีขึ้น เพราะหากถึงวันนั้น มันอาจสายเกินไป การใช้ชีวิต การทำงาน การทำธุรกิจ ท่ามกลางภาวะวิกฤติหนักๆ แบบนี้ ต้องมองให้ทะลุว่า โลกจะเปลี่ยนไปในทิศทางไหน และเราจะปรับตัวอย่างไร มองให้หลายมิติ ทั้งด้านการลงทุน การวางแผนการเงิน ความเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อมความยั่งยืน รวมถึงการวางยุทธศาสตร์ธุรกิจที่ต้องก้าวให้ทันความเปลี่ยนแปลง ผู้นำประเทศเองก็ต้องพยายามแก้โจทย์จากวิกฤติ เพราะถ้าจับทิศทางของโลกได้ ‘โอกาส’ ฟื้นตัวของประเทศ และกลับไปยืนบนเวทีโลกได้ก็จะมีมากขึ้น