เศรษฐกิจโลกถดถอย ไทยจะทำอย่างไร? (ตอนจบ) | วิกรม กรมดิษฐ์
เรื่องของสถานการณ์ค่าเงินอ่อนตัววันนี้ ประเทศไทยของเราต้องหันกลับมามองจุดเด่นจุดด้อยของตนเอง ว่าเรามีอะไรที่ดีที่เป็นจุดแข็ง และมีอะไรที่ต้องระมัดระวัง
ส่วนตัวผมยังมองเห็นข้อดีของการอ่อนตัวลงของค่าเงินบาท สำหรับประเทศไทยหากเราสามารถปรับตัวได้ โดยจากประสบการณ์ภาวะวิกฤติต้มยำกุ้งที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่าการที่ค่าเงินอ่อนตัวลงในสมัยนั้นจาก 25 บาทเป็น 40-50 บาทต่อ1เหรียญดอลลาร์ ส่งผลให้การส่งออกของประเทศไทยดีมากและการที่การส่งออกไทยดีทำให้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทยมั่นคง
ในขณะที่การใช้จ่ายภายในประเทศคนไทยต้องมีการรัดเข็มคนไทยมีระเบียบเพิ่มมากขึ้นเพราะสินค้าภายในประเทศ และสินค้านำเข้า รวมถึงพลังงานต่างๆ มีราคาที่สูงขึ้น แต่ในภาพรวมประเทศไทยยังคงได้ดุลการค้าและได้กำไรจากการส่งออกมากกว่าการเสียเงินออกนอกประเทศ
เมื่อมีการส่งออกที่ดี เงินทุนสำรองระหว่างประเทศก็จะเพิ่มขึ้นตามมาด้วย และการที่มีเม็ดเงินเข้ามาเพิ่มมากขึ้น เชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นตรงนี้จึงเป็นส่วนที่ดีของค่าเงินที่อ่อนตัว
แต่ในสถานการณ์เดียวนี้ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีอีกหลายๆ ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งผมก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการภาระหนี้เงินกู้ที่เป็นอยู่กับสถาบันการเงินต่างๆ ต้องแบกรับอัตราดอกเบี้ยจำนวนมหาศาลจนเกือบเอาตัวไม่รอดเช่นเดียวกัน
เพราะฉะนั้น ในวันนี้เราได้มีบทเรียนผ่านมาแล้ว ทำให้เรารู้จักการควบคุมมีวินัยทางด้านการเงินดีขึ้น ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงค์ชาติของเรามี NPL หรือหนี้เสียไม่เยอะและไม่รุนแรงเหมือนในสมัยวิกฤตต้มยำกุ้ง และบริษัทที่ดำเนินธุรกิจต่างๆ มีความรอบคอบมีวินัยด้านการเงินเพิ่มมากขึ้นด้วย
หากนำเหตุผลต่างๆ ที่กล่าวมาประกอบกันผมจึงยังมองว่า หากประเทศไทยมีนโยบายที่ดีมีการบริหารจัดการเรื่องของการเปิดประเทศและทิศทางการพัฒนาประเทศที่ดี
ณ สถานการณ์ตรงนี้ถือได้ว่าเป็นโอกาส ไม่ใช่เป็นปัญหา เป็นโอกาสที่จะทำให้ประเทศไทยเข้มแข็งขึ้น เพราะการส่งออกของประเทศไทยจะดีขึ้นและเศรษฐกิจของประเทศไทยก็จะดีขึ้นตามไปด้วย
ในส่วนของผู้ที่กังวลเข้าใจว่าเกิดขึ้นจากธนาคารโลกหรือ World Bank ได้ออกมาเตือนเมื่อสัปดาห์ก่อนว่าเศรษฐกิจโลกอาจจะถดถอยในปีหน้า เพราะว่าธนาคารกลางทั่วโลกพร้อมใจกันขึ้นดอกเบี้ย ธนาคารโลกจึงได้ออกรายงานเตือนโดยมีรายงานว่าธนาคารกลางอาจจะต้องมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก 2% เพื่อสกัดเงินเฟ้อให้อ่อนตัวลง
จึงมีการคาดว่าธนาคารกลางของสหรัฐฯ (Feb) ก็จะมีการประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นมากกว่าประมาณ 0.75% หรืออาจจะถึง 1% ด้วยเช่นกัน ซึ่งการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ก็อาจจะมีผลกระทบพอสมควร
