บีโอไอเคาะ 9 มาตรการใหม่ ดึงลงทุนย้ายฐานผลิต กระตุ้นเศรษฐกิจ 4 ภาค
บอร์ดบีโอไออนุมัติ 9 มาตรการลงทุนชุดใหม่ มีผลบังคับใช้ 3 ม.ค. 2566 กระตุ้นการลงทุนใน 5 ปีข้างหน้า ปรับปรุงมาตรการเดิม-ขยายขอบเขตสิทธิประโยชน์ ยกเว้นภาษีเงินได้สูงสุด 13 ปี
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่ ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุน เพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่ ภายใต้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี ( 2566 – 2570) จำนวนทั้งสิ้น 9 มาตรการ ดังนี้
1.มาตรการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ 2. มาตรการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน 3.มาตรการรักษาและขยายฐานการผลิต 4.มาตรการส่งเสริมการย้ายฐานธุรกิจแบบครบวงจร
5. มาตรการกระตุ้นการลงทุนในระยะฟื้นฟูเศรษฐกิจ 6.มาตรการยกระดับอุตสาหกรรมไปสู่สมาร์ทและยั่งยืน 7. มาตรการส่งเสริมการลงทุนเอสเอ็มอี 8. มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย และ 9. มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม
"โดมาตรการข้างต้น มีการปรับปรุงมาตรการเดิมให้ตรงเป้ามากขึ้น ลดความซับซ้อน และเพิ่มมาตรการใหม่ๆ อาทิ มาตรการรักษาและขยายฐานการผลิตเดิม มาตรการส่งเสริมการย้ายฐานธุรกิจแบบครบวงจร ตอกย้ำการเป็นฐานการลงทุนสำหรับอุตสาหกรรมใหม่ของไทย และกระตุ้นลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค จะมีผลบังคับใช้ วันที่ 3 มกราคม 2566"
นายนฤตม์ กล่าวว่า บีโอไอได้เพิ่มเปลี่ยนหมวดกิจการที่ให้การส่งเสริมการลงทุนจาก 7 เป็น 10 หมวดกิจการ เพื่อให้สะท้อนทิศทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ อาทิ กลุ่มบีซีจี ดิจิทัล พร้อมเพิ่มสิทธิประโยชน์กลุ่ม A1+ สำหรับอุตสาหกรรมต้นน้ำที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง โดยให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 13 ปี
รวมทั้งเพิ่มประเภทกิจการที่เปิดให้การส่งเสริมการลงทุนใหม่ ได้แก่ กิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง กิจการเทคโนโลยีพลังงานใหม่ อาทิ ไฮโดรเจน แอมโมเนีย กิจการอาหารแห่งอนาคต กิจการอุตสาหกรรมอวกาศและชิ้นส่วนอากาศยาน
“บอร์ดบีโอไอยังได้ตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขอุปสรรคและอำนวยความสะดวกในการลงทุน โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เพื่อแก้ไขปัญหาและลดอุปสรรคต่าง ๆ สำหรับการลงทุน เพื่อเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจใหม่ นำไปสู่การเติบโตที่ทั่วถึงและยั่งยืนในอนาคต”