BTS ยื่นหนังสือถึง รมต.ทุกคน ค้านผลประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม
BTS ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีรายบุคคล เสนอให้ค้านพิจารณาผลประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ชี้ข้อเสนอผู้ชนะไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนสูงสุด
รายงานข่าวจาก บริษัท บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส ระบุว่า บีทีเอสได้ส่งหนังสือไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ลงวันที่ 21 ก.ย.2565 เรื่องคัดค้านและไม่ให้ความเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุขนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ตามประกาศเชิญชวนและเอกชนการคดัเลือกเอกชนฉบับเดือน พ.ค.2556
ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าวได้ระบุถึง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 มาตรา 42 วรรคสี่ กำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการต้องนำเสนอผลการคัดเลือกเอกชนตามลำดับชั้นจนถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชน
โดยเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องก่อนบรรจุเข้าวาระการประชุม ซึ่งจากข้อเท็จจริงอาจมีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและอาจเสียหายต่องบประมาณแผ่นดิน จึงเรียนมาเพื่อพิจารณาดำเนินการให้ถูกต้อง
นอกจากนี้ ในหนังสือฉบับดังกล่าว บีทีเอส ได้ระบุว่าได้ทำหนังสือเรียนคณะรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลอีกส่วนหนึ่งด้วย
รวมทั้ง ได้ระบุถึงการยกเลิกการประชุมเมื่อปี 2563 เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงนำเรื่องไปฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลาง คดีหมายดำที่ 580/2564 และศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาในที่สุดว่ามติของคณะกรรมการคัดเลือกฯ และประกาศของ รฟม.ที่ให้ยกเลิกการประมูลเป็นมติและประกาศที่ออกโดยใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ต่อมาคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ออกประกาศเชิญชวนและออกเอกสารการคัดเลือก ฉบับเดือน พ.ค.2565 ซึ่งมีการประกาศให้ ITD เป็นผู้ผ่านการพิจารณาซอง 1 (ข้อเสนอคุณสมบัติ) ทั้งที่นายเปรมชัย กรรณสูต กรรมการและผู้มีอำนาจลงนามของ ITD ได้รับโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
ดังนั้นกลุ่ม ITD จึงเป็นเอกชนที่มีคุณลักษณะไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนและไม่มีสิทธิได้รับคัดเลือกเป็นคู่สัญญาตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่องลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุน พ.ศ.2562
ทั้งนี้ หาก ITD ไม่ผ่านการพิจารณาด้านคุณสมบัติด้วยเหตุผลดังกล่าว จะมีเพียง BEM ที่เป็นผู้ยื่นข้อเสนอเพียงรายเดียวที่ผ่านมาการพิจารณา จึงถือว่าเป็นการประมูลที่ไม่มีการแข่งขัน ดังนั้นคณะกรรมการคัดเลือกฯ ควรชี้แจงหรือตอบข้อสงสัยให้ได้ว่ารัฐจะได้ประโยชน์อย่างไร เพราะข้อเสนอของ BEM ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนสูงสุด โดยผลการยื่นข้อเสนอมีดังนี้
BEM ได้เสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน : NPV) เท่ากับ -78,287 ล้านบาท
ITD และพันธมิตร ได้เสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน : NPV) เท่ากับ -102,635 ล้านบาท
ตามข้อมูลดังกล่าว BEM จึงเป็นผู้เสนอขอรับการสนับสนุนจากรัฐต่ำที่สุดและเป็นผู้ชนะการประมูล แต่เมื่อวันที่ 12 ก.ย.2565 บีทีเอสได้เสนอหลักฐานที่ได้จากการเปิดซองข้อเสนอด้านราคาของการประมูลรอบแรกที่ยื่นไปเมื่อปี 2563 โดยผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน : NPV) เท่ากับ -9,675 ล้านบาท แตกต่างจากผู้ชนะการประมูลครั้งล่าสุดเกือบ 70,000 ล้านบาท จึงอาจเป็นการประมูลที่กีดกันไม่ให้บีทีเอสเข้าร่วม
โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)