เนื่องจากการปรับอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นท่ามกลางภาวะตึงตัวในตลาดการเงิน จะฉุดตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือ GDP ของโลกลดสู่ระดับ 0.5% ในปีหน้า รายได้ต่อหัวจะหดตัวลง 0.4% จะทำให้ภาวะเศรษฐกิจโลกเข้าสู่เกณฑ์การเกิดภาวะถดถอยทางเทคนิค ฉะนั้นธนาคารโลกจึงได้ออกมาเตือนและขอให้แต่ละประเทศระมัดระวัง
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่เราจะวิตกกังวลอยากให้ลองพิจารณาดูว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกที่เรากำลังคิดว่าถดถอยเป็นการถดถอยที่จริงหรือไม่ ถ้าหากไม่มีปัญหาการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครนโลกจะถดถอยหรือไม่ หรือภาวะด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในขณะนี้มีผลเกิดมาจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนซึ่งปัจจุบันยังหาข้อยุติไม่ได้
ในความคิดส่วนตัวของผมคิดว่า ทางฝั่ง ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง น่าจะมีแนวโน้นการสนับสนุนให้ ประธานาธิบดี วลาดีมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ต่อสู้กับยูเครน ด้วยเหตุผลที่ว่าทางรัสเซียจะมีการปิดท่อ ที่จะส่งแก๊สให้กับยุโรป และกำลังจะขยายท่อแก๊ส ที่เคยส่งให้กับยุโรปทั้งหมดมาส่งให้กับประเทศจีน
และจีนก็จะได้แก๊สในราคาพิเศษ และรัสเซียเองก็มีปัญหากับประเทศตะวันตก เรื่องการค้าขายระหว่างกันต้องชะงักเพราะถูกคว่ำบาตรลง เมื่อในวันนี้ปูตินมีการขาย แก๊สและ แร่แรร์เอิร์ธ รวมถึงวัสดุต่างๆทางธรรมชาติ ให้กับจีน ซึ่งจีนได้ของถูก ได้ของเยอะในสิ่งที่ตัวเองจะใช้เป็นวัตถุดิบ
ในขณะเดียวกันไม่ว่ารัสเซียต้องการจะใช้ อะไรก็แล้วแต่ จีนสามารถตอบสนองให้ได้ทั้งหมด และจีนก็จะขายให้ในราคาพิเศษเช่นเดียวกันทำให้เห็นได้ว่าประเทศจีนได้ประโยชน์จากความขัดแย้งครั้งนี้ ในขณะที่อินเดียก็ได้ประโยชน์เช่นเดียวกัน เพราะได้น้ำมันและแก๊สในราคามิตรภาพด้วย
ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่ารัสเซียถือว่าเข้มแข็งที่สุดหลังจาก สหภาพโซเวียตล่มสลาย จีนใช้เวลาในช่วง 30 ปี จาก GDP ต่อหัว ไม่ถึง 200 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ ตอนนี้กลายเป็นนะ ตอนนี้กลายเป็น GDP ต่อหัว มีมูลค่ากว่า 10,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อปี สูงกว่าเดิมถึงกว่า 50 เท่า ถ้าหากว่าจีนกับรัสเซียจับมือกัน เสถียรภาพทางเศรษฐกิจไม่จำเป็นต้องพึ่งประเทศฝั่งตะวันตกเลยก็ได้
ประเทศไทยเราเองจำเป็นต้องมีจุดยืน อย่าเอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง สิ่งที่ผมได้นำมาวิเคราะห์และบอกเล่าให้ทุกท่านได้รับทราบได้มองผ่านผลงานของแต่ละประเทศของผู้นำแต่ละคนและสิ่งที่เกิดขึ้น โดยไม่ได้ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
เป็นการวิเคราะห์จุดดีจุดด้อยของแต่ละฝ่ายทั้งจีนและอเมริกา ซึ่งประเทศไทยควรจะนำกลยุทธ์ของทั้งสองประเทศนี้มาศึกษาและนำมาปรับใช้.