ชาวสวนโอดราคายาง 'ทรุด' ต่อเนื่อง ปริมาณออกสู่ตลาดน้อย แต่สวนทางกับราคา
ชาวสวนโอดราคายางตกต่ำต่อเนื่อง ขณะที่ฝนตกไม่ได้กรีด ปริมาณน้ำยางสดออกสู่ตลาดน้อยมาก แต่สวนทางกับราคา ด้านชาวสวนบอก ฝนตกเดือนที่ผ่านมาได้กรีดเพียงประมาณ 3-5 วัน ในเดือนนี้คนที่ยอมเสี่ยงออกไปกรีด ได้กรีดแล้วประมาณ 8 วัน
ชาวสวนโอดราคายางตกต่ำต่อเนื่อง ขณะที่ฝนตกไม่ได้กรีด ปริมาณน้ำยางสดออกสู่ตลาดน้อยมาก แต่สวนทางกับราคา ด้านชาวสวนบอก ฝนตกเดือนที่ผ่านมาได้กรีดเพียงประมาณ 3-5 วัน ในเดือนนี้คนที่ยอมเสี่ยงออกไปกรีด ได้กรีดแล้วประมาณ 8 วัน แต่คนที่ไม่กล้ากรีดเป็นห่วงหน้ายางจะเสียหาย ได้กรีดในวันที่ฝนหยุดตก อากาศดีเพียงประมาณ 3 วัน ส่วนที่เหลือหยุดกรีด ขณะที่ราคายางปรับลดลงครั้งละ 1-2 บาท แต่เวลาจะขึ้นครั้งละ 50 สตางค์ถึง 1 บาท เท่านั้น วอนภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหาให้ได้ที่กก.ละ 50-60 บาท ก็อยู่ได้ ทางด้านผู้บริหารสหกรณ์ เชื่อ ราคายางที่เป็นอยู่ขณะนี้ไม่ใช่ราคาที่สะท้อนความเป็นจริง แต่มีกลุ่มที่พยายามบิดเบือนราคา โดยการกดราคา เอาเปรียบชาวสวน วอนหน่วยงาน กยท.ซึ่งมีหน้าที่ดูแลชาวสวนยางโดยตรง ทำงานอย่างตรงไปตรงมา เพื่อช่วยเหลือชาวสวนยาง
เกษตรกรเจ้าของสวนยางพาราในพื้นที่ภาคใต้ และของจ.ตรัง กำลังประสบปัญหาอย่างหนักจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำ และปัญหาฝนตกชุกในพื้นที่ ทำให้ได้รับความเดือดร้อนจากการที่กรีดยางพาราไม่ได้ ทำให้เห็นสภาพทั่วไปของสวนยางพาราส่วนใหญ่จะหยุดกรีดต่อเนื่องกันมาหลายวัน เนื่องจากฝนตกโปรยปรายเป็นระยะๆ ส่วนใหญ่จะไม่กล้าออกกรีด เพราะเป็นห่วงหน้ายางจะเสียหาย จึงหยุดกรีดส่วนใหญ่ ส่วนที่คนกรีดในขณะนี้เป็นส่วนน้อย จากเดิมที่เคยกรีดปกติในสภาพอากาศดีจะเริ่มออกกรีดยางในเวลาประมาณเที่ยงคืน หรือประมาณตีหนึ่งของทุกคืน แต่จากการสอบถามคนที่ออกมากรีดนั้น บอกว่าออกมากรีดในเวลาประมาณ 03.00 น. หรือ 04.00 น. ชิงจังหวะที่ฝนหยุดโปรยปราย และกรีดได้ไม่หมด โดยทางชาวสวนบอกว่าหากวันไหนได้กรีด ขายน้ำยางก็ไม่ได้ราคา เนื่องจากขณะนี้ราคารับซื้อที่จุดรับซื้อทั่วไทยภายในตำบลหมู่บ้าน ราคาน้ำยางสดอยู่ที่กก.ละละ 37 – 38 บาทเท่านั้น ส่วนราคาที่สหกรณ์รับซื้อน้ำยางสด เพื่อผลิตยางแผ่นรมควัน จะรับซื้อในราคาประมาณกก.ละ 41 บาท สูงกว่าราคาจุดรับซื้อทั่วไปประมาณ 2 บาท เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรสมาชิก
