“สุพัฒนพงษ์” ย้ำรัฐพร้อมดูแลค่า “น้ำมัน-ไฟฟ้า” หวังเป็นของขวัญปีใหม่
“สุพัฒนพงษ์” ย้ำรัฐเร่งต่อมาตรการดูแลค่า “น้ำมัน-ไฟฟ้า” กลุ่มเปราะบางต่อเนื่อง คาดราคาดีเซลกลางปีหน้าลดลง เดินหน้ากู้เงินตรึงดีเซลต่อเนื่อง ชี้ เดือนพ.ย. ได้ความชัดเจนการกู้เงินเสริมสภาพคล่อง ส่วนค่าไฟฟ้า รอดูกกพ.เคาะค่าFt รอบใหม่ ก่อนพิจารณาต่อมาตรการ
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษ “พลังงาน : วาระโลก–วาระประเทศไทย 2023” จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชน ว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติจากปัญหาโควิด-19 และสงครามทางการเมืองรัสเซียและยูเครน โดยช่วงโควิดการใช้น้ำมันลดลง การผลิตก็ลดลงด้วย และช่วงปลายปี 2564 เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น ในประเทศตะวันตกมีวัคซีน กลุ่มเอเซียได้รับวัคซีนทำให้ดีมานด์เริ่มขยับขึ้น ส่วนซัพพลายลดลงไป ซึ่งกว่าจะผลิตน้ำมันกลับมาได้ต้องใช้เวลา
ทั้งนี้ ต้นปี 2565 ปัญหาความขัดแย้งและการแบ่งคั่วอำนาจ นำไปสู่ความไม่สมดุลในการผลิตต่าง ๆ และตัดสัมพันธ์ทางการค้า เกิดการเลิกส่งพลังงาน ซ้ำเติมการรอกำลังการผลิต ทำให้ราคาพลังงานกระโดดขึ้นมาก เกิดความกังวลในประเทศไทย โดยรัฐบาลพยาบามช่วยเหลือประชาชนโดยใช้กลไกการตรึงราคาน้ำมันจากสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ที่พยายามตรึงราคาในระดับไม่แพงเทียบกับเพื่อนบ้าน ถือเป็นมีภาระและเป็นเงินกว่า 1 แสนล้านบาท ดังนั้นจึงต้องกู้เงินเพื่อทยอยใช้จ่ายต่อไป เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศให้มีความเสถียรภาพ
“ในเดือนพ.ย. 2565 จะมีความชัดเจนในเรื่องของการกู้เงิน โดยเฉพาะการเปิดให้สถาบันทางการเงินยื่นข้อเสนอต่าง ๆ ตามแผนการกู้เงินส่วนแรก 30,000 ล้านบาท และส่วนที่ 2 อีก 1.2 แสนล้านบาท โดยจะทยายกู้เป็นก้อนเล็ก ๆ ตามความเหมาะสม เพราะขณะนี้ราคาน้ำมันยังมีความผันผวน แต่เชื่อมั่นว่ากลางปี 2566 ราคาน้ำมันมีแนวโน้มที่จะลดลงกว่านี้แน่นอน”
ทั้งนี้ ประเทศไทยนำเข้าพลังงานกว่า 80% ส่วนแก๊สธรรมชาติกว่า 20-30% สิ่งสำคัญคือต้องช่วยกันประหยัดพลังงานทั้งน้ำมันและไฟฟ้าเพียง 20% ก็ช่วยประหยัดเงินหลักแสนล้านบาท เพราะการลดการนำเข้าจากต่างประเทศไม่ใช่จะทำง่ายทันที รัฐบาลพยายามหาพลังงานทดแทนอื่น ๆ ทั้งการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และพลังงานสะอาดจากโซลาร์ ลม และน้ำ เป็นต้น เพราะจากการนำเข้าและปัญหาทางการเมืองต่างประเทศส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาตปรับสูงขึ้นถึง 5 เท่าตัว และยิ่งปัญหาเงินเฟ้อก็มีผลสำคัญต่อราคาต้นทุนแก๊สโดยรวมของประเทศไทยด้วย
นอกจากนี้ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่นี้ กระทรวงพลังงานจะดำเนินงานตามแผนงาน และพยายามตรึงราคาน้ำมันดีเซลและช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้า 2 กลุ่มคือ กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ถึง 300 หน่วยต่อเดือน โดยจะยังคงจ่ายค่า Ft เท่าเดิม ส่วนกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ 300-500 หน่วยต่อเดือน จะจ่ายค่า Ft แบบขั้นบันได ซึ่งจะหมดมาตรการสิ้นปีนี้ ส่วนจะต่อให้อีกหรือไม่อยู่ระหว่างพิจารณา และรอสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศค่า Ft รอบเดือนม.ค.-เม.ย. 2566 ช่วงต้นเดือนธ.ค. 2565 อีกครั้ง
“การดูแลราคาดีเซลเพื่อไม่ให้ผลกระทบอัตราเงินเฟ้อมาก แต่ตอนนี้ราคาเบนซินอยู่ในราคาที่มีเสถียรภาพพอสมควร บางคนเริ่มปรับตัวใช้รถไฟฟ้าแล้ว เพราะรู้ว่าประหยัดจริง รัฐบาลพยายามทำเต็มที่ สิ่งที่อยากให้เห็นคือว่าโลก 2 คั่วอำนาจยังดำเนินต่อไปแต่อยากจะให้เห็นคือวาระของโลกที่ต้องทำคือภาวะโลกร้อน ที่เห็นพร้องต้องกัน คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และได้ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันบนเวที COP26 ตั้งเป้าไม่ให้อุณหภูมิสูงเกิน 1.5 องศา ซึ่งประเทศไทยก็ได้ประกาศมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนปี 2050 และเป้า Net Zero ปี 2065”
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ระหว่างทางสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนนั้น การจะทำให้สำเร็จจะต้องผ่านแผนพลังงานต่าง ๆ อาทิ การลดฟอสซิลจากน้ำมันดิบและใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น หรือการใช้ไฟฟ้าสะอาด ใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่สำคัญ เช่น การกักเก็บคาร์บอนไว้ใต้พื้นพิภพ โดยให้เวลา ปตท.สผ. สรุปผลการศึกษาแหล่งก๊าซอ่าวไทยใน 90 วันต่อจากนี้ ว่าจะสามารถกักเก็บได้เท่าไหร่ จากการศึกษาเบื้องต้นขณะนี้ที่ 7,000 ล้านตันคาร์บอน ซึ่งเชื่อว่าจะมีพื้นที่อีกจำนวนมาก รวมถึงการใช้เทคโนโลยีไฮโดรเจน เป็นต้น
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการปล่อยคาร์บอนรวม 350 ล้านตัน โดยหากเปรียบเทียบราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาดนิวยอร์กตามสกุลเงิน EU จะอยู่ที่ประมาณ 3-4 พันบาท หรือรวมประมาณ 1 ล้านล้านบาทต่อปี ดังนั้น การสนับสนุนใช้รถอีวี การดันประเทศไทยเป็นศูนย์การผลิตรถอีวีก็จะช่วยได้ ซึ่งจากนโยบายสนับสนุนรัฐบาลพบว่า ปีนี้ยอดขายรถโต 275% มีสถานีอัดประจุไฟฟ้า วันที่ 20 ก.ย. 2565 มรสถานี 869 สถานี รวม 2,572 หัวชาร์จทั่วประเทศ และอีก 8 ปีต่อจากนี้ จำนวน 30% จะเป็นยานยนต์ไฟฟ้าและสิ่งที่ทำได้ดีอีกอย่างคือ การปลูกป่าเพราะสามารถได้คาร์บอนเครดิตกลับไป
“การใช้เทคโนโลยีใหม่ เช่น การเอาก๊าซธรรมชาติหรือการแยกไฮโดรเจนแล้วเก็บคาร์บอน หรือนำมาใช้ประโยชน์อื่น ๆ จะเกิดอุตสาหกรรมใหม่ ๆ อีกมากมาย ผู้ผลิตอุตสาหกรรมทั่วโลกจะแสวงหาฐานการผลิตเพื่อบรรลุเป้าหมายตามเทรนด์โลก เมื่อทุกคนช่วยกันจะมีโอกาสที่ดีนำไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ รัฐบาลเดินหน้าทำเต็มที่ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เป็นต้น ดังนั้น ทุกคนต้องช่วยกันให้นักลงทุนเห็นว่าไทยน่าลงทุน”