พิษน้ำท่วมทำผักแพง เฉลี่ยปรับขึ้น 5-20 บาทต่อกก.
“พาณิชย์” ดูราคาผัก สินค้าอุปโภคบริโภค ช่วงน้ำท่วม เผย น้ำท่วม ทำพืชผักเสียหาย ดันราคาผักลางชนิด ราคาขึ้นแตะหลักร้อยแทบทุกชนิด ขณะที่ราคาเนื้อสัตว์ปรับลดลง ด้านกรมการค้าภายใน กำชับพาณิชย์จังหวัดดูแลป้องกันไม่ได้สินค้าขาดแคลนและฉวยโอกาสขึ้นราคา
จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดได้สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนของประชาชน รวมถึงพื้นที่ทางการเกษตรหลายแห่งเสียหายจากน้ำท่วม ผลกระทบที่ตามมาคือ ราคาผักบางประเภทได้ปรับตัวสูงขึ้นจากปริมาณผักสดที่เข้าสู่ตลาดมีปริมาณน้อยลง ส่งผลให้ราคาผักสดบางรายปรับราคาเพิ่มสูงขึ้น
จากข้อมูลของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ที่ได้ทำการสำรวจราคาขายปลีกสินค้า ณ วันที่ 12 ต.ค.65 พบว่าในหมวดอาหารสดบางชนิดที่จำหน่ายในกรุงเทพมหานคร มีการปรับขึ้นราคา โดยพบว่าผักชีปรับขึ้น 20 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) จาก 150-160 บาทต่อกก. เป็น 170-180 บาทต่อกก. ต้นหอมปรับขึ้น 10 บาทต่อกก. จาก 130-140 บาทต่อกก. เป็น 140-150 บาทต่อกก. คะน้าปรับขึ้น 5 บาทต่อกก. จาก 35-40 บาทต่อกก. เป็น 40-45 บาทต่อกก. ผักบุ้งจีนปรับขึ้น 5 บาท จาก 45-50 บาทต่อกก. เป็น 50-55 บาทต่อกก. ปลานิลปรับขึ้น 5 บาท จาก 55-70 บาทต่อกก. เป็น 60-70 บาทต่อกก. ซึ่งการปรับราคาเฉลี่ยแล้วอยู่ประมาณ 5-20 บาทต่อกก. โดยส่วนใหญ่ปรับขึ้นหลังจากได้รับผกระทบจากน้ำท่วม
การปรับขึ้นราคาสินค้าในส่วนของผักสด เป็นผลมาจากน้ำท่วม ทำให้พืชผักเสียหาย และเน่าเสีย จึงทำปริมาณผักเข้าสู่ตลาดน้อย ซึ่งกรมการค้าในยอมรับว่า ราคาผักสด มีทั้งปรับเพิ่มขึ้นและลดลง เนื่องจากช่วงนี้ฝนตกหนัก และบางพื้นที่มีน้ำท่วม ทำให้ผักเสียหายและออกสู่ตลาดลดลง โดยต้นหอม ผักชี ราคาเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม 10-20 บาทต่อกก. ผักอื่น ๆ เช่น ผักกาดขาว ราคาต่ำกว่าปีก่อน กระหล่ำปลี ราคาใกล้เคียงปีก่อน แต่ภาพรวม ผักสดไม่มีปัญหาด้านราคา ปริมาณยังเข้าสู่ตลาดเป็นปกติ ไม่มีปัญหาขาดแคลน
แต่ในส่วนของราคาเนื้อสัตว์บางรายการมีการปรับลดลง เช่น หมูเนื้อแดง ราคาปรับลดลงมาเหลือกิโลกรัม (กก.) ละ 176 บาท จากเดิม 189 บาท ลดลง 13 บาท ส่วนตลาดทั่วไป ในกรุงเทพฯ ราคาเฉลี่ย 185-190 บาท ต่างจังหวัดต่ำสุดอยู่ที่ 170-175 บาท ขึ้นกับตลาดและค่าขนส่ง โดยเฉลี่ยลดลง 5-10 บาท เนื้อไก่ เกือบทุกชิ้นส่วนราคาลดลง 5-10 บาท เช่น น่องติดสะโพก ราคา 95 บาทต่อกก. ลดจาก 99 บาท ตลาดทั่วไปราคา 90-95 บาท ไข่ไก่ ราคาปรับลดลงจากโครงสร้างเดิมประมาณฟองละ 10 สตางค์
