จับตา “Make in India” กำลังขึ้นมาท้าชิงจีน?

จับตา “Make in India” กำลังขึ้นมาท้าชิงจีน?

“อินเดีย” ส่งสัญญาณท้าทาย “จีน” ในการชิงความเป็นฐานการผลิตเบอร์ 1 ของโลก ด้วยนโยบาย “Make in India” อันทะเยอทะยานของรัฐบาล “โมดี” ซึ่งมี 3 ปัจจัยหลักที่ทำให้อินเดียอาจน่าสนใจกว่าจีนในสายตาของธุรกิจต่างชาติ

จากรายงานเมื่อไม่นานนี้ กรณีบริษัทเทคโนโลยีชื่อดังอย่าง Apple เตรียมทยอยย้ายฐานผลิต iPhone 25% จากจีนไปยังอินเดียภายในปี 2568 และบริษัท Foxconn ที่ผลิต iPhone ให้กับ Apple ก็ประกาศลงทุนถึง 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์ร่วมกับบริษัท Vedanta สร้างโรงงานผลิตชิปที่อินเดียด้วย

ประกอบกับที่ผ่านมา อินเดียสามารถสร้างของตัวเองได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดใหญ่ INS Vikrant ด้วยเทคโนโลยีของตัวเอง โดยพึ่งสร้างสำเร็จในเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ไปจนถึงขั้นสามารถสร้างยานอวกาศได้

จับตา “Make in India” กำลังขึ้นมาท้าชิงจีน?
- เรือบรรทุกเครื่องบิน INS Vikrant สร้างโดยอินเดีย (เครดิตรูป: AFP) -

ด้วยเหตุนี้จึงน่าสนใจว่า อินเดียดำเนินนโยบายอย่างไร จึงสามารถสร้างหลายสิ่งให้เป็นของชาติ และดึงดูดบริษัทชั้นนำระดับโลกให้ย้ายฐานมาที่อินเดียได้สำเร็จ ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณว่า อินเดียกำลังขึ้นมาท้าชิงกับฐานการผลิตสำคัญของโลกอย่าง “จีน”

ที่น่าสนใจคือ มี “3 ปัจจัยหลัก” ที่ทำให้อินเดียขึ้นมาถึงจุดนี้ได้ โดยขอนำเสนอผ่านบทความ ดังนี้

  • ปัจจัยที่ 1: นโยบาย Make in India พึ่งพาตัวเอง

เริ่มต้นเมื่อปี 2557 นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ได้ริเริ่มนโยบายสำคัญที่มีชื่อว่า Make in India เป้าหมายคือ ผลักดันให้ชาวอินเดียพึ่งตัวเองได้ ผลิตสิ่งของเกือบทุกอย่างได้เอง อันเป็นการลดการพึ่งพาต่างชาติ และลดเงินไหลออกนอกประเทศ

ประเภทธุรกิจที่นายกฯโมดีสนับสนุน มีมากถึง 25 ประเภทไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ เคมี ไอที การบิน ฯลฯ หรือสรุปสั้นๆคือ ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือไปจนถึงเรือรบ

สิ่งหนึ่งที่โมดีมองเห็น ตราบใดที่คู่แข่งต่างชาติใหญ่กว่า มีกำลังทุนสูงกว่าเข้ามาตีตลาด ย่อมทำให้บริษัทย่อยในอินเดียยากที่จะสู้ได้ และต้องล้มหายจากไป Make in India ก็ยากที่จะเกิดขึ้น

ด้วยเหตุนี้ในตลอดที่ผ่านมา โมดีจึงใช้ นโยบายปกป้องการค้าตัวเอง (Protectionism) ด้วยการเพิ่มกำแพงภาษีในสินค้าต่างชาติ ลดโอกาสเข้ามาตีตลาดรายย่อยอินเดีย

รมว.กระทรวงการคลัง เนียร์มาลา สิฐรามัน เคยเสนอกฎหมายสู่สภาที่จะให้อำนาจรัฐบาลสามารถสกัดการนำเข้าสินค้าที่คาดว่าจะกระทบความอยู่รอดบริษัทท้องถิ่นอินเดียได้

