รัดเข็มขัดให้แน่น "เศรษฐกิจไทย" จะฝ่ามรสุมโลก
ธปท. แจง ดอกเบี้ยนโยบายของไทยในเวลานี้จำเป็นต้องค่อยๆ ปรับขึ้น เพื่อทำให้เศรษฐกิจไทย “ฟื้นตัวอย่างราบรื่น” แต่จะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนกัน? เพราะทั้งจีน ยุโรป สหรัฐ ต่างเตรียมรับมือ “เศรษฐกิจถดถอย” ที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ
วัฏจักรเศรษฐกิจไทยนับว่าสวนทางกับชาวโลกอย่างชัดเจน โดย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่า ดอกเบี้ยนโยบายของไทยในเวลานี้จำเป็นต้องค่อยๆ ปรับขึ้นเพื่อเข้าสู่จุดสมดุล เพื่อทำให้เศรษฐกิจไทย Smooth Takeoff หรือ “ฟื้นตัวอย่างราบรื่น” ซึ่งแตกต่างจากนโยบายการเงินของประเทศอื่นที่ต้องดูแลให้เศรษฐกิจ Smooth Landing หรือ ค่อยๆ ชะลอตัวลงเพื่อไม่ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession)
แต่คำถามสำคัญ คือ การทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างราบรื่นตามที่แบงก์ชาติต้องการให้เกิดขึ้น จะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เพราะถ้ามองไปข้างหน้า ดูเหมือนฟ้าฝนค่อนข้างขมุกขมัว “มหาพายุ” กำลังก่อตัวขึ้นเป็น Perfect storm
สะท้อนผ่านสำนักวิจัยทางเศรษฐกิจระดับโลกหลายแห่ง ต่างมองภาพที่คล้ายกันว่า เศรษฐกิจ 3 กลุ่มประเทศขนาดใหญ่ ทั้ง สหรัฐ ยุโรป และ จีน มีความเสี่ยงสูงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย โดย จีน เป็นประเทศแรกที่จะเผชิญกับภาวะดังกล่าว
คำทำนายดังกล่าว อาจไม่ได้เกินเลยความเป็นจริง เพราะเมื่อวานนี้ (18 ต.ค.) สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) ได้เลื่อนการเปิดเผยตัวเลข จีดีพี ประจำไตรมาส 3 ปี 2565 ออกไปแบบไม่มีกำหนด
กรณีนี้อดคิดไม่ได้ว่า เพราะเศรษฐกิจจีนหดตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าหรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง จีน จะเข้าสู่ Recession ทันที เนื่องจากเศรษฐกิจจีนไตรมาส 2 ก็หดตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกจากพิษนโยบายซีโร่โควิด และการเลื่อนประกาศตัวเลข จีดีพี ของจีน ยังเกิดขึ้นท่ามกลางการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีวาระสำคัญ คือ การต่ออายุประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ในวาระที่ 3 อีกด้วย
ส่วนกลุ่มประเทศยุโรป ถือเป็นความเสี่ยงถัดมาที่เศรษฐกิจอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยเวลานี้ยุโรปกำลังเผชิญความยากลำบากในเรื่องพลังงาน หลังจากที่รัสเซียตัดการส่งก๊าซไปยังยุโรป ส่งผลให้ราคาพลังงานในยุโรปเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ส่งผลต่อเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่สูงขึ้น
...แต่ความเสี่ยงใหญ่สุดของโลก อาจไม่ได้หยุดแค่ “จีน” กับ “ยุโรป” เพราะสำนักวิจัยทุกแห่งต่างพุ่งเป้าจับตาดู “สหรัฐ” ประเทศยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจว่าจะจัดการเงินเฟ้อได้อยู่หมัด และทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงแบบราบรื่นได้หรือไม่
ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งการขึ้นดอกเบี้ยครั้งใหญ่ในระดับ 0.75% ต่อเนื่องกัน 3 ครั้ง เพื่อคุมเงินเฟ้อให้อยู่หมัด แต่ตัวเลขเงินเฟ้อที่ออกมาล่าสุด เดือน ก.ย. ยังคงสูงในระดับ 8.2% และแนวโน้มการลดลงอาจช้ากว่าที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้ ทำให้ตลาดเริ่มมองว่า เฟด จะยังเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยในระดับ 0.75% อีกอย่างน้อย 1-2 ครั้ง
ประเด็นที่ทุกคนกังวล คือ เศรษฐกิจสหรัฐจะทนทานกับดอกเบี้ยที่พุ่งเร็วติดจรวดได้แค่ไหน เพราะ บลูมเบิร์ก เพิ่งออกมาฟันธงว่า ใน 12 เดือนข้างหน้า เศรษฐกิจสหรัฐคงเผชิญกับภาวะถดถอยอย่างแน่นอน 100%
...คำถามจึงย้อนกลับมาว่า แล้วแบบนี้เศรษฐกิจไทยจะ Smooth Takeoff ได้อยู่หรือไม่ เรื่องนี้คงต้องติดตามด้วยใจระทึก!