เขตเศรษฐกิจ APEC สำคัญไฉนกับประเทศไทย l ลัษมณ อรรถาพิช
APEC หรือ Asia -Pacific Economic Cooperation มีสมาชิกประกอบไปด้วยเขตเศรษฐกิจ 21 เขต รอบชายขอบมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งหมายถึงเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ ในทวีปเอเชีย (นับรัสเซียเป็นเอเชีย) อเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้
มีเป้าประสงค์เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกัน นำนโยบายไปสู่ความร่วมมือและการปฏิบัติให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในกลุ่มสมาชิก
21 เขตเศรษฐกิจนี้มีขนาดของเศรษฐกิจรวมกันกว่าร้อยละ 60 ของมูลค่าจีดีพีของโลก โดยมีมูลค่าจีดีพีรวมกันกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2563 โดยเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็น 3 อันดับแรก แน่นอนคือสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น โดยในปี 2563 เกาหลีใต้เป็นอันดับที่ 4 แต่ในปีก่อนหน้านั้น รัสเซียอยู่ในอันดับที่ 4
หากจะพิจารณาขนาดจากจำนวนประชากร พบว่ากลุ่มประเทศเขตเศรษฐกิจ APEC มีประชากรรวมกันคิดเป็นร้อยละ 38 ของประชากรโลก หรือประมาณ 2.9 พันล้านคนในปี 2563
ด้วยขนาดอันใหญ่โตทั้งด้านจีดีพี และจำนวนประชากรดังกล่าวข้างต้น ย่อมหมายถึงตลาดที่มีขนาดใหญ่และโอกาสที่เปิดกว้าง โดยคาดว่าเขตเศรษฐกิจ APEC มีมูลค่าการค้ารวมกันถึงร้อยละ 48 ของมูลค่าการค้าสินค้าและบริการของโลก
มูลค่าการค้าของจีนแซงหน้าสหรัฐมาเป็นอันดับหนึ่งที่ร้อยละ 12 และสหรัฐเป็นอันดับ 2 อยู่ที่ร้อยละ 11 เมื่อรวมอันดับ 3 คือญี่ปุ่นที่ร้อยละ 4 แล้ว เพียง 3 ประเทศที่กล่าวมาก็มีมูลค่าการค้าคิดเป็นอัตราส่วนถึง 1 ใน 4 ของมูลค่าการค้าโลก
ดังนั้น APEC จึงมีความสำคัญและเป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกทั้งทางด้านตลาดการค้าและโอกาสทางการลงทุน
สำหรับประเทศไทย 10 อันดับแรกของตลาดส่งออกของไทย ล้วนเป็นประเทศในเขตเศรษฐกิจ APEC ทั้งสิ้น ดังนั้น ความสำคัญอันดับแรกของ APEC ที่มีต่อประเทศไทย จึงได้แก่ความเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก
ในด้านการลงทุน ตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของ APEC ก็มีความน่าสนใจมากเช่นกัน ในปี 2563 เขตเศรษฐกิจต่างๆ ใน APEC มีการออกไปลงทุนในต่างประเทศรวมกันมากถึงร้อยละ 85.8 ของมูลค่าการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของทั้งโลก โดยมีจีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง และสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ
ในขณะเดียวกัน APEC ก็เป็นพื้นที่รับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศถึงร้อยละ 68 ของมูลค่าทั้งโลก โดยมีสหรัฐ จีน ฮ่องกง และสิงคโปร์ เป็นเขตเศรษฐกิจหลักที่ได้รับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ
สำหรับประเทศไทย เมื่อดูจากสถิติการขอรับการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ เราจะพบว่าในปี 2563 เป็นนักลงทุนจากเขตเศรษฐกิจ TOP 10 ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน สหรัฐ ฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน และมาเลเซีย ดังนั้น ความสำคัญอย่างที่สอง ของ APEC คือการเป็นผู้เล่นหลักในภูมิทัศน์การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในโลก รวมถึงของไทยเองด้วย
นอกจากความสำคัญในเชิงปริมาณดังที่กล่าวมาแล้ว APEC ยังมีความสำคัญในเชิงคุณภาพที่น่าสนใจอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพูดถึงเรื่องการลงทุน ซึ่งประเทศไทยกำลังมุ่งไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นสำคัญเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นรากฐานไปสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
ภายใต้ตัวชี้วัดที่สำคัญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมตัวหนึ่ง ได้แก่ Global Innovation Index นั้น จากข้อมูลในปีล่าสุด พบว่า ในการจัดอันดับ Top 20 มีเขตเศรษฐกิจของ APEC ติดอันดับถึง 6 เขต และจากข้อมูล Top 3 by Region พบว่าทั้ง ชิลี และ เม็กซิโก ติดอยู่ใน 3 ลำดับแรกของทวีปอเมริกาใต้