อีกทั้งนายกฯโมดียังเคยประกาศถอนตัวจาก ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ด้วย เนื่องจากกังวลผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท้องถิ่นและชาวนาจากการเปิดเสรีดังกล่าว

จับตา “Make in India” กำลังขึ้นมาท้าชิงจีน?
- ระบบตลาดเกษตรออนไลน์ e-NAM (เครดิตรูป: enam.gov.in) -

ในช่วงโควิดระบาดหนักที่อินเดีย การปิดเมืองควบคุมการระบาดทำให้ไม่สามารถออกนอกบ้านได้ รัฐบาลโมดีจึงได้ปรับปรุงระบบออนไลน์ให้ทั้งเกษตรกรและชาวอินเดียสามารถซื้อขายกันได้ผ่านระบบตลาดเกษตรออนไลน์ที่มีชื่อว่า E-NAM โดยมีการค้าขายตั้งแต่ผัก ถั่ว ซีเรียล เครื่องเทศ เมล็ดพืชน้ำมัน ฯลฯ

โมดียังสนับสนุนผลิตชุด PPE โดยประกาศว่า จากแต่ก่อน อินเดียผลิตชุด PPE ได้จำกัด จนบัดนี้สามารถผลิตได้ถึง 2 แสนชุดทุกวัน

จะเห็นได้ว่า ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา โมดีใช้นโยบายปกป้องรายย่อยอินเดียควบคู่กับการพัฒนารายย่อยเหล่านั้น ให้สามารถสร้างสิ่งทดแทนต่างชาติได้ โดยอินเดียได้ตั้งกระทรวงพัฒนาฝีมือแรงงาน แยกออกมาจากกระทรวงแรงงาน

  • ปัจจัยที่ 2: โครงการอุดหนุนเพื่อการผลิต (Production Linked Incentive Scheme)

อินเดียแม้จะมีจำนวนประชากรมาก แต่สิ่งที่ยังขาดคือ ความสามารถในการผลิตของล้ำสมัย อย่างชิปอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจใดที่ชาวอินเดียยังความสามารถไม่เพียงพอ รัฐบาลจะใช้เงินอุดหนุนนี้จูงใจให้ต่างชาติเข้ามาตั้งฐานผลิตธุรกิจนั้นในอินเดีย

สำหรับ ต้นทุนโครงการเซมิคอนดักเตอร์ที่มาตั้งในอินเดีย รัฐบาลอินเดียจะช่วยแบกรับที่ 50% สำหรับการผลิตชิปทุกชนิด จากเดิมอยู่ที่ 30-50% ขึ้นอยู่กับชนิดของชิปที่ผลิต

อีกทั้งรัฐบาลยังเพิ่มแรงจูงใจขึ้นอีกด้วยการจ่าย 4-6% ของยอดขายที่เพิ่มขึ้นจากยอดขายโดยปกติ (Incremental Sales) สำหรับธุรกิจที่ผลิตในอินเดีย

บริษัทต่างชาติชั้นนำหลายรายเมื่อรับรู้ข้อเสนอจูงใจเหล่านี้ก็ต้องการเข้ามา อีกทั้งยังมองเห็นศักยภาพอินเดีย ไม่ว่าจะเป็น

1. ประชากรที่มีมากอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน จึงมีจำนวนการบริโภคสูง

2. อำนาจการบริโภคนั้นกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการขยายตัวของกลุ่มชนชั้นกลางอินเดีย โดยทาง World Data Lab คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตนี้จะอยู่ที่ 8.5% ไปจนถึงปี 2573 ที่จำนวนชนชั้นกลางมากกว่า 800 ล้านคน

3. ในขณะที่ประเทศอื่นกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุกันมากขึ้น แม้แต่จีนก็เช่นกัน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ต้องเปลี่ยนเป็นนโยบายมีลูกสองคนได้ แต่ในอินเดียกลับมีประชากรวัยหนุ่มสาวมากที่สุดในโลก ข้อมูลจากสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า ประมาณ 66% (กว่า 808 ล้านคน) ของประชากรทั้งประเทศ มีอายุต่ำกว่า 35 ปี

4. ชาวอินเดียทั่วไปสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษทั่วไปได้ และมักใช้ควบคู่กับภาษาฮินดี จึงง่ายต่อการทำธุรกิจร่วมกัน

