กบง. เคาะตรึงราคาก๊าซหุงต้ม LPG ที่ 408 บาท ต่ออีก 2 เดือน ถึงสิ้นปี 65
กบง. ตรึงราคาก๊าซหุงต้มไว้ที่ประมาณ 408 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ต่อเนื่องอีก 2 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. - 31 ธ.ค. 2565 หวังช่วยลดผลกระทบค่าครองชีพของประชาชน ขณะที่ "กองทุนน้ำมัน" รับภาระต่อ
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) กล่าวภายหลังประชุม กบง. ว่า จากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างประเทศยูเครน และสหพันธรัฐรัสเซีย ส่งผลให้เกิดวิกฤติราคาพลังงาน ทั่วโลก ซึ่งกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ ภาพรวมเศรษฐกิจ และค่าครองชีพของประชาชน โดยปัจจุบันราคาก๊าซ LPG ตลาดโลกยังคงผันผวน
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์ราคาก๊าซ LPG เพื่อพิจารณาแนวทางบรรเทาผลกระทบกับผู้ใช้ก๊าซ พบว่า ในเดือนก.ย. - ต.ค. 2565 ราคา LPG ตลาดโลกลดลงประมาณ 69.40 ดอลลาร์ต่อตัน หรือลดลง 11% จาก 644.65 สู่ระดับ 575.25 ดอลลาร์ต่อตัน ณ วันที่ 18 ต.ค. 2565 ในขณะที่ราคาขายปลีกในประเทศอยู่ที่ 408 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม (กก.)
ส่งผลต่อสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 16 ต.ค. 2565 มีฐานะกองทุนสุทธิ ติดลบ 126,690 ล้านบาท แยกเป็น
- บัญชีน้ำมันติดลบ 84,126 ล้านบาท
- บัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 42,564 ล้านบาท
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ที่ประชุม กบง. จึงมีมติเห็นชอบการทบทวนการกำหนด ราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)
โดยให้คงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG ที่ 19.9833 บาทต่อกิโลกรัม (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพื่อให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 408 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2565 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2565
ซึ่งการดำเนินการปรับ ราคาก๊าซ LPG ในครั้งนี้จะช่วยลดผลกระทบค่าครองชีพของประชาชน แต่จะทำให้กองทุนน้ำมัน มีภาระเพิ่มขึ้น และเกิดปัญหาการลักลอบจำหน่าย LPG ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
“ที่ประชุม กบง. ได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ประสานคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อพิจารณาบริหารจัดการเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับแนวทางการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซ LPG ต่อไป”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์