รัฐเข็นแพ็กเกจ 'กระตุ้นเศรษฐกิจ' ต่อคนละครึ่ง- ฟื้นช้อปดีมีคืน เป้า GDP 3.3%

รัฐเข็นแพ็กเกจ 'กระตุ้นเศรษฐกิจ' ต่อคนละครึ่ง- ฟื้นช้อปดีมีคืน เป้า GDP 3.3%

“สุพัฒนพงษ์” เผยเม็ดเงินช่วยน้ำท่วม – กระตุ้นเศรษฐกิจโค้งสุดท้ายปลายปี 65ช่วยดันจีดีพีแตะ 3.3% ตามที่ ธปท.คาดการณ์ ครม.ไฟเขียว 35 มาตรการเยียวยาน้ำท่วมในส่วนคลัง – ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (18 ต.ค.) ได้มีการหารือกันถึงมาตรการทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะใส่เม็ดเงินลงไปเพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนในช่วงปลายปี 2 ส่วนได้แก่

  1. มาตรการเยียวยาน้ำท่วม 

โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย ไปสำรวจความเสียหายของประชาชนที่ต้องได้รับการเยียวยาว่าจะต้องมีการเยียวยาทั้งหมดกี่ครัวเรือน เนื่องจากมีครัวเรือนที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมเป็นวงกว้าง

หลักเกณฑ์การเยียวยา จะไม่น้อยกว่าการช่วยเหลือในปี 2560 ที่ครัวเรือนละ 3,000 บาท ซึ่งจะมีการสรุปวงเงินที่ช่วยเหลืออีกครั้งในการประชุม ครม.สัปดาห์หน้า

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ไปดูแหล่งเงินต่างๆที่ยังสามารถรวบรวมมาเพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนที่ ประสบภัยน้ำท่วม เช่นการเปลี่ยนแปลงงบประมาณของหน่วยงานต่างๆที่อาจจะยังสามารถทำได้ รวมถึงเงินทดรองราชการต่างๆที่เคยมีการเบิกจ่ายในปีงบประมาณที่ผ่านมาๆว่ามีหลักเกณฑ์อย่างไรให้ดำเนินการในหลักการเดียวกันเพื่อเร่งช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในพื้นที่ต่างๆ

  1. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี นี้กระทรวงการคลังอยู่ในระหว่างการรวบรวม ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะมีมาตรการที่คล้ายๆกับในปีที่ผ่านมา เช่น การต่ออายุมาตรการคนละครึ่ง มาตรการช็อปดีมีคืน ซึ่งในส่วนนี้จะใช้เงินงบประมาณบางส่วนและเงินที่เหลือจากโครงการครั้งก่อนที่ยังมีเงินเหลืออยู่ ซึ่งจะมีความชัดเจนในช่วงประมาณกลางเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา แม้ว่าในภาพรวมปีนี้เศรษฐกิจจะสามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้

“วงเงินงบประมาณที่จะลงไปในระบบเศรษฐกิจทั้งจากมาตรการเยียวยาน้ำท่วม และการกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีจะช่วยให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวได้ 3.3% ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย คาดการณ์ไว้ โดยในส่วนของการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยโดยคาดว่านักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยจะมีประมาณ 10 ล้านคน”

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยที่ประชุม ครม.รับทราบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยปี 2565 ของกระทรวงการคลัง และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐบาล รวม 35 มาตรการ ประกอบไปด้วยการช่วยเหลือของกระทรวงการคลัง 6 หน่วยงาน รวม 14 มาตรการ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 21 มาตรการ

เคาะ 35 มาตรการช่วยน้ำท่วม

- มาตรการของกระทรวงการคลัง ได้แก่

1.กรมสรรพากร ประกอบด้วย มาตรการลดหย่อนภาษี : บุคคลธรรมดาสามารถหักลดหย่อนได้ 1 เท่าแต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมิน กรณีบริษัท/ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หักรายจ่ายเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคได้ 1 เท่า แต่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ สำหรับการบริจาคให้แก่ส่วนราชการหรือองค์การสาธารณกุศล รวมทั้งการบริจาคผ่านบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นที่นำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยด้วย ซึ่งในกรณีหลังนี้ ผู้ประกอบการยังได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริจาคสินค้าด้วย

มาตรการยกเว้นภาษี : บุคคลธรรมดาและบริษัทนิติบุคคล ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ กรณีได้เงินชดเชยที่ได้รับจากรัฐบาล เงิน/ทรัพย์สินที่ได้รับบริจาคหรือช่วยเหลือ ไม่เกินมูลค่าความเสียหาย และสินใหม่ทดแทนที่ได้รับจากบริษัทประกันภัย

มาตรการระยะเร่งด่วน ได้แก่ ขยายระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีหรือนำส่งภาษี และการขอเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน จากเดิมที่ต้องยื่นหรือขอภายในเดือนตุลาคม 2565 และเดือนพฤศจิกายน 2565 ออกไปเป็นภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2565