5. อินเดียสามารถเป็นทางเลือกสำรองนอกจากจีน หากความขัดแย้งการค้าจีนสหรัฐบานปลายในอนาคต

6. อินเดียยังเป็นประเทศที่มีช่องในการพัฒนาในการเติบโตอีกหลายอย่าง เปรียบเหมือนบริษัทโตเร็ว ยังไม่ใช่บริษัทอิ่มตัว ดังนั้นจึงมีพื้นที่ในการขยายได้อีกมาก

จับตา “Make in India” กำลังขึ้นมาท้าชิงจีน?
- รัฐบาลอินเดียลงนามข้อตกลงกับบริษัท ISMC (เครดิตรูป: ทวิตเตอร์ Basavaraj S Bommai) -

จากปัจจัยเหล่านี้ จึงทำให้มีหลายบริษัทต่างสนใจเข้ามาร่วมตั้งฐานผลิต ไม่ว่าจะเป็น บริษัท Google สนใจย้ายการผลิตมือถือ Google Pixel มาที่อินเดีย และบริษัท ISMC (International Semiconductor Consortium) ผู้ผลิตชิปชื่อดังก็เตรียมลงทุน 3 พันล้านดอลลาร์เพื่อสร้างโรงงานผลิตชิป

จึงน่าจับตาความพยายามเป็น “ศูนย์กลางแห่งชิป” ของอินเดียว่าจะเกิดขึ้นจริงได้หรือไม่
 

  • ปัจจัยที่ 3: ความชาตินิยมของนายกฯโมดี

นอกจากนโยบาย Make in India ของโมดีที่แสดงถึงชาตินิยมแล้ว ยังมีอีกสิ่งสำคัญที่เขาพยายามผลักดันให้เป็นของอินเดีย นั่นก็คือ ระบบนำทางจากดาวเทียมในมือถือ โดยปัจจุบัน บริษัทมือถือที่อยู่ตลาดในอินเดียไม่ว่าจะเป็น Xiaomi, Samsung, Oppo, Apple ต่างผูกติด และรองรับเฉพาะระบบ GPS

จับตา “Make in India” กำลังขึ้นมาท้าชิงจีน?
- ระบบดาวเทียมนำทางของอินเดีย NavlC (เครดิตรูป: Antrix Corporation Limited) -

ล่าสุด อินเดียพยายามผลักดันให้ค่ายมือถือเหล่านี้ผลิตมือถือให้รองรับระบบ NavlC ด้วย เป็นระบบที่คล้าย GPS แต่สร้างโดยรัฐบาลอินเดีย โดยโมดีมองว่า หากมือถือไปอยู่ในระบบต่างชาติอย่างเดียว เมื่อเกิดความขัดแย้งหรือถูกกดดันในอนาคต และต่างชาติหยุดให้บริการ จะกระทบต่อเศรษฐกิจอินเดียอย่างมาก ดังนั้น การมีระบบดาวเทียมนำทางเป็นของชาติ จึงเป็นหลักประกันได้ว่าบริการสำคัญนี้จะไม่ถูกปิด

โดยสรุป หลายปีมานี้ อินเดียพยายามยึดหลักพึ่งพาตัวเองหรือในภาษาฮินดูที่เรียกว่า “อาตฺมนิรภร ภารต” ส่งเสริมให้ผลิตภายในประเทศ รวมไปถึงจูงใจต่างชาติให้มาร่วมพัฒนาอินเดีย  

จริงอยู่ที่ว่า การสร้างเองยากกว่าและท้าทายกว่าการรับจ้างผลิต แต่จากสถานการณ์ปัจจุบัน ความไม่มั่นคงทางความร่วมมือ ความเสี่ยงจากโดมิโนวิกฤติเศรษฐกิจ เศรษฐกิจที่ผูกติดกับต่างประเทศสูง ย่อมได้รับผลกระทบที่หนักกว่า ดังนั้น การหันกลับมาพึ่งพาตลาดภายใน และผลิตของสำคัญได้เอง ย่อมมั่นคงกว่าในระยะยาว

-----------------------------

อ้างอิง: Bloomberg1ILO, WorldData, TechCrunchBloomberg2, IndianExpress, InvestIndiaReuters1Reuters2