ยอดขายที่ดินนิคมฯพุ่ง รับแรงหนุนเศรษฐกิจโลกฟื้น
ทิศทางการลงทุนเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะหลังจากมีการเปิดประเทศส่งผลให้นักธุรกิจเดินทางเข้ามาเจรจาได้สะดวกขึ้น และมีผลต่อยอดขายที่ดินของนิคมอุตสาหกรรม
จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวโน้มการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมในปี2566 มองว่าจะอยู่ในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากกระแสการย้ายฐานทุนที่ยังเกิดขึ้น เนื่องจากความผันผวนของโลก ทั้งความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ศาสตร์และมาตรการซีโร่โควิดที่ส่งผลต่อซัพพลายเชนการผลิต ทำให้นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจในภูมิภาคนี้มากขึ้นรวมถึงไทยเอง
“โดยลูกค้าในนิคมฯ ดับบลิวเอชเอส่วนใหญ่ตัดสินใจเร่งโอนที่ดินและสร้างโรงงานทันที โดยจะไม่ได้เป็นการซื้อที่ดินเพื่อเก็บ จึงคาดว่าจะเห็นเงินลงทุนจริงในปีหน้า ที่มาจากกลุ่มอุตสาหกรรมอีวี อิเล็กทรอนิกส์ และคอนซูมเมอร์”
นอกจากนี้ การที่ไทยมีความชัดเจนในการขับเคลื่อนนโยบายยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และส่งเสริมการลงทุนตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า เป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดนักลงทุนในคลัสเตอร์อีวีมาไทยมากขึ้น
ทั้งนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจทั่วโลกมีแนวโน้มจะชะลอตัวในปีหน้าโดยกำลังซื้อของผู้บริโภคชะลอตัวลงบ้าง แต่เชื่อว่าผลกระทบจะเกิดเฉพาะบางเซคเตอร์ รวมทั้งเศรษฐกิจไทยยังอยู่ช่วงการฟื้นตัวจากโควิดจะค่อยๆ โตกลับมาอยู่จุดเดิม ทั้งจากภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมาในปีนี้ และคาดว่าเมื่อจีนคลายมาตรการโควิดในปีหน้าจะเป็นผลดีกับการท่องเที่ยว
นอกจากนี้ ยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิเอชเอในปี 2565 ทะลุเป้า 1,650 ไร่ไปแล้ว หลังจากมีการปรับเป้ายอดขายที่ดินขึ้นหลังจากมีการเปิดประเทศ ซึ่งทำให้มีนักธุรกิจต่างชาติที่ไม่ใช่สัญชาติจีนเข้ามาซื้อที่ดินจำนวนมาก
วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2565 (ก.ย.2564-ต.ค.2565) กนอ.มียอดขายและเช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 2,016.24 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนอยู่ที่ 65.1% ซึ่งเป็นไปตามที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ กนอ.ปรับเป้ายอดขายและเช่าที่ดินในช่วงครึ่งปีหลังที่ผ่านมา ภายหลังการเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ ซึ่งส่งผลให้มีนักลงทุนต่างชาติเดินทางเข้ามาชมพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกันยังเป็นผลจากความเชื่อมั่นในโครงการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานหลักในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งทั้ง 4 โครงการมีความก้าวหน้าการก่อสร้างและส่งมอบพื้นที่โครงการต่อเนื่องชัดเจน ประกอบด้วยโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการลินภาคตะวันออก โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3
นอกจากนี้ ได้รับปัจจัยบวกจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งทำให้นักลงทุนตัดสินใจจองหรือซื้อหรือเช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม ทั้งนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน และนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเอง
สำหรับยอดการขายและเช่านิคมอุตสาหกรรมในอีอีซี มีจำนวน 1,716.99 ไร่ และนอกพื้นที่อีอีซีจำนวน 299.25 ไร่ มีการแจ้งเริ่มประกอบกิจการ และใบขออนุญาตส่วนขยาย 407 ราย เกิดการจ้างงาน 39,643 คน มูลค่าการลงทุนรวม 137,677 ล้านบาท
“การลงทุนจากต่างชาติเริ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอีอีซี เป็นผลจากโครงการ LTR Visa ที่เปิดใช้ตั้งแต่ 1 ก.ย.2565 ดึงนักลงทุนต่างชาติมีศักยภาพสูงด้านทักษะและความเชี่ยวชาญเทคโนโลยีสมัยใหม่และผู้มีความมั่งคั่งมาลงทุน"
รวมทั้ง กนอ.คาดการณ์ว่าปี 2565 จะมีเม็ดเงินลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากยอดขายหรือเช่าที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 65.1% ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากหลายปัจจัยแล้วทำให้ในปี 2566 กนอ.ตั้งเป้ายอดขายหรือเช่าพื้นที่ไว้ที่ 2,500 ไร่
สำหรับการคาดการณ์ดังกล่าวได้ประเมินปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและปัจจัยบวกจากทิศทางการเคลื่อนย้ายการลงทุนที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ การแพร่ระบาดของโควิด-19 การเกิดสงครามยูเครน-รัสเซีย และล่าสุดการปฏิรูปการเมืองในจีนทำให้หลายอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่จัดระบบการผลิตครั้งใหญ่ ซึ่งไทยได้เปรียบหลายส่วน ส่งผลให้บริษัทขนาดใหญ่ระดับโลกหลายบริษัทสนใจมาลงทุนในไทย
ปัจจุบัน กนอ.มีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 182,273 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่กนอ.ดำเนินการเอง 37,724 ไร่ และนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน 144,549 ไร่ มีพื้นที่ขายและให้เช่า 119,307 ไร่ เป็นพื้นที่ขายหรือให้เช่าแล้ว 94,043 ไร่ และมีพื้นที่คงเหลือสำหรับขายหรือให้เช่า 25,264 ไร่
ในขณะที่มูลค่าการลงทุนสะสมอยู่ที่ 5.59 ล้านล้านบาท มีโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม 4,864 โรง และมีการจ้างงาน 926,262 คน
กลุ่มอุตสาหกรรม 5 อันดับแรกที่มีการลงทุนสูงสุด ได้แก่ 1.กิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรม 22.6%
2.อุตสาหกรรมยานยนต์ และการขนส่ง 11.06% 3.อุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ9.33%
4.อุตสาหกรรมยาง พลาสติก และหนังเทียม 8.85 % และ 5.อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักรและอะไหล่ 8.36 %
ทั้งนี้ นักลงทุนจากญี่ปุ่นครองแชมป์สนใจลงทุนมากเป็นอันดับหนึ่งถึง 31.25% รองลงมา คือนักลงทุนจากจีน 18.75% ตามมาด้วยนักลงทุนจากสหรัฐ อังกฤษ ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์อินเดีย และมาเลเซีย
ขณะที่ภาพรวมการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ทั้งนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเอง และนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน ปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 67 แห่ง และท่าเรืออุตสาหกรรม 1 แห่งใน 16 จังหวัด เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเอง 15 แห่ง และนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน 52 แห่ง