มาตรการในระยะถัดไป : บุคคลธรรมดา สามารถหักลดหย่อนค่าซ่อมแซอสังหาริมทรัพย์ ที่ได้รับความเสียหายตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาทและ ค่าซ่อมแซมรถตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท

2. กรมศุลกากร : ยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อบริจาคให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย 2565

3. กรมสรรพสามิต : ขยายกำหนดเวลายื่นงบเดือนสำหรับ ผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้ประกอบกิจการสถานบริการในจังหวัดที่มีการประกาศเขตพื้นที่ประสบอุทกภัยตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน - 31 ตุลาคม 2565 จากเดิมในเดือนตุลาคม 2565 ออกไปเป็นภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565

4. กรมบัญชีกลาง : ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่ประกาศให้ท้องที่เป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน สามารถใช้จ่ายเงินทดลองราชการในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดจำนวน 20 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และจังหวัดสามารถขอขยายวงเงินทดรองราชการเพิ่มเติมต่อกระทรวงการคลัง ในกรณีที่วงเงินทดรองราชการไม่เพียงพอได้

5. กรมธนารักษ์ : ยกเว้นค่าเช่าสูงสุด เป็นระยะเวลา 2 ปี สำหรับที่อยู่อาศัยที่เสียหายทั้งหลังและที่อยู่อาศัยที่เสียหายบางส่วน ยกเว้นค่าเช่า 1 ปี และในกรณีที่ไม่สามารถชำระค่าเช่าให้ยกเว้นการคิดเงินเพิ่มเติมตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดหาประโยชน์ในราชพัสดุพ.ศ. 2552

6.การยาสูบแห่งประเทศไทย : ช่วยเหลือพนักงานยาสูบและครอบครัว ตามหลักเกณฑ์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากการดำรงชีพและความเสียหายของทรัพย์สินหรือที่อยู่อาศัย เป็นต้น ทั้งนี้ ให้มีผล ตั้งแต่ ตามประกาศของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

- มาตรการของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

สำหรับมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ปี 2565 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ได้แก่

1.ธนาคารออมสิน จำนวน 5 มาตรการ ได้แก่

  • มาตรการพักชำระหนี้

โดยสามารถเลือกชำระเฉพาะดอกเบี้ยร้อยละ 10 – 100 และกรณี อยู่ระหว่างจ่ายดอกเบี้ยตามสัญญาแบบคงที่ สามารถขอลดการชำระเงินงวดร้อยละ 50 ตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด

  • มาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ

อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อเดือน เป็นระยะเวลา 1 ปีโดยปลอดชำระค่างวด 3 งวดแรก สำหรับบุคคลธรรมดา เพื่อเป็นเงินทุนในการดำรงชีพ และบรรเทาความเดือดร้อนจากอุทกภัย วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท

  • มาตรการสินเชื่อเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs ที่ประสบภัยพิบัติ

อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.5 ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 ปี โดยปลอดชำระเงินต้นในปีแรก สำหรับผู้ประกอบการ SMEs เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากอุทกภัย วงเงินกู้สูงสุดร้อยละ 10 ของวงเงินกู้เดิมหรือไม่เกิน 5 ล้านบาท

  • มาตรการสินเชื่อเคหะแก่ผู้ประสบภัยพิบัติ

อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.49 เป็นระยะเวลา 3 ปี สำหรับ ลูกค้าเดิมและประชาชนทั่วไปที่ไต้รับผลกระทบจากอุทกภัย เพื่อซ่อมแซมต่อเติมที่อยู่อาศัยส่วนที่เสียหายได้ร้อยละ 100 ของหลักประกัน ประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายอเนกประสงค์ในการบรรเทาความเดือดร้อนจากมาตรการสินเชื่อบุคคลแก่ผู้ประสบภัยพิบัติ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.99 เป็นระยะเวลา 3 ปี สำหรับ อุทกภัย วงเงินกู้รายละไม่เกิน 500,000 บาท

ทั้งนี้ สามารถยื่นขอสินเชื่อได้ภายในระยะเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่ประกาศภัยพิบัติ

 

2.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จำนวน 3 มาตรการ ได้แก่

  • มาตรการขยายระยะเวลาชำระหนี้ สูงสุด 12 เดือน

โดยไม่คิดดอกเบี้ยปรับ สำหรับเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย

  • มาตรการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน ปี 2565 - 2566

อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน และร้อยละของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimnum Retail Rate : MRR) หรือประมาณร้อยละ 6.5% ต่อปี ตั้งแต่เดือนที่ 7 เป็นต้นไป เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท

  • มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต อัตราดอกเบี้ยร้อยละ MRR - 2 หรือประมาณร้อยละ4.5 ต่อปี

เพื่อเป็นค่าซ่อมแชมบ้านเรือนและทรัพย์สิน วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท ทั้งนี้ สามารถยื่นคำขอเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

