ปิดฉากประชุมเอเปค รับรองปฏิญญา 2 ฉบับ 'ผู้นำ APEC 2022' - 'Bangkok Goals'
ปิดฉากการประชุมผู้นำเอเปคที่ไทย ประยุทธ์ แถลงผลสำเร็จ ต้อนรับผู้นำ คู่สมรส ต่างชาติกว่า 5 พันคนตลอดสัปดาห์ ผู้นำรับรองปฏิญญา 2 ฉบับ 'ผู้นำ APEC 2022' - 'Bangkok Goals' ส่งมอบตำแหน่งประธานเอเปคให้สหรัฐฯสานต่อความร่วมมือภูมิภาค เผยทุกชาติแสดงความเป็นห่วงอาวุธนิวเคลียร์
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานที่ประชุม APEC 2022 เข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 รูปแบบ Retreat ช่วงที่ 2 หัวข้อ “การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน” ณ ห้อง Plenary Hall 2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมในเวลา 12.30 น. นายกรัฐมนตรีได้แถลงข่าวใจความสำคัญว่า
การประชุมเอเปค ครั้งนี้ปิดฉากลงแล้วอย่างสวยงาม ต้องขอขอบคุณทุกคนต้องการจะเห็นเอเปคได้ยืนหยัดทำงาน เพื่อให้เอเปคได้ยืนหยัดท่ามกลางสภาวะโลกที่ผันผวนเพื่อเสริมความเติบโตและอนาคตของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค
โดยตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาไทยได้ต้อนรับคณะผู้นำพร้อมคู่สมรส และแขกผู้มีเกียรติรวมทั้งสิ้นกว่า 5,000 คน ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีที่ได้มีการประชุมแบบพบหน้ากัน ผู้นำเอเปค ได้มีการหารือกับแขกพิเศษได้แก่ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และมงกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งได้พูดคุยกับภาคเอกชน ได้มีการรับฟังผู้นำเอกชนและเยาวชน
ส่วนประเด็นที่ได้มีการพูดคุยกันในประเทศไทยที่ได้ห่วงกังวลในเรื่องของ อาวุธนิวเคลียร์ ในประเด็นดังกล่าว ได้มีการพูดคุยกันแล้วว่าทุกประเทศมีความเป็นห่วงในประเด็นนี้
ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ร่วมกันรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์ จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่
- ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ประจำปี ค.ศ. 2022
- เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG (Bangkok Goas)
จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้ร่วมพิธีส่งมอบตำแหน่ง เจ้าภาพเอเปค ให้สหรัฐอเมริกา โดยรู้สึกเป็นเกียรติและภาคภูมิใจที่ไทยได้เป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ปี 2565 พร้อมขอบคุณการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากทุกเขตเศรษฐกิจมาโดยตลอด
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การค้าและการลงทุนมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาคและโลก การค้าและการลงทุนถือเป็นหัวใจสำคัญของความร่วมมือใน เอเปค โดยองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งที่เอเปคสนับสนุน และสนับสนุนมาโดยตลอด คือ ระบบการค้าพหุภาคี มี WTO เป็นแกนหลัก ทั้งนี้ เอเปคสามารถมีบทบาทในฐานะแหล่งบ่มเพาะทางความคิด โดยร่วมกันหาทางออกใหม่ๆ เพื่อขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ อาทิ ความครอบคลุม ความยั่งยืน และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล
การสนับสนุนสำคัญอย่างหนึ่งของเอเปคในระบบการค้าพหุภาคี คือ การขับเคลื่อนวาระเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia- Pacific: FTAAP) ที่ในปีนี้มีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยจัดทำแผนงานต่อเนื่องหลายปีเพื่อขับเคลื่อนวาระเรื่อง FTAAP ต่อไป ซึ่งจะช่วยสร้างศักยภาพและเตรียมเศรษฐกิจให้พร้อมสำหรับยุคหน้า รวมถึงประเด็นการค้าและการลงทุนยุคใหม่ เช่น ความยั่งยืน เศรษฐกิจดิจิทัล การค้า และสาธารณสุข
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าในฐานะประธานการประชุมในปีนี้ได้ส่งมอบตำแหน่งให้แก่ สหรัฐอเมริกา เจ้าภาพเอเปค ในปีถัดไป ทั้งนี้ เอเปคกำลังอยู่ในจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ ไทยพร้อมร่วมมือกับสหรัฐฯ ขับเคลื่อนงานของเอเปคต่อไปอย่างไร้รอยต่อ และมั่นใจว่า ประเด็นด้านความยั่งยืนและครอบคลุม ซึ่งระบุในเป้าหมายกรุงเทพฯ ที่เราได้ร่วมกันวางรากฐานไว้เป็นอย่างดี จะได้รับการสานต่อในปีหน้า ภายใต้หัวข้อหลักของการเป็น เจ้าภาพเอเปค ของสหรัฐอเมริกา เชื่อมั่นว่า ภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกา เอเปคจะได้รับการส่งเสริมเป็นอย่างดี พร้อมอวยพรให้ประสบความสำเร็จในการเริ่มต้นวาระการเป็นเจ้าภาพเอเปคปี 2566
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้มอบ “ชะลอม” เป็น ของที่ระลึกเอเปค ให้กับผู้นำ โดยถือเป็นสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคในปีนี้ เป็นภูมิปัญญาไทยที่ใช้ในการขนส่งสินค้า บรรจุของใช้ยามเดินทาง และใส่ของขวัญสำหรับมอบให้แก่ญาติมิตร
โดย “ชะลอม” สะท้อนการ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” และรูปแบบการทำงานของเอเปคได้เป็นอย่างดี ทั้งการผสานความเข้มแข็งที่หลากหลายและความพยายามของเขตเศรษฐกิจสมาชิกเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิกที่เข้มแข็ง ยืดหยุ่น ครอบคลุม และยั่งยืน สาหรับชนรุ่นหลังของเรา
โดยนายกรัฐมนตรีรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่จะส่งมอบ “ชะลอม” ใบนี้ ให้เป็นทั้งของขวัญ และสัญลักษณ์ของความเข้มแข็ง ยืดหยุ่น