'คณิศ'ลาตำแหน่งเลขาฯอีอีซี ฝากเป้าลงทุน 2.2 ล้านล้าน ดันจีดีพีไทยโตปีละ 5%
เวทีสัมนาสุดท้าย คณิศ แสงสุพรรณ ในฐานะเลขาฯอีอีซี ฝากงานเลขาฯคนใหม่ ดันลงทุนอีอีซีถึง 2.2 ล้านล้านบาทในอีก5 ปีข้างหน้า ดันเศรษฐกิจอีอีซีเติบโต 7-9% ส่งไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้ว ชี้เป้าลงทุน 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่โตก้าวกระโดดแตะ 49%
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวในงานสัมมนา EEC : New Chapter New Economy จัดโดย “กรุงเทพธุรกิจ” วันนี้ ( 17 ส.ค.) ว่าในวันนี้ถือเป็นวันทำงานสุดท้ายในฐานะเลขาธิการอีอีซีหลังจากที่ครบกำหนดสัญญาที่ได้ลงนามกับรัฐบาลไว้ตั้งแต่ 4 ปีที่แล้ว รวมกับการทำงานก่อนหน้าที่รัฐบาลจะออก พ.ร.บ.อีอีซีเป็นการทำงานในตำแหน่งมากว่า 5 ปี
ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงการฟื้นตัวและเติบโต โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตได้ประมาณ 3.6% และในปี 2566 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ประมาณ 4% โดยในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจของอีอีซีถือว่าเติบโตได้ใกล้เคียงกับเศรษฐกิจของประทศ แต่หลังจากที่มีการขับเคลื่อนการลงทุนต่อเนื่องตั้งแต่ 4 – 5 ปีที่ผ่านมาระยะต่อไปเศรษฐกิจของอีอีซีจะเติบโตได้ประมาณ 7-9% ซึ่งเติบโตมากกว่าเศรษฐกิจของประเทศ
โดยการเติบโตของเศรษฐกิจอีอีซีปีละ 7-9% มาจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นปีละ 4 – 5 แสนล้านบาท หรือรวม 5 ปีที่จะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท ช่วยให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวได้ปีละ 4 – 5% ซึ่งทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางสู่ประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2572 ซึ่งเรื่องนี้ต้องขอฝากเลขาธิการอีอีซีคนใหม่ผลักดันการลงทุนให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้ด้วย
“ในอีก 5 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจของอีอีซีจะขยายตัวประมาณ 7 – 9% ต่อปี ถือว่าขยายตัวได้มากกว่าเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และช่วยให้เศรษฐกิจไทยโดยรวมขยายตัวได้ 4 – 5% ต่อปี ทำให้ประเทศไทยสามารถก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2572” นายคณิศ กล่าว
นายคณิศกล่าวต่อว่าโดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาการทำงานของอีอีซีสามารถบรรลุเป้าหมายได้หลายด้าน โดยในเรื่องของการลงทุนสามารถผลักดันให้เกิดการอนุมัติงบลงทุนสูงถึง 1.8 ล้านล้านบาท เกินเป้าหมาย 1.7 ล้านล้านบาทใน 5 ปีที่เป็นแผนแรกของอีอีซี
รวมทั้งสามารถดึงเทคโนโลยีใหม่ผ่านการลงทุน โดย 4 ปีที่ผ่านมา การอนุมัติการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 S-curve มีสัดส่วน 70 % ของการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด และใน 5 อุตสาหกรรมที่เป็น New S-Curve มีสัดส่วนการลงทุน 36% และเพิ่มขึ้นเป็น 49% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 นี้
การสร้างระบบการพัฒนาบุคลากรตามความต้องการของตลาด (Demand Driven) แก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรที่ทำงานกับนวัตกรรมใหม่ อบรมไปได้แล้ว 16,114 คน และในสิ้นปี 2566 จะดำเนินการได้ 100,000 คน และผลประโยชน์ตกถึงประชาชน และมีระบบดูแลอย่างยั่งยืนและโครงการลงถึงระดับชุมชน เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนรวมทั้งโครงการสินเชื่อพ่อค้า - แม่ขาย และ SMEs หลังสถานการณ์โควิด กับ 9 สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ โดยปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 51,420 ราย รวมวงเงินสินเชื่อ 34,548 ล้านบาท
“ที่ผ่านมาอีอีซีมีการลงทุนไปแล้วกว่า 1.8 ล้านล้านบาท ในส่วนนี้เราใช้งบประมาณรัฐแค่ 5% เท่านั้น ที่เหลือเป็นการทำงานร่วมกับภาคเอกชนในการลงทุน ในครึ่งปีที่ผ่านมาการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็น new s curve เพิ่มจาก 36% เป็น 49% ทำให้เห็นถึงทิศทางการเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้” นายคณิศ กล่าว