แปดพันล้านคน รวมกันเราอยู่
สหประชาชาติประเมินว่า วันที่ 15 พ.ย. 2565 จำนวนประชากรโลกนับรวม 8,000 ล้านคน ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนที่สูงสุดในประวัติศาสตร์
ประชากรเพิ่มขึ้นจาก 7,000 ล้านคน เป็น 8,000 ล้านคน ใช้เวลา 12 ปี และอีก 15 ปี จนถึงปี 2580 ประชากรโลกจะถึง 9,000 ล้านคน (ซึ่งเป็นสัญญาณว่าการเพิ่มประชากรของโลกจะมีอัตราลดลง)
การมีปากท้องต้องดูแลเพิ่ม จะทำให้ทรัพยากรของโลกขาดแคลน จะเกิดปัญหาความขัดแย้ง แย่งชิงเพื่อความอยู่รอด ซึ่งจะนำมาสู่ความไม่สงบ กลายเป็นอาชญากรรมระดับท้องถิ่น และขยายวงกว้างถึงสงครามระหว่างประเทศหรือไม่
การประชุมใหญ่ทั่วโลกระยะนี้มักพูดถึงความมั่นคงทางอาหาร ควบคู่กับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การทำมาหากินเพื่อความอยู่รอดได้รับความสนใจ และมีน้ำหนักทางการเมือง มากกว่าปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งมักจะถูกมองว่าเป็นเรื่องในอนาคต
ภัยธรรมชาติหลายอย่างเกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์ สงคราม โรคระบาด สินค้าราคาแพง พลังงานขาดแคลน ความเหลื่อมล้ำของรายได้ระดับบุคคล และช่วงว่างระหว่างประเทศรวยและจน เหล่านี้ ทำให้เกิดความระแวงในเวทีการเมืองโลก
กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว มีฐานะเศรษฐกิจสังคมสูงกว่า ส่งสัญญาณจับกลุ่มสามัคคีกัน รักษาระเบียบโลกแบบปัจจุบัน ให้ต่อเนื่องไปอีก หรือซื้อเวลาไปก่อน ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นประเทศที่ด้อยโอกาส หรือกำลังพัฒนาทั้งหลาย ส่งสัญญาณเชิญชวนให้ร่วมมือกัน จัดระเบียบโลกใหม่ หรืออย่างน้อยเปิดทางเลือกเพิ่มขึ้น
ความขัดแย้งของสองกระแสนี้เกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว ในปีนี้ 2565 เปรียบเสมือนปีวัดดวงว่า ประชาคมโลกจะแตกร้าว แยกขาดเป็นสองขั้ว หรือจะหาทางประนีประนอม แข่งขันแบบมีกติกา ต่อไปได้หรือไม่
หลายคนรอคอยเดือนพ.ย.ว่า ผลของการประชุมใหญ่ทั้งสามใน ASEAN จะออกมาเป็นอย่างไร
ข่าวดีก็คือ ผลการประชุม ASEAN ที่พนมเปญ การประชุม G20 ที่บาหลี และการประชุม APEC ที่กรุงเทพฯ สรุปบรรยากาศโดยทั่วไปแล้วเป็นที่น่าพอใจ ผู้นำของประเทศเศรษฐกิจใหญ่ทั้งหลายได้อุ่นเครื่องที่พนมเปญ ติดตามผลที่บาหลี และมาสรุปที่กรุงเทพฯ ด้วยสัญญาณของความอยากปรับปรุงความร่วมมือ
ตัวอย่างหนึ่งคือประชุมเจรจาตัวต่อตัว ของผู้นำสหรัฐอเมริกาและจีน เปิดทางให้เจ้าที่ชั้นสูงหาทางทำงานร่วมกัน
เรื่องนี้น่าวิเคราะห์ว่าอะไรเป็นเหตุผลสำคัญ ช่วยลดอุณหภูมิความขัดแย้งของสองยักษ์ใหญ่นี้ ความเห็นส่วนตัวของผมแล้ว คิดว่าเรื่องของประชากรน่าจะเป็นส่วนที่เราต้องพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง
