ปตท.หนุนสู้วิกฤติพลังงาน 1.7 หมื่นล้าน มั่นใจปีหน้ากระทบเศรษฐกิจน้อยลง
“อรรถพล” ชี้ ปตท.เกาะติดสถานการณ์พลังงาน คาดปีหน้าปัญหาน้ำมันกระทบเศรษฐกิจน้อยลง เผยทั่วโลกเจอวิกฤติซ้อนวิกฤติ ดันราคาพลังงานพุ่ง กลุ่ม ปตท.อัดวงเงิน 1.7 หมื่นล้าน บรรเทาค่าครองชีพคนไทย
ทั่วโลกต่างเผชิญกับวิกฤติราคาพลังงานจากการฟื้นเศรษฐกิจของวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานพุ่งสูงขึ้น อีกทั้งจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้เกิดความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลกและกระทบต่อทั่วโลก โดยกระทบทั้งในด้านราคาพลังงาน และความมั่นคงทางพลังงาน
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่ม ปตท.ได้ติดตามสถานการณ์ด้านพลังงานอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศจะมีปริมาณพลังงานที่เพียงพอใช้ เพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง และเพื่อร่วมบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน โดย มองว่าค่าเฉลี่ยทั้งปี 2565 จะอยู่ที่บวกลบ 90-100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ส่วนแนวโน้มปี 2566 น่าจะดีขึ้น และคาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ที่ระดับ 85-95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจแม้จะยังมีอยู่แต่จะรุ่นแรงน้อยกว่าปี 2565 แน่นอน สำหรับราคาก๊าซธรรมชาติ (LNG) ก็เช่นกัน เพราะก๊าซธรรมชาติถือเป็นเชื้อเพลงหลักในการผลิตไฟฟ้า อีกทั้งฤดูหนาวการใช้งานของประเทศฝั่งยุโรปจะสูงขึ้น ดังนั้น ช่วงปีหน้าราคาก็น่าจะถูกลงกว่าปีนี้เช่นกัน
นายอรรถพล กล่าวว่า ภาคพลังงานมีความท้าทายมาก ดังนั้นจะต้องคำนึงคือ 1.การบริหารงานจะต้องบาลานซ์ให้ดีระหว่างความมั่นคงด้านพลังงานและตัวซัพพลายในการที่จะต้องบริหารอย่างไรให้พร้อมใช้งาน 2.พลังงานมีผลโดยตรงกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้น จะทำอย่างไรให้กระทบกับสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะการกระทบด้านราคา เพราะเมื่อต้องการพลังงนที่กระทบสิ่งแวดล้อมน้อยจะต้องเลือกใช้พลังงานสะอาดแต่ราคาแพง ส่วนราคาน้ำมันเมื่อยิ่งมีราคาสูงก็จะยิ่งกระทบกับเศรษฐกิจ ถือเป็นความท้าทาย
ปตท.หนุนสู้วิกฤติ1.7หมื่นล้าน
ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2564 เป็นต้นมา ปตท.ได้ร่วมแบ่งเบาภาระต้นทุนค่าครองชีพด้านพลังงานไปแล้วกว่า 17,823 ล้านบาท อาทิ การให้ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม (LPG) แก่ผู้มีรายได้น้อยที่เป็นร้านค้าหาบเร่ แผงลอยอาหาร ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ตั้งแต่เดือน ต.ค.2562-30 ก.ย.2565 และล่าสุดให้ความช่วยเหลือต่อถึงเดือน ธ.ค.2565)
การตรึงราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ไว้ที่ราคา 15.59 บาทต่อกิโลกรัม ในกลุ่มผู้ใช้รถNGVส่วนบุคคล พร้อมกับตรึงราคาขายปลีก NGV ในโครงการ “เอ็นจีวี เพื่อลมหายใจเดียวกัน” สำหรับผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถแท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลไว้ที่ราคา 13.62 บาทต่อกิโลกรัม (ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ย.2564-15 ก.ย.2565 ราวกว่า 7,198 ล้านบาท และล่าสุดให้ความช่วยเหลือต่อถึงเดือน ธ.ค.2565
นอกจากนี้ ยังร่วมบรรเทาภาระต้นทุนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการบรรเทาภาระต้นทุนผลิตไฟฟ้าให้กับประชาชน โดยการเลื่อนกำหนดชำระเงินค่าก๊าซธรรมชาติงวดเดือน พ.ค.2565 มูลค่าประมาณ 13,000 ล้านบาทจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ออกไปเป็นระยะเวลา 4 เดือน อีกทั้งยังไม่เรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยมูลค่าประมาณ 340 ล้านบาทที่จะเกิดขึ้น เพื่อมีส่วนช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับ กฟผ. ในการแบกรับต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับประชาชน
หนุนวงเงินช่วยกองทุนน้ำมัน
อย่างไรก็ตาม จากการที่สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) มีบัญชีจากการช่วยเหลือโดยมีการตรึงราคาน้ำมันดีเซลเป็นระยะเวลานานจนติดลบแล้วกว่า 100,000 ล้านบาท บอร์ด ปตท.จึงได้อนุมัตินำร่องสนับสนุนเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นกรณีพิเศษ เดือนละ 1,000 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 3,000 ล้านบาท ตั้งแต่เดือน ก.ย.2565 เพื่อสนับสนุนภาครัฐในการแบ่งเบาภาระค่าพลังงานของประชาชนรวมทั้งเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านพลังงานของประเทศ
นายอรรถพล กล่าวว่า กลุ่ม ปตท.ยังได้จัดหาน้ำมันดิบเพื่อเพิ่มปริมาณสำรองโดยการจัดหาน้ำมันดิบเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มปริมาณสำรองอย่างน้อย 4 ล้านบาร์เรล (ประมาณ 640 ล้านลิตร) เพื่อสำรองไว้ให้เพียงพอต่อปริมาณการใช้งาน หรือเมื่อเกิดวิกฤติอื่นที่คาดไม่ถึงในอนาคต อีกทั้ง บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ยังช่วยตรึงราคาขายผลีกน้ำมันหน้าสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น ตั้งแต่ 1 ม.ค.2564-5 ก.ค.2565 กว่า 6,723 ล้านบาท
“กลุ่ม ปตท.พร้อมเป็นกำลังสำคัญ เดินเคียงข้าง และแบ่งเบาภาระค่าครองชีพประชาชนทุกภาคส่วน ตลอดจนขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง และสิ่งสำคัญที่อยากจะฝากไปถึงประชาชน คือ การร่วมด้วยช่วยกันประหยัดพลังงาน เพื่อให้คนไทยฝ่าวิกฤตินี้ไปด้วยกัน” นายอรรถพล กล่าว