เปิดข้อเสนอเวทีผู้นำ “เอเปค” หนุน “เอสเอ็มอี” มีส่วนร่วมเศรษฐกิจโลก
การระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักทางธุรกิจในวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ในภาคบริการที่ล้มหายและจากไปในช่วงวิกฤติซึ่งสร้างบาดแผลใหญ่ให้กับเศรษฐกิจ
เมื่อโควิด-19 เข้าสู่ระยะของการเป็นโรคเฉพาะถิ่น ผู้กำหนดนโยบายจึงมองหาแนวทางและสร้างโอกาสที่เป็นไปได้ในการฟื้นฟู MSMEs โดยเฉพาะในการหารือในเวที่ผู้นำความร่วมมือด้านเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิค (เอเปค) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 18-19 พ.ย.2565
สำหรับธุรกิจ MSME มีสัดส่วน 98% ของธุรกิจทั้งหมดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รวมทั้ง GDP ของ MSME มีขนาด 40-60% ในเกือบทุกเขตเศรษฐกิจจึงทำให้ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็กและรายย่อยมีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเอเปค
ที่ผ่านมาสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้จัดประชุมเพื่อเตรียมประเด็นที่จะเสนอเวทีผู้นำ โดยมีการประชุมรัฐมนตรีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเอเปค ครั้งที่ 28 และการประชุมคณะทำงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเอเปค ครั้งที่ 54 ระหว่างวันที่ 5-10 ก.ย.2565 ที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งมี “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม
การประชุมดังกล่าวได้กำหนดหัวข้อหลักของการประชุมภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ “BCG” สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน สอดรับกับการให้ความสำคัญในระดับสากล ในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความร่วมมือที่จะเร่งบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการให้เอเปค “เปิด” ต่อทุกโอกาส “เชื่อมต่อ” ในทุกมิติและ “สมดุล” ในทุกด้าน
รวมทั้ง สร้างการมีส่วนร่วมในการกำหนดท่าทีของไทย ที่จะรักษาผลประโยชน์ของธุรกิจ MSMEs ในเวทีความร่วมมือพหุภาคีพร้อมกับเชื่อมโยง MSMEs ไทยกับพันธมิตรธุรกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อส่งเสริมการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ และสร้างศักยภาพ MSME ไทย ให้เชื่อมโยงเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานระดับโลก
“กลุ่มธุรกิจ MSMEs ยังได้รับผลกระทบอย่างหนักหลังการเกิดวิกฤติโควิด-19 ที่ทำให้เกิดขาดแคลนซัพพลายเชน การเปลี่ยนแปลงของตลาด และการขาดสมดุลทางการเงิน ขณะเดียวกันสถานการณ์เศรษฐกิจโลกก็กำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่ที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเดิม ซึ่ง MSMEs ยังคงเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วง” สุพัฒนพงษ์ กล่าว
สมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคได้หารือร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางส่งเสริมให้ธุรกิจขนาดเล็กมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจโลก พร้อมทั้งฟื้นฟูและปรับปรุงการเชื่อมต่อระหว่างเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเปค ทั้งหมด 4 ด้าน ประกอบด้วย
1.การเร่งรัดการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของธุรกิจขนาดเล็ก และยังสนับสนุนความพยายามที่จะรับมือกับภาวะโลกร้อนที่จะทำให้เกิดความเสียหายกับเศรษฐกิจโลก และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่น้อยกว่า 4% ของ GDP อาเซียน
2.การเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลอย่างครอบคลุม การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กพัฒนาได้เร็วขึ้นและการมีทักษะดิจิทัลจะเข้าถึงลูกค้าได้มากกว่าและยืนหยัดต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเร็ว โดยรัฐบาลต้องสนับสนุนเทคโนโลยีดิจิทัลให้ MSMEs
3.การจัดหาเงินทุนและการปรับโครงสร้างหนี้ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและรายย่อยมีความลำบากในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ เพราะมีขนาดเล็ก มีผลิตภัณฑ์และบริการไม่หลากหลาย และมีโครงสร้างทางการเงินอ่อนแอกว่า ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจเล็กเข้าถึงแหล่งเงินทุน
4.การรับมือกับตลาดที่กำลังพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไป การสร้างสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจที่สนับสนุนสตาร์ทอัพ ส่งเสริมนวัตกรรม เสริมสร้างการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลก
ทั้งนี้ สิ่งที่หน่วยงานภาครัฐควรให้ความสำคัญเพื่อขับเคลื่อนให้ MSMEs เติบโตและแข่งขันได้ในยุคหลังโควิด คือ การพัฒนาผู้ประกอบการที่มีความหลากหลาย รวมถึงข้อกฎหมายเพื่อลดปัญหาอุปสรรคในการแข่งขันทางการค้า การส่งเสริมให้ MSMEs เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และภาคเอกชน
เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นหน่วยงานภาคเอกชนภายใต้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก ที่ให้คำแนะนำด้านการดำเนินภาคธุรกิจแก่ผู้นำและคณะประชุมเอเปค ในการส่งเสริม 4 ด้านหลัก คือ
1.ส่งเสริมปรับตัวในยุคดิจิทัล โดยผู้ประกอบการจะต้องนำดิจิทัลและนวัตกรรมทางเทคโนโลยีมาปรับใช้กับ MSMEs เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นมากขึ้นในการทำธุรกิจ ซึ่งอุปสรรคต่อการปรับตัวทางด้านดิจิทัลยังขาดทักษะและความรู้ด้านดิจิทัล การขาดการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตที่มีคุณภาพ ตลอดจนการมีกฎระเบียบและกฎการค้าที่แตกต่างกันในแต่ละเขตเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นตัวปิดกั้นโอกาสในการเติบโตของ MSMEs
2.ส่งเสริมแนวทางปฏิบัติด้านความยั่งยืนตามแนวทางความยั่งยืน โดย MSMEs จะต้องปรับตัวให้สอดรับกับแนวโน้มกระแสโลกดังกล่าว โดยเฉพาะการสร้างมูลค่าใหม่ (New value) และความสามารถในการแข่งขันที่มากขึ้น ผ่านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์และตระหนักถึงการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความได้เปรียบด้านราคาและสร้างแรงดึงดูดการลงทุนของ MSMEs
3.ส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานของตลาดดิจิทัลสำหรับสินเชื่อหมุนเวียนธุรกิจ การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ส่งผลให้ทุกฝ่ายตระหนักดีว่าดิจิทัลจะสามารถเข้ามาสู่กระบวนการทางธุรกิจและผลักดันให้ธุรกิจเติบโตได้ บริการการเงินเพื่อการค้าและสินเชื่อหมุนเวียนธุรกิจจะมีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงด้านการเงินสำหรับ MSMEs
4.ส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจให้มากขึ้น หาก MSMEs กลุ่มที่มีบทบาทน้อยหรือขาดโอกาสในการสนับสนุนต่างๆ ได้รับการส่งเสริมอย่างแข็งขัน ก็จะสามารถสร้างแรงกระเพื่อมต่อมการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเปคได้อย่างต่อเนื่อง