เอเปคอายุครบ 34 ปี จากอดีตสู่อนาคต | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

เอเปคอายุครบ 34 ปี จากอดีตสู่อนาคต | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ประเทศที่ริเริ่มการประชุมเอเปคคือ ออสเตรเลีย เมื่อปี 1989 ซึ่งผมมองว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่แยบยลของผู้นำออสเตรเลีย ที่รับรู้ว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีศักยภาพทางเศรษฐกิจอย่างมาก

ดังนั้น ออสเตรเลียจึงต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญและมีส่วนร่วมในความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจที่ต้องเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้อย่างแน่นอน

ผมเคยเรียนหนังสือที่ประเทศนิวซีแลนด์และมีเพื่อนชาวออสเตรเลียพร้อมกันไปด้วย ซึ่งเพื่อนๆ นักเรียนชาวออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ของผมในช่วง 1970-1980 นั้นเกือบทุกคนมักจะคิดแต่เพียงว่าต้องการเดินทางไปที่อังกฤษ ไปทำงานที่อังกฤษและ/หรือมีญาติมิตรที่ประเทศอังกฤษ

ดังนั้น จึงมองเห็นแต่ประเทศอังกฤษ กล่าวคือพวกเขาส่วนใหญ่เกือบจะไม่รับรู้เลยว่ามีอีกหลายสิบประเทศใกล้กับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ในเอเชียที่จะมีความสำคัญอย่างมากกับอนาคตของประเทศของเขาทั้งสองในเชิงของความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ

กล่าวสั้นๆ คือสำหรับพวกเขาส่วนใหญ่ โลกคือประเทศของเขากับประเทศอังกฤษ รู้จักสหรัฐอเมริกาอีกประเทศหนึ่งอย่างผิวเผิน และมองข้ามทวีปเอเซียไปเลย

ในช่วงแรกของการก่อตั้งและพัฒนาเอเปคนั้น ผมยังรับราชการอยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศและจำได้ดีว่า ประเทศอาเซียนคัดค้านการจัดตั้งเอเปคไม่มากก็น้อย ที่คัดค้านมากคือมาเลเซีย ทั้งนี้เพราะว่าก่อนที่จะมีเอเปคนั้นมีกลุ่มภูมิภาคเพียงกลุ่มเดียวคืออาเซียน

กล่าวคือเอเปคจะต้องเข้ามาบดบังความโดดเด่นของอาเซียนอย่างแน่นอน มาเลเซียจึงพยายามผลักดันกลุ่มเศรษฐกิจที่เรียกว่า East Asia Economic Caucus ที่ไม่มีสหรัฐเป็นสมาชิก แต่ในที่สุดก็ไม่มีกระแสสนับสนุน EAEC อย่างจริงจัง

ดังนั้น จึงเป็นความ “เก่ง” ของผู้นำออสเตรเลียที่ทำให้ประเทศของตนซึ่งเป็น “คนนอก” ในทวีปเอเชีย สามารถผันตัวมาเป็นแกนนำคือเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งเอเปคขึ้นเมื่อปี 1989 พร้อมกับ 11 ประเทศ (รวมเป็น 12 ประเทศ)

ซึ่งมีสมาชิกอาเซียนทั้ง 6 ประเทศ (ในตอนนั้น) ร่วมกับอีก 5 ประเทศคือ แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์และสหรัฐอเมริกา

สรุปได้ว่า เอเปคคือกลุ่มที่แบ่งออกเกือบครึ่งต่อครึ่งที่เป็นประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศที่กำลังพัฒนา แต่มีวิสัยทัศน์ใกล้เคียงกันคือ การสนับสนุนระบบทุนนิยม การเปิดตลาด และการส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่เสรี

ในความเห็นของผมนั้น ช่วง 4 ปีแรกของเอเปค (1989-1993) เป็นช่วงที่เอเปคโดดเด่นและมีผลงานที่น่าประทับใจมากที่สุด ส่วนหนึ่งเพราะเป็นช่วงหลังจากทุบกำแพงเบอร์ลินและการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ทำให้กระแสเสรีนิยมแพร่ขยายไปทั่วโลก

ในช่วงดังกล่าวเอเปครับสมาชิกใหม่ 6 ประเทศคือ จีน ไต้หวันและฮ่องกงในปี 1991 รับเม็กซิโกกับปาปัวนิวกินีเป็นสมาชิกในปี 1993 และชิลีเป็นสมาชิกในปี 1994 ต่อมาในปี 1998 เอเปครับสมาชิกใหม่ 2 ประเทศคือเวียดนามและรัสเซีย

ผมคิดว่าเอเปคดูจะโดดเด่นที่สุดในปี 1993 เมื่อประธานาธิบดี บิล คลินตันของสหรัฐเข้าร่วมการประชุมเอเปก ซึ่งถือได้ว่าเป็นการริเริ่มการประชุมผู้นำสูงสุดของเอเปก (APEC Summit)

ทำให้มี momentum ในการประชุมสุดยอดในปี 1994 ที่ Bogor ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเอเปคประกาศว่า ประเทศสมาชิกที่พัฒนาแล้วของเอเปคจะเปิดตลาดให้มีการค้าและการลงทุนเสรีในปี 2010 และประเทศสมาชิกที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาก็จะเปิดเสรีภายในปี 2020

นอกจากนั้นในเวลาต่อมาในปี 1996 เอเปคก็ยังได้มีข้อเสนอให้ส่งเสริมการเปิดเสรีทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศคือ global information technology agreement สาระสำคัญได้แก่ การยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ภายในปี 2000

จะเห็นได้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวเอเปคเป็นแนวหน้าในการขับเคลื่อนการเปิดเสรีและการส่งเสริมโลกาภิวัตน์ โดยคาดหวังว่าจะเป็นแบบอย่างให้กับประเทศอื่นในโลกและในที่สุดจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้มีการเปิดเสรีในระดับพหุพาคี

หมายความว่าเมื่อเอเปคประสบความสำเร็จ ก็จะเป็นการผลักดันให้ประสบความสำเร็จในการประชุมในระดับพหุภาคีขององค์กรการค้าโลกในที่สุด

แน่นอนว่า เอเปคไม่สามารถทำทุกอย่างที่ประกาศเอาไว้ได้ แต่ก็ยังเป็นกรอบการประชุมและความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์และจะต้องพัฒนาต่อไป

ผมเห็นว่า เอเปคจะยังมีบบทบาทสำคัญใน 3 เรื่องหลักคือการขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนที่เปิดและเสรีต่อไป การเป็นพื้นที่ให้ประเทศมหาอำนาจคือสหรัฐและจีนสามารถกลับมาหันหน้าเข้ากันเมื่อถึงเวลาอันควร (ซึ่งอาจต้องรออีกนานหลายปี) และเป็นกรอบความร่วมมือที่จะยังสามารถทำให้ภูมิภาคนี้เป็นจุดเด่นของเศรษฐกิจโลกต่อไปอีกในอนาคต

ดังนั้น ประเทศสมาชิกที่เป็นประเทศขนาดเล็ก เช่น ประเทศไทยจึงควรต้อมทุ่มเทพละกำลังและดำเนินนโยบายที่ต่อเนื่องและชัดเจนให้มีความแนบแน่นกับวัตถุประสงค์และการขับเคลื่อนเอเปค

ไม่เพียงในปีนี้ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำ แต่ในอนาคตข้างหน้าเพื่อให้เอเปคกลับมามีความโดดเด่นในการพัฒนาความมั่งคั่งของเศรษฐกิจไทย พร้อมกับเศรษฐกิจของเอเชียและเศรษฐกิจโลกครับ.

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร

กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร