อังค์ถัดคาดแนวโน้มศก.โลกซบฉุดขนส่งทางทะเลชะลอ
อังค์ถัดคาดการณ์ว่า การค้าทางทะเลทั่วโลกจะขยายตัวเฉลี่ย 1.4% ในปี 2565 และ 2566 ลดลงจากที่ขยายตัว 3.2% ในปี 2564
ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวเพราะผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ ประกอบกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังเป็นปัญหาในหลายประเทศทำให้ปริมาณการค้าทั่วโลกพลอยซบเซาตามไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยล่าสุด การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) คาดการณ์ว่า กิจกรรมการจัดส่งสินค้าทางทะเลทั่วโลกอาจชะลอตัวในปีหน้า
รายงานตรวจสอบการขนส่งทางทะเลประจำปี 2565 (Review of Maritime Transport for 2022) ของอังค์ถัด คาดการณ์ว่า การค้าทางทะเลทั่วโลกจะขยายตัวเฉลี่ย 1.4% ในปี 2565 และ 2566 โดยตัวเลขดังกล่าวลดลงจากที่ขยายตัวประมาณ 3.2% ในปี 2564 และปริมาณการขนส่งโดยรวมอยู่ที่ 1.1 หมื่นล้านตัน หลังจากลดลง 3.8% ในปี 2563
ส่วนประมาณการการขยายตัวโดยรวมในปี 2566-2570 โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ปีละ 2.1% ลดลงจากค่าเฉลี่ยในช่วง 30 ปีก่อนหน้านี้ที่ 3.3% และอังค์ถัดยังยอมรับว่าความเสี่ยงขาลงทางเศรษฐกิจกำลังสร้างแรงกดดันกับการคาดการณ์นี้อย่างมาก
รายงานระบุว่า การฟื้นตัวของการขนส่งและโลจิสติกส์ทางทะเลกำลังเผชิญความเสี่ยงจากสงครามยูเครนและสถานการณ์โควิด-19 ที่ยาวนานต่อเนื่อง รวมถึงข้อจำกัดจากห่วงโซ่อุปทานที่ยืดเยื้อ และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวรวมถึงนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (zero-COVID) ของจีน ตลอดจนแรงกดดันจากเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่สูงขึ้น
อังค์ถัดเรียกร้องให้มีการลงทุนในห่วงโซ่อุปทานทางทะเลเพื่อให้ท่าเรือ กองเรือขนส่ง และการเชื่อมโยงท่าเรือกับพื้นแผ่นดิน มีการเตรียมรับวิกฤตโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเปลี่ยนไปใช้พลังงานคาร์บอนต่ำในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น
องค์กรเศรษฐกิจระหว่างประเทศภายใต้การกำกับดูแลของยูเอ็นวิเคราะห์ว่า นโยบายการเงินของกลุ่มประเทศร่ำรวย กำลังจะทำให้เศรษฐกิจโลกถดถอย ยิ่งกว่าวิกฤติเมื่อปี 2551
การคาดการณ์ของอังค์ถัดเกี่ยวกับปริมาณการขนส่งทางทะเลมีขึ้นหลังจาก หน่วยงานแห่งนีิ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระบุเมื่อวันที่ 4 ต.ค. ว่า การบังคับใช้นโยบายทางการเงินของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เสี่ยงที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยและภาวะซบเซายืดเยื้อ สร้างความเสียหายที่เลวร้ายยิ่งกว่าวิกฤติการเงินปี 2551 และผลกระทบจากการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19
รายงานว่าด้วยการค้าและการพัฒนาประจำปี 2565 ของอังค์ถัด บ่งชี้ว่า การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยที่รวดเร็ว และการกระชับมาตรการทางการเงินในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ประกอบกับวิกฤติจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และสงครามในยูเครน ทำให้การชะลอตัวทั่วโลกกลายเป็นภาวะขาลง โดยไม่มีแนวโน้มว่าภาวะการชะลอตัวจะดีขึ้นตามที่คาดหวังไว้
บรรดาธนาคารกลางไม่สามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อ และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีคุณภาพดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษของอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ และความเชื่อที่ว่าธนาคารกลางสามารถปรับลดราคาด้วยการอาศัยอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น โดยปราศจากภาวะถดถอยนั้นเป็นการเดิมพันที่บุ่มบ่าม
การใช้มาตรการเข้มงวดทางการเงินมากเกินจำเป็น อาจนำมาซึ่งภาวะซบเซาและความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ขณะที่เกิดภาวะค่าจ้างที่แท้จริงตกต่ำ ความปั่นป่วนทางการเงิน รวมถึงการสนับสนุนและการประสานงานเชิงพหุภาคีไม่เพียงพอ
อังค์ถัด คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 2.5% ในปีนี้ ส่วนการเติบโตในปี 2565 จะชะลอตัวลงอีกอยู่ที่ 2.2% การชะลอตัวที่เกิดขึ้นพร้อมกันกำลังส่งผลกระทบต่อทุกภูมิภาค โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งคาดว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยจะลดลงต่ำกว่า 3% ส่งผลกระทบต่อการเงินภาครัฐและเอกชน รวมถึงโอกาสในการจ้างงานให้ยากลำบากยิ่งขึ้น
“รีเบกา กรินสแปน” เลขาธิการอังค์ถัด กล่าวว่า ยังคงพอมีเวลาจะทำให้เศรษฐกิจโลกไม่ตกต่ำสู่ภาวะถดถอย ด้วยเครื่องมือที่จะชะลออัตราเงินเฟ้อ และสนับสนุนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด แต่แนวทางของมาตรการในปัจจุบันกำลังส่งผลเสียต่อกลุ่มซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และเสี่ยงนำพาโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยทั่วโลก
นอกจากอังค์ถัดแล้ว กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)ก็หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2566 ด้วยเช่นกัน โดยปรับลดตัวเลขคาดการณ์สู่ระดับ 2.7% พร้อมเตือนภาวะเลวร้ายที่สุดรออยู่ข้างหน้าเพราะผลพวงจากเศรษฐกิจถดถอย
ไอเอ็มเอฟ เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) โดยได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2566 ลงสู่ระดับ 2.7% จากเดิมที่ระดับ 2.9% ในการคาดการณ์เมื่อเดือน ก.ค.
“ภาวะเลวร้ายที่สุดกำลังรออยู่ข้างหน้า และประชาชนจำนวนมากจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้า” ไอเอ็มเอฟ ระบุ
ขณะเดียวกัน ไอเอ็มเอฟ ยังระบุว่า รายงานดังกล่าวเป็นการบ่งชี้การขยายตัวที่อ่อนแอที่สุดนับตั้งแต่ปี 2544 นอกเหนือจากช่วงที่เกิดวิกฤติการเงิน และการแพร่ระบาดอย่างหนักของโควิด-19 แต่ไอเอ็มเอฟ ยังคงตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ไว้ที่ระดับ 3.2%