โดยนางประจวบ แสงวรรณ อายุ 59 ปี ชาวสวนหมู่ 2 ต.ทุ่งต่อ อ.ห้วยยอด จ.ตรัง พร้อมด้วยสามี บอกว่า ในเดือนนี้ได้กรีดยางพาราเพียงประมาณ 8 วันเท่านั้น เพราะฝนตก ส่วนเดือนตุลาคมที่ผ่านมาได้กรีด 3 วัน ส่วนที่ออกมากรีดก็มาตอนประมาณ03.00 น.แล้ว เพราะห่วงว่าฝนจะตกหนัก เพราะตอนเย็นและตอนค่ำฝนตกลงมาแล้ว จากเดิมหากสภาพอากาศดีจะกรีดตั้งแต่ประมาณเที่ยงคืน ซึ่งราคายางตกต่ำต่อเนื่อง เวลาขึ้นครั้งละ 50 สตางค์ถึง 1 บาท แต่เวลาจะลงครั้งละ 2 บาท และราคาตกต่ำต่อเนื่อง ซึ่งเดือดร้อนหนัก เพราะต้องส่งลูกเรียนหนังสือระดับปริญญาตรีถึง 2 คน ค่าใช้จ่ายเดือนละประมาณ 2-3 หมื่นบาท เฉพาะที่จะต้องส่งลูกเรียนหนังสือ อยากให้รัฐแก้ปัญหา ให้ได้ที่ราคากก.ละ 50-60 บาท ก็อยู่ได้ ซึ่งพวกตนก็ไม่เข้าใจว่าทำไมยางพาราตกต่ำ ทั้งๆนี้มีการใช้ยางจำนวนมาก
ส่วนที่สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านทุ่งต่อ จำกัด ในวันนี้ราคาน้ำยางสด สหกรณ์รับซื้อจากสมาชิกที่กก.ละ 41 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาที่จุดรับซื้อตามหมู่บ้านทั่วไปประมาณ 2 บาท เพราะต้องการช่วยเหลือสมาชิก
โดยนายชอบ ประจงใจ ผู้จัดการสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านทุ่งต่อ จำกัด ต.ทุ่งต่อ อ.ห้วยยอด กล่าวว่า สมาชิกสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านทุ่งต่อ มีสมาชิกสหกรณ์รวมกว่า 200 ราย ในวันนี้กรีดยางได้เพียงประมาณ 6-7 รายเท่านั้น เนื่องจากฝนตกโปรยปราย ทำให้ชาวสวนไม่กล้าออกกรีด โดยตลอด 2 เดือน คือ เดือนตค.-พย.นี้ ชาวสวนยางได้กรีดยางรวมกันประมาณ 12 วันเท่านั้น ส่วนที่เหลือฝนตกตลอด ทำให้ต้องหยุดกรีด ขณะที่ราคายางตกต่ำต่อเนื่อง ส่วนปุ๋ยก็มีราคาแพงมากซึ่งตนมองว่าราคายางที่เป็นอยู่ขณะนี้นั้น ไม่ใช่ราคาที่สะท้อนความเป็นจริง โดยราคาที่สะท้อนความเป็นจริง น้ำยางสดไม่น่าจะต่ำกว่ากก.ละ 50 บาท แต่ขณะนี้ต้องถามไปยังการยางแห่งประเทศไทย ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงควรจะหาทางแก้ไขปัญหาให้ชาวสวน ทั้งนี้ หากวันไหนที่กยท.เข้าไปซื้อในตลาดกลางจะได้ราคาชี้นำ แต่หากวันไหนกยท.ไม่เข้าไปซื้อบริษัทผู้รับซื้อน้ำยางก็จะทุบราคาให้ต่ำลงมาตลอด ซึ่งการยางแห่งประเทศไทย ไม่ควรจะเข้าซื้อบ้างไม่เข้าซื้อบ้าง เพราะทำไม่ต่อเนื่องจึงเกิดปัญหา ควรทำหน้าที่ของตัวเอง รักษาผลประโยชน์ของชาวสวน ซึ่งผลผลิตก็ออกน้อย แต่ราคาตกต่ำ ทั้งๆที่การใช้ยางมีการใช้ทุกวัน แต่ราคาตกต่ำ ซึ่งเกษตรกรเดือดร้อนหนัก พร้อมเรียกร้องให้กยท.เร่งก่อสร้างโรงงานน้ำยางข้น เพราะจะสามารถเก็บสต๊อกน้ำยางสดไว้ได้ เพื่อรอจังหวะโอกาสขายในช่วงที่ราคาดีขึ้น หากราคาตกต่ำเราก็สต๊อกเก็บไว้ จึงเรียกร้องให้มีโรงงานน้ำยางข้นเกิดขึ้นในพื้นที่ เพราะไม่มีจึงทำให้เกษตรกรเดือดร้อนอยู่จนถึงขณะนี้