"คณิศ" ชูแนวคิด “เอเซียนแวลูเชน” เพิ่มยอดการผลิตไทยสู่ภูมิภาคเอเชีย
“คณิศ” ย้ำ พร้อมจับมือกับนักลงทุนจีนเพื่อสร้างธุรกิจให้เติบโตยั่งยืนไปพร้อมกัน ชูแนวคิด “เอเซียนแวลูเชน” ดันยอดการผลิตในไทยสู่ภูมิภาคเอเชีย เหตุถูกกดดันจากการกีดกันทางการค้า พร้อมดัน 4 ฐานการลงทุนในไทยเม็ดเงิน 2.2 ล้านล้านบาใน 5 ปี
ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ที่ปรึกษาพิเศษด้านการพัฒนาการขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษตะวันออก กล่าวในงาน "Thailand - China Investment Forum" หัวข้อ Experience sharing on China’s investment cooperation outlook in Thailand ว่า จีนถือเป็นกลุ่มลงทุนใหญ่ที่ลงทุนในอีอีซีด้วยดีเสมอมา และได้หารือในเรื่องของเทคโนโลยีต่าง ๆ อาทิ ไบโอ คือการรักษาระดับเซลล์และยีน เป็นการรักษาเฉพาะตัว จะเป็นลักษณะพิเศษมีการวิจัยยีนแล้ว 5 หมื่นเคส นอกจากนี้อยู่ระหว่างหารือเกี่ยวกับการรักษาทาลัสซีเมียต่ออีก 100 เคส
หลังจากนี้ สิ่งที่จะต้องทำคือ โรงพยาบาล และโรงงาน ที่ทำในเรื่องของยา ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ในช่วงนี้อีอีซีจะมุ่งเน้นในเรื่องของเทคโนโลยีทางด้านการแพทย์ ศึกษาระดับเซลล์ และยีนไปได้ไกล และเรากำลังทำกฎระเบียบในอีอีซี พร้อมตั้งทีมมาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะไปได้ไกลมาก ซึ่งนักลงทุนจากจีนอยากได้อะไรเพิ่มเติมก็สามารถมาหารือเพื่อปรับกฎเกณฑ์ที่ทันสมัย รับกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม อีอีซีได้ทำงานมา 4 ปี มีการลงทุนไปแล้ว 1.7 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 3.4 แสนล้านหยวน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ออกบัตรไปแล้วราว 1.1 ล้านล้านบาท หรือราว 2.2 แสนล้านหยวน ให้กับกลุ่มธุรกิจจากจีนราว 1.2 แสนล้านบาท เมื่อรวมฮ่องกงแล้วถือเป็นอันดับ 1 ในการลงทุนที่อีอีซี ดังนั้น ส่วนที่เข้ามาตอนนี้ครอบคลุมเยอะ มีทั้งยานยนต์ ชิ้นส่วนอีวี เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมทางการแพทย์ ไปจนถึงเคมิคอลส์ มีมูลค้าที่ให้สิทธิประโยชน์ไปแล้วราว 6 พันล้านบาท หรือ 1.2 พันล้านหยวน
“เมื่อ 3 ปีที่แล้ว พบว่า อุตสาหกรรมเป้าหมายของอีอีซีตรงกับจีน โดยกลุ่มแรกที่มาคือ อาลีบาบา กลุ่มที่ 2 คือ หัวเว่ย และล่าสุดคือ เกรท วอล มอเตอร์ส และ BYD และยังมีบริษัทที่ทำระบบการบินโดรนเข้าในพื้นที่อีอีซี ปลายปีนี้จะเสร็จ นอกจากนี้ ยังมีบริษัททำอาวุธ รวมถึงการตั้งเมืองสตาร์ทซิตี้ในอีอีซีด้วย ถือเป็นบริษัทใหญ่ ๆ ของจีนทั้งสิ้น 4 ปีนี้เราพยายามดึงการลงทุนในด้านต่าง ๆ ซึ่งยังไม่นับรวมการลงทุนของประเทศอื่น ๆ อีกจำนวนมาก”
