ชลประทานลดระบายน้ำเขื่อนป่าสักฯเล็งรับมือฝนใต้

ชลประทานลดระบายน้ำเขื่อนป่าสักฯเล็งรับมือฝนใต้

กรมชลประทาน ทยอยปรับลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ หลังน้ำเหนือลดลง พร้อมเตรียมรับมือฝนพื้นทีภาคใต้ตอนบน ขณะ กอนช. ยังให้เฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำท่าจีน

โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักชลสิทธิ์ กรมชลประทาน ปรับลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน หลังน้ำเหนือในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยจะทยอยปรับลดการระบายน้ำแบบขั้นบันได เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้านท้ายน้ำ จากเดิมอัตรา 820 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที ลดลงเป็นอัตรา 650 ลบ.ม./วินาที ตามลำดับ ตั้งแต่วันที่ 13 - 15 ตุลาคม 2565 ช่วยลดผลกระทบพื้นที่ด้านท้าย

ชลประทานลดระบายน้ำเขื่อนป่าสักฯเล็งรับมือฝนใต้ ชลประทานลดระบายน้ำเขื่อนป่าสักฯเล็งรับมือฝนใต้

ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะปรับลดการระบายน้ำให้เหมาะสมและสอดคล้องกับปริมาณฝนและปริมาณน้ำที่มาจากพื้นที่ตอนบน เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนให้มากสุด จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน  กล่าวว่า ปัจจุบัน  อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 63,321  ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 83 ของความจุอ่างฯ ยังสามารถรับน้ำได้อีก 13,783  ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 20,094  ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 81 ของความจุอ่างฯ สามารถรับน้ำได้อีก 4,882  ล้าน ลบ.ม.

 

อนึ่ง กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 16 -18 ต.ค.65   จะมีปริมาณฝนตกในพื้นภาคใต้ตอนบน อาทิ บริเวณจังหวัดเพชรบุรี และชุมพร  จึงได้กำชับให้สำนักงานชลประทานในพื้นที่ เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ ตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 65 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนด  นำข้อมูลและสถิติในปีที่ผ่านมา มาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 

พร้อมเฝ้าระวังและควบคุมปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด   พิจารณาปรับการระบายน้ำเพื่อรองรับปริมาณน้ำที่จะเพิ่มขึ้น โดยไม่กระทบต่อพื้นที่ท้ายอ่าง  รวมทั้งตรวจสอบอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ   หมั่นกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง  ที่สำคัญให้บูรณการร่วมกับหน่วยงานระดับจังหวัดในการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่อง  พร้อมเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือให้พร้อมเข้าช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที    เพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด  

 ด้าน กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) รายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 14 ตุลาคม 2565 ให้เฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำท่าจีน กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ติดตามสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำท่าจีน พบว่ามีฝนตกหนักในช่วงวันที่ 9 - 10 ตุลาคม 2565 บริเวณตอนบนเขื่อนกระเสียว ส่งผลให้วันที่ 11 ตุลาคม 2565

มีน้ำปริมาณมากไหลเข้าเขื่อนกระเสียว 15 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้มีปริมาณน้ำเก็บกัก 318 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 106 และมีน้ำไหลผ่านอาคารระบายน้ำล้นและอาคารระบายน้ำในตัวเขื่อน รวม 130 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที ลงสู่ลำห้วยกระเสียวและแม่น้ำท่าจีนตามลำดับ ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำสูงขึ้นในช่วงวันที่ 13 - 16 ตุลาคม 2565 ประกอบกับกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ได้คาดการณ์ระดับน้ำทะเลหนุน ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำท่าจีน บริเวณปากน้ำท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร และพื้นที่ใกล้เคียง จะเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ จึงขอให้เฝ้าระวังผลกระทบที่

อาจเกิดขึ้น ได้แก่ ลำห้วยกระเสียว บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ ตำบลแจงงาม และหนองโพธิ์ อำเภอหนองหญ้าไซ ตำบลหนองมะค่าโมง อำเภอด่านช้าง ตำบลกระเสียว และหนองสะเดา อำเภอสามชุก ตำบลหนองกระทุ่ม ป่าสะแก วังศรีราช หัวเขา และบ่อกรุ อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นและล้นตลิ่งประมาณ 0.10 – 0.15 เมตร และแม่น้ำท่าจีน บริเวณตั้งแต่อำเภอสามชุก ศรีประจันต์ เมืองสุพรรณบุรี บางปลาม้า และ

สองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี อำเภอบางเลน นครชัยศรี และสามพราน จังหวัดนครปฐม อำเภอกระทุ่มแบน และเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 0.15 - 0.30 เมตร

  สำหรับผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับฤดูฝน ปี 2565       ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำและสถานการณ์อุทกภัย ณ วัดเขมาภิรตารามราชวรวิหาร ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี และบริเวณชุมชนใกล้เคียง พร้อมเยี่ยมเยียนและให้กำลังประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

นอกจากนี้ ได้ร่วมหารือแนวทางการแก้ไขสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น ร่วมกับ นางสาวอโรชา นันทมนตรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี นายราชันย์ ซุ้นหั้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี และนายสมนึก ธนเดชากุล นายกเทศมนตรีนครนนทบุรี

ตามข้อห่วงใยของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการเร่งขับเคลื่อนโครงการแก้ไขปัญหาอุทกภัยเพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชนนอกเขตคันกั้นน้ำในเขตจังหวัดนนทบุรี

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วม จากสถานการณ์มสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย รวมถึงสถานการณ์พายุ "โนรู (NORU)" ที่เข้าประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2565 ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมแรง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และอ่าวไทย ประกอบกับมีการระบายน้ำจากเขื่อนลงแม่น้ำสายหลัก และลำน้ำสาขา

ซึ่งส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมขัง ระหว่างวันที่ 28 ก.ย. - 8 ต.ค. 65 จำนวน 56 จ. 267 อ. 1,289 ต. 7,663 ม. ประชาชนได้รับผลกระทบ 270,315 ครัวเรือน ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในชุมชนเมืองและพื้นที่เกษตรกรรม รวม 34 จังหวัด

ภาคเหนือ 6 จังหวัด จังหวัดตาก พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก นครสวรรค์ และสุโขทัย ภาคกลาง 12 จังหวัด จังหวัดนนทบุรี ลพบุรี สระบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี และนครปฐม  

                     ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด จังหวัดกาฬสินธุ์ หนองบัวลำภู ชัยภูมิ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร อุบลราชธานี นครราชสีมา ศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์ ภาคตะวันออก 4 จังหวัด จังหวัดฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี และระยอง