ปี 2558 รัฐบาลจีนประกาศเปลี่ยนนโยบายเรื่องลูกคนเดียว (one-child policy) หันมาส่งเสริมให้มีลูกสองคน (two-child policy) เนื่องจากแนวโน้มของอัตราการเกิดน่าเป็นห่วง ผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก แต่คนวัยทำงานซึ่งเป็นผู้เลี้ยงดูภาระสังคมของผู้สูงอายุนั้น เพิ่มจำนวนไม่ได้สัดส่วนสมดุล แนวโน้มในอนาคตน่าเป็นห่วง ปี2563 อัตราการเกิดของจีนตกมาที่ 1.3% ซึ่งไม่เพียงพอต่อการทดแทนจำนวนประชากร ซึ่งโดยมาตรฐานแล้วจะอยู่ที่ 2.1%
ปี2564 รัฐบาลจีนเพิ่มมาตรการเร่งด่วนเปลี่ยนจาก “มีลูกสองคน ให้เป็นมีลูกสามคน (three-child polcy)” แต่ในปีนั้นอัตราการเกิดตกลงมาอีกเหลือ 1.15% สหประชาชาติประเมินว่าจำนวนประชากรชาวจีนปัจจุบันจะไม่เพิ่มและเริ่มลดลงแล้ว
ขณะเดียวกัน ปี2564 เด็กเกิดในอินเดีย 23 ล้านคน เปรียบเทียบกับจีนซึ่งมีเด็กเกิดในปีนั้นเพียงแค่ 13 ล้านคน ซึ่งแนวโน้มนี้จะทำอินเดียมีประชากรมากกว่าจีน และอายุเฉลี่ยของชาวอินเดียในปัจจุบันต่ำกว่าจีนอยู่แล้ว
ประชากรจีนมีจำนวน 1,439 ล้านคน ส่วนอินเดียมีประชากร 1,380 ล้านคน อายุเฉลี่ยชาวจีน 39 ปี อินเดีย 28 ปี
ข่าวเศรษฐกิจที่เราได้ยินกันมากระยะนี้ คือความกดดันของชาวตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ ทำให้หลายบริษัทใหญ่ในโลกที่มีฐานการผลิตสินค้าการผลิตสินค้าและเทคโนโลยีสำคัญในจีน ได้โยกย้ายออกไปประเทศอื่น ซึ่งมักจะเป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดสูงกว่าจีน และอายุเฉลี่ยต่ำกว่า เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม เป็นต้น
(ประชากรอินโดนีเซีย 273 ล้านคน อัตราการเกิด 2.27% อายุเฉลี่ย 29 ปี
ประชากรชาวเวียดนาม 97 ล้านคน อัตราการเกิด 2.05% อายุเฉลี่ย 32.5 ปี)
หากเราพิจารณานอกภูมิภาคนี้ จะเห็นตัวเลขที่น่าสังเกตเป็นพิเศษคือ อายุเฉลี่ยของชาวยุโรป 44 ปี ขณะเดียวกันชาวแอฟริกันนั้นเพียง 17 ปี
การโยกย้ายถิ่นฐาน ทั้งถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย ของพลเมืองจากประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งมีอัตราการเกิดสูงกว่าและอายุน้อยกว่า เช่นจากแอฟริกาเข้ายุโรป หรือการโยกย้ายฐานผลิตสินค้าจากจีน ไปสู่ประเทศที่ประชากรในวัยเด็กและวัยทำงาน เพิ่มขึ้นในอัตราส่วนมากกว่าจีน เป็นตัวอย่างที่อาจชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของประชากร ว่าคือปัจจัยที่ทำให้ผู้นำของประเทศทั้งหลายเหล่านี้ยอมหาทางออก เพื่อความอยู่รอดระยะยาว
แปดพันล้านคน รวมกันเราอยู่ แยกหมู่ "อันตราย” ครับ