ศาลล้มละลายกลางไฟเขียวการบินไทยแก้แผนฟื้นฟู
ศาลล้มละลายกลางไฟเขียว “การบินไทย” ลุยแผนฟื้นฟูกิจการฉบับใหม่ ปรับวงเงินทุนใหม่เหลือ 2.5 หมื่นล้านบาท เดินหน้าจ้างที่ปรึกษาทางการเงินเริ่มแปลงหนี้เป็นทุนและเพิ่มทุน
รายงานข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า วันนี้ (20 ต.ค.) ศาลล้มละลายกลางมีกำหนดวันนัดฟังคำสั่งศาลเกี่ยวกับข้อเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นชอบให้การบินไทยแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการตามที่เสนอ อีกทั้งเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ 78.59% รวมกระทรวงการคลัง ยังได้โหวตยอมรับการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว เพราะเล็งเห็นว่าแผนดังกล่าวจะทำให้การบินไทยออกจากแผนฟื้นฟูได้เร็วขึ้น และสามารถกลับเข้าไปซื้อขายหลักทรัพย์ได้ภายในปี 2568
อย่างไรก็ดี ขั้นตอนดำเนินการหลังจากนี้ การบินไทยก็จะจ้างบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) เข้ามาเตรียมเรื่องของกระบวนการแปลงหนี้เป็นทุน และการเพิ่มทุน จากเจ้าหนี้เดิมและผู้ถือหุ้นเดิม ในวงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2567 ซึ่งลดลงจากแผนฟื้นฟูเดิมที่วางไว้ 5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากภาพรวมธุรกิจของการบินไทยในปัจจุบันอยู่ในช่วงฟื้นตัว มีอัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ย 80% ส่งผลให้การบินไทยมีกระแสเงินสด (แคชโฟว์) สะสมอยู่ที่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท
++ เพิ่มฝูงบินรองรับความต้องการเดินทางพุ่ง ++
ขณะเดียวกันการบินไทยจะนำเครื่องบินโบอิง 777-300ER ขนาด 303 ที่นั่ง เข้าประจำการเพิ่ม 3 ลำ เพื่อรองรับความต้องการเดินทางที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากหลายประเทศผ่อนคลายและยกเลิกมาตรการควบคุมและจำกัดการเดินทาง
เครื่องโบอิง 777-300ER ทั้ง 3 ลำ เป็นเครื่องบินพิสัยไกลที่มีประสิทธิภาพสูง ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้รับพัฒนาการตกแต่งภายในห้องโดยสารในแต่ละชั้นบริการให้มีความสะดวกสบายและทันสมัย และยังประหยัดน้ำมัน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ปัจจุบันให้บริการในเส้นทางจากกรุงเทพฯ ไปยังลอนดอน โตเกียว และโอซากา
การบินไทยยังได้ทยอยนำเครื่องบินแอร์บัส A330-300 ซึ่งให้บริการที่นั่งในชั้นธุรกิจแบบปรับเอนนอนราบ (Flat Bed) จำนวน 3 ลำกลับเข้ามาให้บริการในเส้นทางฟุกุโอกะและโตเกียว ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมนี้ และนำเครื่องโบอิง 777-200ER จำนวน 2 ลำมาให้บริการเพิ่มเติมในเส้นทางมุมไบ จาการ์ตา และเดนปาซาร์ เพื่อรองรับความต้องการเดินทางที่เติบโตอย่างต่อเนื่องใน 9 เดือนแรกของปี 2565