ส่วนในด้านการศึกษาและวิทยาการ เมื่อดูจาก QS University Ranking 2023 ซึ่งเป็นปีล่าสุด พบว่า การจัดอันดับใน Top 100 มีมหาวิทยาลัยในเขตเศรษฐกิจ APEC อยู่ถึง 64 แห่ง จาก 11 เขตเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลที่บ่งชี้ถึงความสำคัญของประเทศสมาชิก APEC ที่น่าสนใจอีกเช่น ใน Fortune Global 500 นั้น กว่า 70% ของบริษัทระดับโลกอยู่ในเขต APEC และเมื่อเจาะลึกลงไปยังอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ดิจิทัล ใน Forbes Top 100 Digital Companies มีถึง 77 บริษัท จากเขต APEC
จากตัวชี้วัดเชิงคุณภาพเหล่านี้ น่าจะเป็นทิศทางที่ชัดเจนว่าการทำงานร่วมกับ APEC ภายใต้ Committee ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเวทีภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาควิชาการ มีความสำคัญอย่างยิ่งและเป็นโอกาสอย่างมากสาหรับประเทศไทยที่จะสานต่อตลอดจนพัฒนาพันธสัญญาและความร่วมมือระหว่างเขตเศรษฐกิจใน APEC
นอกจากนี้ ในยามที่ประเทศต่าง ๆ ในโลกดูเหมือนจะประสบปัญหาในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น โรคระบาดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ภูมิรัฐศาสตร์ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ความผันผวนทางการเมืองและเศรษฐกิจ ตลอดจนปัญหาทางสังคมทั้งภายในและภายนอก
ยังคงเป็นคำถามว่าเศรษฐกิจของ APEC จะยังมีพลังที่จะคงความสำคัญอยู่อีกหรือไม่ หรือแนวโน้มที่โลกจะเข้าสู่ภาวะ Deglobalization จากวิกฤติที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี เอดีบี ไอเอ็มเอฟ หรือธนาคารโลก ต่างก็ได้คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจ APEC ไว้ว่าเศรษฐกิจของทุกเขตเศรษฐกิจยังคงขยายตัวในปี 2566 ยกเว้นเพียงรัสเซีย ถึงแม้ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะไม่เข้มแข็งนัก
แต่ในภาพรวมยังถือได้ว่า APEC ยังคงเป็นภูมิภาคที่มีพลังขับเคลื่อนไปข้างหน้าอยู่ นอกจากนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าความสัมพันธ์หรือความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ ในโลกยังคงเป็นทางออกที่จะช่วยบรรเทาความขัดแย้ง และเป็นหนทางนาไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
‘การพัฒนาอย่างยั่งยืน’ หรือ Sustainable Development เป็นเรื่องที่ถูกกล่าวถึงอย่างมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา เพราะโลกได้ตระหนักแล้วว่าความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่ความเจริญที่ถาวร
จากข้อเท็จจริงที่ว่าเขตเศรษฐกิจในกลุ่ม APEC ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติสูงถึงร้อยละ 70 ของภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในโลก ความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ และภาวะโลกร้อน ส่งผลกระทบอย่างมากต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาเชิงคุณภาพ จึงถือเป็นความสำคัญลำดับที่สาม และคงจะเลื่อนมาอยู่ในลำดับแรกไม่ช้าก็เร็ว โดย APEC เป็นเวทีที่ตอกย้ำถึงความสำคัญของเรื่องนี้
รวมถึงสร้างความตระหนักและความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ตั้งแต่การวางนโยบายไปสู่การวางแนวปฏิบัติ รวมถึงการผลักดันให้เกิดพัฒนาการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการรักษาสิ่งแวดล้อม นับแต่แหล่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต พลังงานสะอาด การจัดการของเสียและขยะ ตลอดจนความรับผิดชอบต่อสังคม
ข้อมูลทั้งหมดข้างต้น ตอกย้าว่า APEC เป็นเวทีสำคัญที่มีโอกาสในด้านการค้าการลงทุน รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอยู่มากมาย แต่สิ่งที่ท้าทายคือ ทุกภาคส่วนของไทยจะสามารถใช้ศักยภาพของตนเอง ไปดึงเอาศักยภาพของเพื่อนสมาชิก APEC มาร่วมมือกัน เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างยั่งยืนได้อย่างไร.