คลัง-พาณิชย์ ได้ข้อยุติ หั่นงบประกันรายได้ข้าว ปี 4

คลัง-พาณิชย์ ได้ข้อยุติ หั่นงบประกันรายได้ข้าว ปี 4

คลัง-พาณิชย์ จับมือ หั่นใช้เงินประกันรายได้ข้าวจาก 1.5 แสนล้าน เหลือ 6.6 หมื่นล้าน เพื่อให้พอต่อม.28 โดยไม่ต้องขยายกรอบใช้เงิน หลังราคาข้าวพุ่ง ลดโครงการซ้ำซ้อน ย้ำชาวนาไม่กระทบได้เหมือนเดิม เตรียมชงครม.เห็นชอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้นัดหารือรอบนอกหลัง ครม.กับ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับปัญหาโครงการประกันรายได้ข้าวปี 4 ที่ยังค้างคาเพราะติดขัดเรื่องงบประมาณ พร้อมกับให้เร่งเสนอเข้าที่ประชุม ครม.โดยเร็ว ล่าสุด กระทรวงการคลัง ได้หารือปัญหาด้านงบประมาณกับกระทรวงพาณิชย์เสร็จสิ้นแล้ว โดยมีความเห็นตรงกันที่จะปรับลดกรอบงบประมาณสำหรับใช้ในโครงการอุดหนุนสินค้าข้าวทั้งแพ็คเกจลง จากเดิมที่ใช้มากกว่า 1.5 แสนล้านบาท ลดลงไปกว่า 8 หมื่นล้านบาท เหลือประมาณ 6.6 หมื่นล้านบาท เพื่อให้พอเพียงกับกรอบวงเงินการใช้จ่ายตามมาตรา 28 แห่งพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังแห่งรัฐ ที่เหลืออยู่

“การปรับลดงบประมาณอุดหนุนข้าวครั้งนี้ จะไม่กระทบต่อเงินที่ชาวนาจะได้รับ โดยทุกโครงการจะยังได้รับเท่าเดิม เพียงแต่จะลดความซ้ำซ้อนของโครงการที่มีความคล้ายคลึงกัน รวมถึงอัพเดทวงเงินที่จะใช้ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาข้าวที่เป็นปัจจุบันมากขึ้น เพราะขณะนี้ราคาข้าวเปลือกทุกชนิดปรับขึ้นไปมาก เมื่อเทียบกับช่วงกลางปีที่มีการตั้งโครงการ ทำให้ความจำเป็นใช้งบประมาณมีน้อยลงกว่าเดิม”

สำหรับรายละเอียดในการปรับลดวงเงิน มีดังนี้ โครงการประกันรายได้ข้าว ปี 4 เดิมมีการขอวงเงิน 86,740 ล้านบาท มีเกษตรกรเข้าร่วม 4.68 ล้านครอบครัว แต่กรอบวงเงินใหม่จะปรับลดเหลือใช้แค่ 1.8 หมื่นล้านบาท เพราะข้าวหลายชนิดราคาสูงขึ้นมาก เช่น ข้าวเปลือกเจ้าปัจจุบันอยู่ตันละ 9,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลิราคาสูงเกิน 15,000 บาท

นอกจากนี้ จะปรับลดวงเงินโครงการช่วยต้นทุนและการบริหารจัดการข้าวไร่ละ 1,000 บาท รายละไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 20,000 บาท จำนวน 4.68 ล้านครอบครัว จากเดิมที่เคยขอไว้ 55,364 ล้านบาท จะลดเหลือประมาณ 40,000 ล้านบาท โดยส่วนต่างๆที่ขาดหายไป 15,000 ล้านบาท จะให้นำเงินจากโครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวของกรมการข้าว ที่ได้รับงบประจำปี 66 วงเงิน 15,000 ล้านบาทมาเติมใช้แทน เพราะถือเป็นโครงการที่มีความคล้ายคลึงกัน ส่วนวงเงินในมาตรการคู่ขนาน 7,107 ล้านบาท จะยังใช้วงเงินเท่าเดิม เช่น โครงการจำนำยุ้งฉางให้ชาวนาชะลอการขาย  เงินกู้ให้สถาบันเกษตรกรที่ชะลอการขายข้าว และช่วยโรงสีที่เก็บข้าวไว้ไม่ปล่อยออกสู่ตลาด 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากปรับลดกรอบวงเงินเสร็จสิ้นแล้วจะมีการเสนอแพ็คเกจอุดหนุนสินค้าเกษตรให้ที่ประชุม ครม.ในวันที่ 15 พ.ย.นี้ทันที โดยไม่ต้องเสนอเข้า คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวแห่งชาติ (นบข.)เพราะหลักการโครงการต่างๆ ยังเหมือนเดิม เพียงแต่ปรับกรอบวงเงินใช้งบประมาณใหม่เท่านั้น  ขณะเดียวกันกระทรวงการคลัง ก็ยังสามารถรักษาวินัยการเงินการคลังไว้ได้ โดยไม่ต้องมีการขยายเพดานจากปัจจุบันที่คงไว้ 32% ของงบประมาณ

ปัจจุบันราคาข้าวเปลือกปรับตัวดีขึ้นมาก โดยข้าวหอมมะลิอยู่ที่ 15,000-16,000 บาทต่อตัน สูงกว่าราคาประกันที่กำหนดไว้ 15,000 บาทต่อตัน  ข้าวหอมปทุมธานี 11,000-11,500 บาทต่อตัน สูงกว่าราคาประกันที่ตั้งไว้ 11,000 บาท ขณะที่ข้าวเปลือกเจ้าราคา 9,500 บาทต่อตัน ต่ำกว่าราคาประกันที่ตั้งไว้ 10,000 บาทเพียงเล็กน้อยเท่านั้น รวมถึงข้าวเปลือกเหนียว 11,000-12,200 บาทต่อตัน ก็ใกล้เคียงกับราคาประกันที่ 12,000 บาท