ดร.คณิศ กล่าวว่า การลงทุนในอีอีซี 4 ปีที่ผ่านมาถือว่าอยู่ในระดับที่ดีแล้ว ความสำคัญระหว่างไทยและจีนดีมาก ซึ่งคำถามต่อไปจะทำอะไร ตนจึงขอเสนอว่า ในภาวะที่เป็นเช่นนี้ เราน่าจะมีการคิดในแนวทางเอเซียนแวลูเชน เป็นการกระจายเรื่องเกี่ยวกับออนเดอะท็อปของ BGI ระบบการผลิตว่าในอุตสาหกรรมการผลิตจะพึ่งพาเอเชียมากขึ้น สิ่งที่ผลิตในเอเชียนั้น พบว่า 50% ใช้ในเอเชีย อีก 50% ส่งออกไปนอกเอเชีย แต่ในอนาคตการแข่งขันและการกีดกันทางการค้า การแบ่งคั่วอำนาจทางการเมืองอาจจะทำให้ประเทศไทยต้องเพิ่มจาก 50% เป็นเปอเซ็นต์ที่มากขึ้น
ดังนั้น ในส่วนของการลงทุนอินโนเวชันหรือเทคโนโลยีในเรื่องใหม่ ๆ จะต้องทำมากขึ้น การพึ่งพากันเองในเอเชียใสนด้านการผลิตการตลาดจึงจำเป็น ยิ่งทำเร็วยิ่งดี ยิ่งแน่นแฟ้นเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้ประเทศไทยแข็งแกร่งมากขึ้นเท่านั้น ความเชื่อมโยงที่เคยมีกับจีน กับอาเซียนจับมือแน่น ขยายไปอินเดีย จะทำให้เศรษฐกิจเอเชียในอนาคตสามารถมีความแข่งแกร่งและพึ่งพาตัวเองได้
ทั้งนี้ สิ่งที่อีอีซีจะทำต่อจากนี้ หลัก ๆ 4 ฐาน คือ 1. ฐานอีวีไทยเข้มแข็ง ซึ่งกลุ่มปตท.ถือเป็นองค์กรที่ช่วยนำไปสู่เป้าหมายได้ ซึ่งนโยบายรัฐบาลมีความชัดเจน เป็นนโยบายที่ดีที่สุดในอาเซียน โดยกำหนดฐานการผลิตรถยนต์ของไทย 2 ล้านล้านคันภายใน 5-6 ปีนี้นั้น 50% จะเป็นอีวี ฐานอีวีของเอเชียเมื่อจีนมาแล้วจะอยู่ในเรื่องของเทคโนโลยีทั้งด้านธุรกิจ แบตเตอรี่ และ อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
2. ฐานการแพทย์ อีอีซีในประเทศไทยมีความเข้มแข็งมาก มีการหารือและเตรียมลงททุนขยายต่อยอด เป็นต้น 3. ฐาน 5G ประเทศไทยมีความเข้มแข็งมากเมื่อ 5G เข้มแข็งในเรื่องของออโตเมชันกับตัวที่เป็นเดต้าในอนาคต 5G ในพื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงในอีอีซีครอบคลุมแล้ว เพราะออโตเมชันกำลังมาแรง และ 4. ฐาน BCG เป็นต้น
“แผนต่อไปเราจะเน้นลงทุนอุตสาหกรรมที่กล่าวมาราว 2.2 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 4.4 ล้านหยวน ภายใน5ปี ดังนั้น บริษัทต่างๆ จากจีนก็ได้เริ่มมาคุยกับเราว่าจะลงทุนต่อเนื่อง และอยากฝากถึงบริษัทจีนที่มีอยู่หากคิดว่า อีอีซีเป็นพันธมิตรทางธุรกิจก็ขอให้เข้ามาคุย อีอีซีพร้อมสนับสนุนธุรกิจ และสร้างธุรกิจให้เติบโตไปด้วยกัน”