อนาคตเศรษฐกิจไทยในมุมมองนักลงทุน | บัณฑิต นิจถาวร
การประชุมใหญ่ในภูมิภาคที่เพิ่งจบไปทั้งสามเวทีคือ US-ASEAN Summit การประชุม G20 และ APEC ให้ความรู้สึกว่าเศรษฐกิจโลกจากนี้ไปจะยากขึ้น บรรยากาศจะไม่สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกเหมือนก่อน
เพราะความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจคือ สหรัฐกับจีนและปัญหาภูมิศาสตร์การเมืองที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ในภาวะที่ยากขึ้นนี้ สิ่งที่อยากรู้คือ
นักลงทุนต่างประเทศมองเศรษฐกิจไทยอย่างไร ว่าเราจะสามารถก้าวข้ามความท้าทายที่จะมีมากขึ้นได้หรือไม่ และอะไรคือจุดห่วงของนักลงทุน นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
ในความเห็นของผม การประชุมทั้งสามเวทีที่เพิ่งจบไปทำให้เราเห็นชัดว่า
หนึ่ง ความขัดแย้งระหว่างเศรษฐกิจอันดับหนึ่งและอันดับสองของโลกคือสหรัฐกับจีนนั้นมีจริง ค่อนข้างตึงเครียดและลึก ทําให้เศรษฐกิจโลกจะไม่กลมเกลียวเหมือนก่อน และความหวังที่จะเห็นสองประเทศนี้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาที่เศรษฐกิจโลกมีคงไม่เกิดขึ้นง่ายและเร็ว
สอง ปัญหาภูมิศาสตร์การเมือง โดยเฉพาะสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนจะลากยาวเพราะไม่มีใครยอมใครและจะกระทบเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะเรื่องพลังงานและอาหารต่อไปอีกนาน
สาม เศรษฐกิจการเมืองโลกจากนี้ไปจะมีช่องว่างมาก เปิดพื้นที่ให้ประเทศที่ใหญ่และมีรัฐบาลหรือรัฐเข้มแข็งจะขยายอิทธิพลของตนทั้งเศรษฐกิจและการเมืองเข้าไปในประเทศอื่น เป็นเรื่องที่ประเทศเล็กๆ อย่างไทยต้องระวังและต้องพยายามพึ่งตนเองให้มากสุดโดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ
คำถามคือ ประเทศไทยจะก้าวข้ามความท้าทายที่มากับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ดีแค่ไหน
ในสายตานักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งผมได้มีโอกาสพบในช่วงที่เอเปคมีการประชุม สิ่งที่ได้รับการยืนยันคือไทยยังเป็นประเทศที่นักลงทุนชอบ คือชอบมา ชอบบรรยากาศความเป็นมิตรของคนไทย ชอบอาหาร ชอบวัฒนธรรมไทย
แต่สิ่งที่คนไทยต้องยอมรับคือเศรษฐกิจไทยและสถานะของประเทศในเวทีต่างประเทศได้ถดถอยลงต่อเนื่องในช่วงสิบห้าปีที่ผ่านมา จากที่เศรษฐกิจเติบโตในอัตราที่ต่ำต่อเนื่องและบางปีตํ่าสุดในอาเซียน
ในเวทีต่างประเทศ ประเทศไทยไม่มีผู้นำนักการเมือง ข้าราชการระดับสูง หรือแม้แต่นักธุรกิจที่จะสร้างความประทับใจ สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนในแง่การบริหารจัดการประเทศ ในแง่การพัฒนาประชาธิปไตยที่จะได้ผู้นำที่มาจากฉันทามติของประชาชน ประเทศไทยก็ถอยหลังมากกว่าเดินหน้า ไม่เหมือนเกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย
พลวัตของสิ่งเหล่านี้ทำให้ประเทศไทยพลาดหรือเสียโอกาสในช่วงสิบห้าปีที่ผ่านมาในหลายเรื่อง เพราะการตัดสินใจด้านนโยบายที่ไม่ดีพอ หรือไม่ได้ทำในสิ่งที่ควรทำเพื่ออนาคตของประเทศ
