ส.อ.ท. เตือนภาคผลิตรับมือ วิกฤติพลังงานลากยาวปีหน้า
นับตั้งแต่การเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบในช่วงกลางปี 2565 ทำให้ภาคการท่องเที่ยวและดีมานต์ในประเทศเริ่มกลับมาฟื้นตัว สะท้อนจากความเชื่อมมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัว 5 เดือนติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเศรษฐกิจโลกยังกดดันความเชื่อมั่นในอนาคต
รวมทั้ง อุตสาหกรรมต้องเร่งเตรียมพร้อมรับมือกรณีส่งออกหดตัว รวมถึงวิกฤติพลังงานที่ยังมีความกังวลต่อต้นทุนการผลิตในปี 2566
กฤษณ์ อิ่มแสง เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมทุกภาคส่วนจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับสถานการณ์สำคัญในปีหน้า คือการรับมือกับต้นทุนด้านราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง ถึงแม้ว่าราคาต้นทุนในหลายผลิตภัณฑ์ต้นทางที่เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานเริ่มจะมีแนวโน้มลดลง แต่วิกฤติความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซียและยูเครนจะส่งผผลในเชิงจิตวิทยาที่กดดันให้ราคาพลังงานอยู่ในระดับสูงอย่างยาวนาน
ปัจจัยดังกล่าวทำให้ภาคอุตสาหกรรมต้องเข้าสู่โหมดการประหยัด ความหมายคือถ้าราคาพลังงานสูงขึ้น 10% อุตสาหกรรมต้องใช้พลังงานลดลง 10% เพื่อทำให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ในขณะเดียวกัน ยังต้องจับตาสถานการณ์สำคัญด้านความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ การเลือกตั้งในสหรัฐ รวมถึงผลการประชุมเอเปคที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงกลางเดือนพ.ย.นี้ อาจส่งผลในเชิงจิตวิทยาต่อภาคอุตสาหกรรม ภาคการบริการ รวมถึงการบริโภคทั่วโลกในอนาคต
“สำหรับการคาดการณ์ในปีหน้า ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด ส.อ.ท. ตั้งสมมติฐานไว้ว่าภาคการส่งออกจะหดตัวอย่างรุนแรง จึงอยากให้ภาคอุตสาหกรรมทุกส่วนเตรียมความพร้อมในความเป็นไปได้นี้ และมองการอยู่รอดในกรณีที่ต้องพึ่งพาแต่ตลาดในประเทศ โดยเตรียมตัวทั้งฝ่ายขายในการรักษาฐานลูกค้าเดิม การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต รวมทั้งการแสวงหาโมเดลธุรกิจใหม่ที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศและโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี”
เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ประจำเดือน ก.ย.2565 อยู่ที่ระดับ 91.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีฯ ยังต่ำกว่าระดับ 100 สะท้อนความเชื่อมั่นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับที่ไม่ดี
ทั้งนี้ องค์ประกอบดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกรายการ ทั้งดัชนีฯ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาครัฐประกาศยกเลิกโรคโควิด-19 จากโรคติดต่อร้ายแรง เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังภายหลังสถานการณ์ระบาดทั่วโลกคลี่คลายลง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศและภาคการท่องเที่ยว
สำหรับด้านการส่งออก ประเทศคู่ค้าเริ่มสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าเพื่อส่งมอบในช่วงปลายปี สะท้อนจากดัชนีฯ คำสั่งซื้อและยอดขายโดยรวมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดัชนีฯ ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนปรับตัวดีขึ้น จากมาตรการดูแลพลังงานของภาครัฐ รวมถึงปัญหาขาดแคลนชิปเริ่มคลี่คลายลง
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบในเดือนนี้ ได้แก่ ปัญหาอุทกภัย ในหลายจังหวัดได้สร้างความเสียหายต่อพื้นที่เกษตรและกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร ตลอดจนเป็นอุปสรรคต่อคมนาคมและขนส่งสินค้ารวมทั้งส่งผลกระทบต่อภาคการก่อสร้าง นอกจากนี้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ยังมีความกังวลเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันธนาคารพาณิชย์เริ่มมีการทยอยปรับดอกเบี้ยนอกกระดาน โดยพูดคุยกับลูกค้าที่มีกำลังในการจ่ายดอกเบี้ยที่สูงขึ้น รวมถึงความเสี่ยงเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอน
จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,310 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท.ในเดือน ต.ค.2565 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้นได้แก่ ราคาน้ำมัน 63.5% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 40.7%
ขณะที่ปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก 69.8% เศรษฐกิจในประเทศ 41.0% สถานการณ์การเมือง 38.0% อัตราแลกเปลี่ยน มุมมองผู้ส่งออก โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ 33.4% และสถานการณ์ระบาดของโควิด 30.8%
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอุตสหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 98.8 ปรับตัวลดลงจาก 101.8 ในเดือนกันยายน เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ตลอดจนความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังคงยืดเยื้อเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาคการส่งออกของไทย โดย ส.อ.ท. มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ดังนี้
1.การเตรียมแผนรับมือและป้องกันปัญหาอุทกภัยและน้ำแล้ง รวมทั้งเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการบริหารจัดการน้ำ การบูรณาการปรับปรุงผังเมือง ผังน้ำทั่วประเทศ และแก้ปัญหาสิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว รวมทั้งการออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากอุทกภัยให้ผู้ประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์และเครื่องจักรไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 100%
2.การเร่งขยายผลมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีประสิทธิผล เพื่อเป็นของขวัญรับปีใหม่และช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงท้ายปี 2565 อาทิ โครงการช้อปดีมีคืน ลดหย่อนภาษี 30,000 บาท โครงการคนละครึ่งเฟส 6 วงเงิน ขั้นต่ำ 3,000 บาท รวมทั้งเพิ่มจำนวนสิทธิ์โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เป็น 2 ล้านสิทธิ์
3.การพิจารณาปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการในสภาวะที่เศรษฐกิจมีความผันผวน โดยการพิจารปัจจัยที่มีผลต่อการคำนวณ อาทิ อัตราการสำรองพลังงานซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 51% เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง