เดินหน้าพัฒนาทักษะแรงงานไทย รับการเป็นฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต
ปัจจุบัน ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) ถือเป็นทางเลือกใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับสากลและในประเทศไทย ซึ่งผู้ผลิตรถยนต์ต่างชาติหลายต่อหลายแบรนด์ขยับตัวกันไปค่อนข้างไกลแล้ว
และแม้ว่า ประเทศไทยจะได้รับการขนานนามว่าเป็นหนึ่งในฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนสำคัญของโลก แต่หากพูดกันตามตรง การผลิตส่วนใหญ่ในไทยยังอยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์แบบดั้งเดิม ดังนั้นกระแสยานยนต์ไฟฟ้าย่อมส่งผลกระทบไม่มากก็น้อยต่อผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการไทย แต่ยังไม่ถือว่าสิ้นหวังนะครับ เพราะ ‘อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่’ นับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-curve) ที่รัฐบาลกำลังเร่งผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจุดนี้ถือเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
กลับมาที่ยานยนต์ไฟฟ้ากันต่อนะครับ
กระแสยานยนต์ไฟฟ้านำไปสู่การปรับตัวครั้งสำคัญของเหล่าผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่จำเป็นต้องเร่งเพิ่มขีดความสามารถแก่บุคลากรภายในองค์กร เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและก่อให้เกิดความเชี่ยวชาญในสายงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งเปิดรับบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเข้าร่วมงาน เพื่อเสริมศักยภาพทางการแข่งขันของตนเอง
ขณะเดียวกันสถาบันการศึกษาหลายแห่งตระหนักถึงเทรนด์ดังกล่าว และเริ่มให้ความสำคัญกับการยกระดับทักษะและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องแก่นักศึกษาที่สนใจ เพื่อสร้างสรรค์บุคลากรและผู้เชี่ยวชาญรองรับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต
เช่นเดียวกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ของเราที่มีภารกิจสำคัญในการพัฒนาศักยภาพกำลังคนดิจิทัลของประเทศ ซึ่งเราเองก็เล็งเห็นทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ามาหลายปี และล่าสุดได้ร่วมมือกับ เกรท วอลล์ มอเตอร์ (ประเทศไทย) ในการส่งเสริมและสนับสนุนการยกระดับทักษะด้านยานยนต์ไฟฟ้าให้กับวิทยาลัยอาชีวศึกษาภายใต้เครือข่ายของสำนักงานฯ
สำหรับความร่วมมือระหว่าง depa และ เกรท วอลล์ มอเตอร์ จะส่งเสริมให้นักศึกษา รวมถึงคณะครูและอาจารย์ของวิทยาลัยอาชีวศึกษาในเครือข่ายของเรา ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (สยามเทค) อีกหนึ่งกำลังสำคัญในการผลิตกำลังคนดิจิทัลของประเทศ สามารถเก็บเกี่ยวองค์ความรู้เชิงลึกด้านยานยนต์ไฟฟ้า ก่อนนำองค์ความรู้และทักษะสำคัญที่เกี่ยวข้องมาพัฒนาเพื่อต่อยอดไปสู่การเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยเติมเต็มศักยภาพในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานทางเลือกของไทย ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ได้รับการปักหมุดให้เป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคต
เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า อีกหนึ่งความร่วมมือสำคัญในครั้งนี้จะเป็นกลไกในการสร้างผู้เชี่ยวชาญ อีกทั้งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมที่เป็นของคนไทย เพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีและบุคลากรต่างชาติ และเมื่อโครงสร้างพื้นฐานพร้อม ประกอบกับการที่แรงงานมีทักษะก็จะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต ตลอดจนสร้างระบบนิเวศของรถยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความแข็งแกร่งให้กับวงการยานยนต์และเศรษฐกิจไทยให้เป็นที่ประจักษ์ในเวทีระดับโลก