ศก.โลกปี 66 ส่อเค้าย่ำแย่เหมือนช่วงวิกฤตการเงินปี 52 เหตุสงครามยืดเยื้อ

ศก.โลกปี 66 ส่อเค้าย่ำแย่เหมือนช่วงวิกฤตการเงินปี 52 เหตุสงครามยืดเยื้อ

สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IIF) คาดการณ์ว่า ศก.โลกในปี 2566 มีแนวโน้มอ่อนแอลงเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในปี 2552 ซึ่งเป็นปีที่เกิดวิกฤตการเงินโลก

สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IIF) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2566 มีแนวโน้มอ่อนแอลงเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในปี 2552 ซึ่งเป็นปีที่เกิดวิกฤตการเงินโลก โดย IIF ระบุว่า ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนมีความเสี่ยงที่จะบานปลายกลายเป็น "สงครามที่ไม่มีวันจบสิ้น"

ทีมนักเศรษฐศาสตร์ของ IIF ซึ่งนำโดยนายโรบิน บรูกส์ และนายโจนาธาน ฟอร์จูน คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวเพียง 1.2% ในปี 2566 ซึ่งเป็นระดับเดียวกับในปี 2552

"ความรุนแรงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ทั่วโลกนั้น จะขึ้นอยู่กับแนวโน้มของสงครามในยูเครน สมมติฐานเบื้องต้นของเราก็คือ การสู้รบจะยืดเยื้อออกไปจนถึงปี 2567 เมื่อพิจารณาจากการที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซียยังคงดึงดันที่จะเอาชนะในสงครามครั้งนี้" ทีมนักเศรษฐศาสตร์ของ IIF กล่าว

ทั้งนี้ IIF ระบุว่า ผลกระทบของสงครามจะส่งผลให้เศรษฐกิจในภูมิภาคยุโรปชะลอตัวลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก โดยคาดว่า เศรษฐกิจยูโรโซนจะหดตัวลง 2% หลังจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจทรุดตัวลงอย่างมาก ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐนั้นคาดว่าจะขยายตัว 1%

ขณะที่เศรษฐกิจในลาตินอเมริกามีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่า โดยคาดว่าจะขยายตัวราว 1.2% เนื่องจากกลุ่มผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ในภูมิภาคนี้จะได้รับประโยชน์จากราคาอาหารและพลังงานที่สูงขึ้น
 

นอกจากนี้ IIF ระบุว่า จีนจะเป็นแรงขับเคลื่อนเดียวและเป็นแรงขับเคลื่อนใหญ่ที่สุดที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจโลกในปี 2556 เนื่องจากรัฐบาลจีนมีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคโควิด-19

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า นายโรบิน บรูกส์ ซึ่งเป็นหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IIF เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญที่เรียกร้องให้สกุลเงินยูโรมีค่ากับดอลลาร์สหรัฐแบบ 1:1

นอกจากนี้ เขายังเคยคาดการณ์ได้อย่างถูกต้องว่าเงินเรียลของบราซิลจะแข็งค่าขึ้น ซึ่งทำให้เขามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในแวดวงผู้ใช้งานทวิตเตอร์