ทั้งนี้ในการดูแลสินค้าให้เพียงและไม่ให้มีการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า ทางกรมการค้าภายในได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกติดตามสถานการณ์ราคาผักอย่างต่อเนื่อง และเน้นย้ำผู้ประกอบการจำหน่ายปิดป้ายแสดงราคาให้ชัดเจน ห้ามฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาโดยไม่เป็นธรรม หากตรวจพบว่ามีการจำหน่ายสินค้าในราคาแพงเกินสมควรจะมีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งได้จับตาสินค้าหลายรายการในช่วงนี้เป็นพิเศษด้วย
นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กรมการค้าภายในจึงติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะสินค้าผัก ซึ่งผักที่มาจากแหล่งผลิตทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือราคาไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ส่วนผักบางตัวที่อยู่ในเขตพื้นที่น้ำท่วมได้รับความเสียหายมีการปรับราคาขึ้นบ้างเล็กน้อย เช่น ขึ้นฉ่าย ผักชี ผักกาดหอม เนื่องจากเกษตรกรประสบปัญหาไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้ตามปกติ แต่คาดการณ์การว่าเมื่อสถานกรณ์คลี่คลาย ราคาผักจะกลับเข้าสู่ความสมดุลตามกลไกตลาดอีกครั้ง
กรมได้ประสานไปยังพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศให้ติดตามสถานการณ์การจำหน่ายผัก รวมทั้งสถานที่เพาะปลูกผักที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือนร้อนให้กับประชาชน ซึ่งที่ผ่านมากรมฯ ได้จัดโครงการโมบายพาณิชย์ลดราคาจำหน่ายผัก และเชื่อมโยงผลผลิตจากแหล่งที่มีผลผลิตมากไปสู่จังหวัดที่มีปัญหาด้านราคาและปริมาณผลผลิตน้อย และยังเชื่อมโยงกระจายผลผลิตผ่านตลาดกลางสินค้าเกษตร เพื่อสนับสนุนช่องทางค้าขายให้แก่เกษตรกร และเพิ่มทางเลือกในการบริโภคให้แก่ประชาชน
นอกจากราคาผักจะแพงตามสถานการณ์น้ำท่วมแล้วสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพของประชาชนในพื้นที่น้ำท่วม เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง อาหารสำเร็จรูป และน้ำดื่ม ทางกรมการค้าภายในให้ความมั่นใจไม่มีขาดแคลน เพราะได้ประสานกับห้างค้าปลีกค้าส่ง เพิ่มการจัดส่งสินค้าในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมไม่ให้ขาดแคลน ซึ่งได้รับความร่วมมือในการสต๊อกสินค้าที่จำเป็นต่อการอุปโภคบริโภค และมีการจัดส่งสินค้าเป็นปกติ ยังไม่พบว่าจุดใด มีปัญหา หรือพื้นที่ใด มีปัญหา หรือหากเห็นสัญญาณว่าจะมีปัญหา ก็มีแผนรับมือในสถานการณ์ฉุกเฉินไว้แล้ว
ขณะที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมิน ว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมใน 52 จังหวัด สร้างความเสียหายต่อพื้นที่ ประเมินว่า ผลกระทบจากน้ำท่วมต่อเศรษฐกิจจะทำให้เศรษฐกิจเสียหาย เป็นมูลค่า12,000-20,000 ล้านบาท มีค่ากลางที่ 16,000 ล้านบาท แยกเป็น ผลกระทบในภาคเกษตรมูลค่า 6,000-8,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่กระทบต่อพืชผลทางการเกษตร ขณะที่ปศุสัตว์ได้รับผลกระทบน้อย และภาคอุตสาหกรรม 6,000-12,000 ล้านบาท คิดเป็นผลกระทบต่อจีดีพี 0.15 %