 

3.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ จำนวน 4 มาตรการ ได้แก่

  • มาตรการลดเงินงวดและลดอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 50 จากเงินงวดที่ชำระปกติ และลดอัตราดอกเบี้ย เงินกู้เหลือร้อยละ 3 ต่อปี

เป็นระยะเวลา 6 เดือน กรณีหลักประกันของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหาย และอยู่ระหว่าง จ่ายดอกเบี้ยตามสัญญาแบบลอยตัว

  • มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลา 1 ปี

กรณีปลูกสร้างอาคารทดแทนอาคารเดิม หรือกู้ซ่อมแชมอาคารที่ได้รับความเสียหาย โดยกำหนดวงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 1 ล้านบาท ต่อหลักประกัน สำหรับลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าใหม่

  • มาตรการประนอมหนี้ สำหรับลูกค้าที่ค้างชำระเงินงวดติดต่อกันมากกว่า 3 เดือน หรือมีสถานะอยู่ระหว่างประนอมหนี้

กรณีหลักประกันเสียหาย ได้รับการปลอดดอกเบี้ยและเงินงวด 6 เดือนแรก เดือนที่ 7 – 18 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี กรณีได้รับผลกระทบต่อรายได้ ได้รับการปลอดดอกเบี้ยและเงินงวด 6 เดือนแรก เดือนที่ 7 – 12 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี กรณีเสียชีวิตหรือผู้กู้หรือทายาทผ่อนชำระต่อ ได้รับอัตราดอกเบี้ยตลอดระยะเวลาที่คงเหลือร้อยละ 0.01 ต่อปี กรณีหลักประกันได้รับความเสียหายทั้งหลังไม่สามารถซ่อมแซมได้ ได้รับปลอดหนี้ ในส่วนของราคาอาคาร และให้ผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินที่คงเหลือ ภัยธรรมชาติ สำหรับลูกหนี้ที่เป็นผู้ประสบภัย

  • มาตรการสินไหมเร่งด่วน

จะได้รับค่าสินไหมเร่งด่วนกรณีพิเศษ กรณีทำกรมธรม์ประกันอัคคีภัย ซึ่งคุ้มครอง ทั้งนี้ สามารถยื่นคำขอเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2565

 

4.ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย จำนวน 2 มาตรการ ได้แก่

  • มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ พักชำระเงินต้น เป็นระยะเวลา 6 เดือน สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในเขตพื้นที่ที่ธนาคารกำหนด
  • มาตรการสินเชื่อ SMEs Re Start อัตราดอกเบี้ยต่ำสุดร้อยละ 5.5 ต่อปี ปลอดระยะเวลาชำระเงินต้น 2 ปีวงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 5 ล้านบาท

 

5.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) จำนวน 1 มาตรการ ได้แก่

  • มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากอุทกภัย 2565

ได้รับการพักชำระหนี้เงินต้น ชำระเฉพาะกำไร เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน และได้รับการยกเว้นค่าชดเชยผิดนัดชำระ (Late charge) ที่สำหรับบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่เป็นลูกค้าสินเชื่ออุปโภคบริโภค ทั้งแบบมีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน หรือสินเชื่อธุรกิจแบบมีกำหนดระยะเวลาของ ธอท. (Term Financing) ทั้งนี้ สามารถยื่นคำขอ

เข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่31 ธันวาคม 2565

 

6.ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย จำนวน 4 มาตรการ ได้แก่

  • มาตรการเพิ่มวงเงินหมุนเวียนชั่วคราว สูงสุดร้อยละ 20 ของวงเงินหมุนเวียนเดิมแต่ไม่เกิน 2 ล้านบาท
  • มาตรการเพิ่มวงเงินกู้ อัตราดอกเบี้ยชั้นต่ำ (Pime Rate) หรือประมาณร้อยละ 5.75 โดยปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 3เดือน วงเงินกู้เพิ่มเติมสูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท
  • มาตรการลดเงินต้นและดอกเบี้ย สูงสุดร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 1 ปี
  • มาตรการขยายระยะเวลาตั๋วสัญญาใช้เงิน สูงสุด 180 วัน

ทั้งนี้ หากลูกค้าชำระหนี้ได้ปกติ จะได้รับส่วนลดอัตราดอกเบี้ยคืน (Rebate) ร้อยละ2 ต่อปี โดยสามารถยื่นคำขอเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

 

7.บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มีมาตรการช่วยเหลือจำนวน 2 มาตรการ ได้แก่

  • มาตรการพักชำระค่าธรรมนียมการค้ำประกันสินเชื่อและค่าจัดการค้ำประกัน เป็นระยะเวลา 6 เดือน สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ปัจจุบันของ บสย. ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ปี 2565
  • มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ บสย. สามารถขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ยืดหนี้ และลดอัตราดอกเบี้ยได้ต่ำสุด ร้อยละ 0 ต่อปี เป็นระยะเวลาไม่เกิน 7 ปี