ค่าใช้จ่ายคนไทยยังเกือบ 2 หมื่นบาทต่อเดือน แม้เงินเฟ้อแผ่ว

ค่าใช้จ่ายคนไทยยังเกือบ 2 หมื่นบาทต่อเดือน แม้เงินเฟ้อแผ่ว

เงินเฟ้อไทยเริ่มแผ่ว สนค.คาด เดือนพ.ย.และธ.ค. เงินเฟ้อลดลงอีก สูงไม่เกิน 6 % แต่ค่าใช้จ่ายครัวเรือนยังไม่ลด ยังต้องจ่ายเงินเกือบ 2 หมื่นบาทต่อเดือนทั้งค่าโดยสาร ค่ายานพาหนะ ค่าน้ำมัน จับตา กนง.ยังใช้ยาแรง ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25 % ชะลอเงินเฟ้อ

ดัชนีราคาผู้บริโภคหรือเงินเฟ้อทั่วไป ปรับลดลงต่อเนื่องมาเป็นเดือนที่ 2 จากเดือนก.ย.ที่อยู่ที่ 6.41% มาเดือนต.ค.ลดลงมาอยู่ที่ 5.98%  หลังจากที่เดือนส.ค.พุ่งสูงสุดถึง 7.86 % ที่ถือเป็นจุดสูงสุดของเงินเฟ้อในรอบปีนี้และในรอบ  13 ปี การปรับลงของเงินเฟ้อ เป็นผลมาจากการชะลอตัวของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และสินค้าในกลุ่มอาหารโลก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อรวม 10 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-ต.ค.) อยู่ ที่ 6.15%  

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์   ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์  มองว่า แนวโน้มเงินเฟ้อไทยจะค่อยปรับลดลง โดยช่วงที่เหลือของปีนี้คือเดือน พ.ย.และธ.ค. เงินเฟ้อของไทยน่าคงจะไม่ถึง 6% หรืออยู่ในระดับใกล้เคียง  6 %  ตามราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพหลายรายการที่ชะลอตัวลงและราคาพลังงานที่ยังเคลื่อนไหวไม่สูงมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เฉลี่ยทั้งปี 90 – 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล 

แต่ยังต้องระวังปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อเงินเฟ้อ ราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันดิบที่อุปทานยังตึงตัว อุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น จากการส่งออก การท่องเที่ยว และราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่ยังอยู่ในระดับดี รวมถึงเงินบาทที่ยังอ่อนค่า ทั้งปีสนค.ประเมินว่า เงินเฟ้อทั้งปี 2565 จะอยู่ที่ระดับ 5.5-6.5% มีค่ากลางที่ 6.0%

 

เงินเฟ้อเดือน ต.ค.อยู่ที่ 5.98 % ลดลงแต่ เมื่อโฟกัสลงดูค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในเดือนต.ค. พบว่า  ค่าใช้จ่ายรายเดือนของคนไทยยังสูงเกือบ 20,000  บาทต่อเดือน หรือเฉลี่ย 18,170  บาท ส่วนใหญ่ใช้จ่ายค่าโดยสารสาธารณะ ซื้อยานพาหนะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าโทรศัพท์มือถือ คิดเป็นสัดส่วน  23.22 % รองลงมาเป็นค่าเช่าบ้าน ค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม เครื่องใช้ในบ้าน คิดเป็นสัดส่วน  22.10 %

ทั้งนี้เงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อในหลายประเทศทั่วโลก พบว่าไทยเงินเฟ้อของไทยก็ยังคงอยู่ในระดับสูงแต่ก็ไม่มากนัก โดยข้อมูลล่าสุดใน เดือนก.ย. 2565 พบว่า เงินเฟ้อของประเทศไทยสูงขึ้น 6.41%  อยู่ในระดับสูงเป็นอันดับที่ 107 จาก 135 ประเทศที่มีการประกาศตัวเลข โดยในกลุ่มประเทศอาเซียนลาวเป็นประเทศที่มีเงินเฟ้อสูง 34.0 % อยู่ในอันดับ 7

 

ส่วนประเทศสิงคโปร์ เงินเฟ้อ 7.5 % อยู่ในอันดับที่  94  ประเทศฟิลิปปินส์ เงินเฟ้อ 6.9 % อยู่ในอันดับที่ 106 ตามมาด้วยไทย อันดับที่ 107  ประเทศอินโดนีเซีย 5.95 อยู่ในอันดับ 110 ประเทศมาเลเซีย 4.5 % อยู่ในอันดับที่  119  ขณะที่ประเทศเวียดนามเป็นประเทศในอาเซียนที่มีเงินเฟ้อต่ำสุด 3.94 อยู่ในอันดับที่ 124

เงินเฟ้อที่สูงขึ้น ทำให้หลายประเทศยังคงใช้นโยบายการเงินคือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ไม่เว้นแม้ไทย ที่แม้เงินเฟ้อของไทยมีสัญญาณชะลอตัวลง แต่ก็ยังอยู่ระดับสูง ก็คาดว่าว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ยังคงใช้การทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะถือว่าเป็นแนวทางที่เหมาะสม โดยในเดือน พ.ย.นี้ กนง.น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25%  เพื่อดูแลเงินเฟ้อ และรับมือกับเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย