ข้าวของแพง ค่าแรงถูก วงจรหนี้เสียครัวเรือน
เงินเฟ้อเดือน ต.ค.65 เท่ากับ 108.06 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 5.98 % ธนาคารกลางสหรัฐส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ยแรงอาจเริ่มต้นในเดือน ธ.ค.นี้ แต่ใช่ว่า เศรษฐกิจจะไว้ใจได้ เงินเฟ้อที่สั่งสมมาตลอดทั้งปีส่งผลต่อประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ล่วงเข้าเดือนสุดท้ายของปี บรรยากาศสุดแสนแฮปปี้ ไม่กี่วันก็ได้ฉลองปีใหม่กันแล้ว ธุรกิจห้างร้านประดับตกแต่งไฟคริสต์มาสแม้ไม่ใช่ธรรมเนียมไทย แต่เราก็ทำกันจนคุ้นชินกลายเป็นสัญลักษณ์ของการชอปปิง อารมณ์อยากจับจ่ายซื้อของคุกรุ่น แต่ก็มีข้อมูลจากเครดิตบูโรให้น่าเป็นห่วงว่า หนี้ภาคครัวเรือนทั้งระบบวันนี้หนี้เสียทะลุ 1.1 ล้านบาท แถมข้อมูลยังขัดแย้งกัน แบงก์ชาติบอกว่าหนี้เสียอยู่ที่ระดับกว่า 2% แต่เครดิตบูโรบอกว่าหนี้เสีย 8.5% ส่วนกลุ่มคนที่มีหนี้เสียมากที่สุดคือกลุ่มอายุ 38-45 ปี กลุ่มนี้เป็นวัยสร้างเนื้อสร้างตัว ครั้นมามีหนี้เสียการสร้างอนาคตย่อมน่าเป็นห่วง
เมื่อมีหนี้ก็ต้องใช้หนี้ จะหาเงินมาจากไหนก็ต้องทำงาน แต่ข้อมูลเรื่องค่าแรงก็น่าเป็นห่วงเหมือนกัน
รายงานค่าจ้างโลกประจำปี 2565-2566 จากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ครึ่งแรกของปี 2565 ค่าจ้างรายเดือนแท้จริงลดลง 0.9% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2551 ที่ค่าจ้างเติบโตติดลบ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ หลังค่าแรงลดลงอย่างมากช่วงที่โควิด-19 ระบาด นายกิลเบิร์ต เอฟ ฮองโบ เลขาธิการไอแอลโอถึงกับออกมาเตือนว่า ค่าจ้างแท้จริงมีแนวโน้มถดถอยต่อเนื่องหากรัฐบาลไม่มีนโยบายมาแก้ไขอย่างมีเป้าหมาย
ไม่ได้พูดเปล่าไอแอลโอยังให้ข้อเสนอแนะด้านนโยบายจำนวนหนึ่งเพื่อรับมือกับค่าจ้างที่ลดลง เช่น เพิ่มค่าจ้างให้สอดคล้องกับผลิตภาพที่เพิ่มขึ้น ปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้เอื้อกับคนงานมากขึ้น และเพิ่มความร่วมมือระหว่างประเทศต่อความท้าทายระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระบบดูแลสุขภาพ และการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงและเด็กหญิง ถือเป็นข้อเสนอแนะที่รัฐบาลทุกประเทศสมควรนำไปพิจารณา โดยเฉพาะการปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้เอื้อกับคนงานมากขึ้น ต้องยอมรับว่าปีนี้ทุกคนเจอพิษเงินเฟ้อ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดว่า สิ้นปี 2565 เงินเฟ้อโลกจะทะลุ 8.8% ก่อนจะลดลงเหลือ 6.5% ในปี 2566 และ 4.1% ในปี 2567
สำหรับเงินเฟ้อไทยไม่กี่วันก่อนนายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า เงินเฟ้อเดือน ต.ค.65 เท่ากับ 108.06 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 5.98 % ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เงินเฟ้อของไทย ไม่เพิ่มสูงมากนัก เมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อของหลายประเทศทั่วโลก อยู่ในอันดับ 107 จาก 135 ประเทศที่เก็บข้อมูล สนค.คาดด้วยว่า แนวโน้มเงินเฟ้อในเดือนพ.ย.-ธ.ค.2565 ที่เหลืออีก 2 เดือน คาดว่าจะยังคงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องตามราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพหลายรายการที่ชะลอตัวลง
ฟังดูเหมือนสถานการณ์ด้านเงินเฟ้อจะดีขึ้น เช่นเดียวกับตัวเลขในหลายๆ ประเทศที่เริ่มอ่อนตัวลง ธนาคารกลางสหรัฐส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ยแรงอาจเริ่มต้นในเดือน ธ.ค.นี้ แต่ใช่ว่า เศรษฐกิจจะไว้ใจได้ เงินเฟ้อที่สั่งสมมาตลอดทั้งปีส่งผลต่อประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เห็นผลชัดเจนในปีนี้ สภาพข้าวของแพงค่าแรงถูกไม่มีใครอยากเจอ เพราะเมื่อเงินทองไม่พอใช้จ่ายก็ต้องกู้หนี้ยืมสินกันเพื่อประคับประคองครอบครัว กลายเป็นหนี้ครัวเรือน หนี้กำลังจะเสีย และหนี้เสียวนกันเป็นงูกินหาง ปัญหาเหล่านี้ต้องการการแก้ไขอย่างเป็นระบบจากรัฐบาล ในเมื่อการเลือกตั้งกำลังใกล้เข้ามา ใครอยากเป็นรัฐบาลหาคำตอบให้โจทย์นี้ไว้ก็น่าจะดี