หนึ่ง ความไม่พร้อมที่จะปฏิรูปหรือปรับตัวโดยเฉพาะเพื่อรับกระแสความไม่เป็นหนึ่งเดียวของเศรษฐกิจโลกหรือ deglobalization ที่โลกาภิวัตน์จะไม่ใช่กลไกขับเคลื่อนการค้าโลกอีกต่อไป แต่จะเป็นการรวมตัวกันในระดับภูมิภาคแทนเพื่อรักษาไว้ซึ่งขนาดของตลาดที่ใหญ่และเพื่อรองรับการขยายการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อใช้ประเทศเป็นฐานการผลิต
ตัวอย่างที่ดีคือประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกเขตเศรษฐกิจ RCEP แต่ไม่เข้าเป็นสมาชิกเขตเศรษฐกิจ CPTTP เพราะไม่พร้อมที่จะปรับตัวตามเงื่อนไขที่ประเทศสมาชิก CPTTP จะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการค้าที่สูงขึ้น ซึ่งหมายถึงการปฏิรูปภาคการผลิตของประเทศเพื่อให้ได้มาตรฐานที่สูง
เช่น เกษตร ขณะที่ มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม เป็นสมาชิก CPTTP และพร้อมปรับตัว ทําให้สามประเทศนี้เหนือกว่าไทยมากขณะนี้ในการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ
สอง ความสามารถในการแข่งขันในเศรษฐกิจโลกได้เปลี่ยนไปจากค่าจ้างแรงงานต่ำไปสู่การใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และคุณภาพของแรงงาน ซึ่งประเทศไทยไม่ได้มีการปฏิรูปจริงจังเพื่อเตรียมในเรื่องนี้ โดยเฉพาะเรื่องทักษะแรงงานและการศึกษา
ผลคือ ผลิตภาพการผลิต (Marginal Productivity) ของเศรษฐกิจตํ่ามาก แข่งขันไม่ได้ ขณะที่การลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่มาจากนโยบายรัฐก็ไม่สอดคล้องกับทรัพยากรและความได้เปรียบที่ประเทศมี และไม่เชื่อมต่อกับประโยชน์เช่นการจ้างงานที่คนส่วนใหญ่ควรได้
สาม ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่จะเจอปัญหาประชากรสูงวัยที่รุนแรง แต่ไม่ชัดเจนจากนโยบายรัฐบาลว่าได้เตรียมความพร้อมในเรื่องนี้อย่างไร ทั้งเรื่องกําลังแรงงานที่ประเทศจะมี คุณภาพ ทักษะ และความสามารถของแรงงานเหล่านี้
ที่สำคัญ ประชากรสูงวัยจะเป็นภาระมากสําหรับคนที่อยู่ในวัยทำงาน ที่ต้องเลี้ยงดูคนสูงวัยที่ไม่มีรายได้เหล่านี้ และเป็นภาระต่อฐานะการคลังของประเทศ
นักลงทุนมองว่าปัญหาประชากรสูงวัยจะเป็นตัวถ่วงการเติบโตของเศรษฐกิจไทยรวมทั้งความเป็นอยู่ของคนรุ่นใหม่ จากภาระหนี้สาธารณะและความเหลื่อมลํ้าที่คนรุ่นปัจจุบันได้สร้างไว้
นี่คือปัญหาและความอ่อนแอของเศรษฐกิจไทยในสายตาของนักลงทุนต่างประเทศ ทําให้ประเทศเราขณะนี้ดูไม่เด่นและดูขาดศักยภาพที่จะก้าวไปข้างหน้าเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาค เช่น เวียดนามและอินโดนีเซีย
ผลคือสองประเทศนี้ได้รับการสนับสนุนต่อเนื่องจากนักลงทุนต่างประเทศ จากศักยภาพที่จะเติบโตและความเชื่อมั่นที่นักลงทุนมีต่อผู้นำประเทศหรือ leadership ทั้งในแง่วิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนประเทศและผลงานที่จับต้องได้
ความเห็นที่ตรงไปตรงมาแบบนี้สําคัญ เป็นประโยชน์ และเป็นสิ่งที่ควรรับทราบ.
เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร. บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล