เกษตร ดันไทยขึ้นแท่น “ผู้นำการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชเขตร้อนชื้นของโลก”
กรมวิชาการเกษตร ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเมล็ดพันธุ์พืชแห่งเอเชียและแปซิฟิค ครั้งที่ 27 ยกระดับเป้าหมายความมั่นคงอาหาร มุ่งสู่ “ผู้นำการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชเขตร้อนชื้นของโลก”
สืบเนื่องจาก การจัดประชุม APEC ระดับสูงด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร (APEC High-Level Policy Dialogue on Agriculture Biotechnology: APEC HLPDAB) พร้อมเชื่อมต่อนโยบายรัฐบาลด้านความมั่นคงอาหาร โดยมอบหมายให้ “กรมวิชาการเกษตร” เร่งพัฒนาการวิจัยเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์พืช ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพระดับสูง เพื่อยกระดับคุณภาพและผลผลิต ท่อนพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ให้เป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ (Seed-Hub) ของภูมิภาคเศรษฐกิจ APEC
กรมวิชาการเกษตร จึงได้ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเมล็ดพันธุ์พืชแห่งเอเชียและแปซิฟิค ( ASIAN Seed Congress ) ครั้งที่ 27 ประจำปี 2565 เพื่อผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางการค้าเมล็ดพันธุ์ระดับโลก โชว์ผลงานส่งเสริมการผลิตและส่งออกเมล็ดพันธุ์คุณภาพสูง พร้อมเปิดเวทีเจรจาการค้าเมล็ดพันธุ์ระหว่างประเทศ โดยมีผู้เข้าร่วมงานจากอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ทั่วโลกครอบคลุมมากกว่า 50 ประเทศกว่า 1,100 ราย
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า การประชุมเมล็ดพันธุ์พืชแห่งเอเชียและแปซิฟิค ประจำปี 2565 หรือ Asian Seed Congress 2022 เป็นการประชุมครั้งที่ 27 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-18 พฤศจิกายน 2565 ณ บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดยสมาคมเมล็ดพันธุ์พืชภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิค (APSA) และสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย (THASTA) เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงานประชุมเมล็ดพันธุ์ระดับชาติอย่างเป็นทางการ ร่วมกับ กรมวิชาการเกษตร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)
ซึ่งถือเป็นงานสำคัญของสมาคมเมล็ดพันธุ์พืชภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิคที่จัดขึ้นทุกปีในประเทศภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค เพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศที่เป็นสมาชิกของ APSA ได้เจรจาการค้าด้านธุรกิจเมล็ดพันธุ์ และเสริมสร้างศักยภาพผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการปรับปรุงพันธุ์พืช การผลิต และการค้าเมล็ดพันธุ์ในระดับภูมิภาค พร้อมอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายเมล็ดพันธุ์และการค้าขายอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งส่งเสริมการฝึกอบรม และแบ่งปันความรู้ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค และระดับโลก
กรมวิชาการเกษตรได้จัดทำโครงการสำคัญ หลายโครงการ ได้แก่
(1) ระบบบริการออนไลน์กรมวิชาการเกษตรระบบใหม่ (NEW DOA-NSW) ที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออก และการนำผ่านของด่านตรวจพืช ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ
(2) การให้บริการใบรับรองปลอดศัตรูพืชอิเล็กทรอนิกส์ (E–Phyto) แก่ผู้ประกอบการ
(3) การรับรองห้องปฏิบัติการตรวจสอบสุขอนามัยเมล็ดพันธุ์พืชให้แก่ภาคเอกชน (Seed Health Test Lab Accreditation)
และ(4) การพัฒนาห้องปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ของกรมวิชาการเกษตรให้เทียบเท่าระดับสากล
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจสำคัญของกรมวิชาการเกษตรในการทำงานด้วยความชัดเจน รวดเร็ว ทันสถานการณ์ ลดขั้นตอนและภาระงาน เพิ่มประสิทธิภาพในการผ่านพิธีการศุลกากรของสินค้าไทย ทั้งต้นทางและปลายทาง เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในระบบการตรวจสอบศัตรูพืชของไทย ต่อยอดให้อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์การค้าเมล็ดพันธุ์ของไทยเติบโตในตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง ผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพสูงโดยเกษตรกรไทยสู่ทุกภูมิภาคของโลก พร้อมกับยกระดับเป้าหมายให้ประเทศไทย เป็น “ผู้นำด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชเขตร้อนชื้น (World Leader of Tropical Seeds)”
อนึ่ง ศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ของกรมวิชาการเกษตร ประกอบด้วย
1.กลุ่มเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเหลืองพันธุ์เชียงใหม่ 60 ถั่วเหลืองฝักสดพันธุ์เชียงใหม่ 84-2 ถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท72, ชัยนาท 3 ถั่วลิสงพันธุ์ไทนาน 9 ,ขอนแก่น 6, ขอนแก่น 9 เฉลี่ย 2000 ตัน/ปี
2. กลุ่มเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด (รวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าวโพดอื่นๆ) เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นครสวรรค์ 3 และนครสวรรค์ 5, ข้าวโพดหวานสงขลา 84-1 เฉลี่ย 150 ตัน/ปี
3. กลุ่มเมล็ดพันธุ์ผัก เช่น พริกขี้หนูผลใหญ่ ศก 1 พริกขี้หนูหัวเรือ ศก.13 ถั่วฝักยาวพิจิตร 2 ถั่วฝักยาวพิจิตร 3 ผักบุ้ง พิจิตร 1 กระเจี๊ยบเขียวพิจิตร 1 เฉลี่ย 5 ตัน/ปี โดยประเทศไทยมีปริมาณการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ควบคุม ปี 2564 ประมาณ 8,300 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,400 ล้านบาท และส่งออกเมล็ดพันธุ์ควบคุม ปี 2564 ประมาณ 32,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 7,200 ล้านบาท
“กรมวิชาการเกษตรมุ่งมั่นขยายความร่วมมือกับภาคเอกชน ผู้ประกอบการ เพื่อดูแลเกษตรกรไทยให้เข้าถึงเมล็ดพันธุ์พืชคุณภาพสูงในราคาที่เป็นธรรม ตามเป้าหมายของประเทศไทยด้านความมั่นคงอาหาร ภายใต้ความตกลง APEC Declaration on Food Security ของรัฐมนตรีเกษตรและอาหาร APEC และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน