อาเซียนแข่งเดือดดึง “เอฟดีไอ” | ศุภวุฒิ สายเชื้อ 

อาเซียนแข่งเดือดดึง “เอฟดีไอ” | ศุภวุฒิ สายเชื้อ 

หัวข้อของบทความว่าด้วย "เอฟดีไอ" ครั้งนี้คือพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเมื่อวันจันทร์ที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเนื้อข่าวมีข้อมูลที่น่าสนใจหลายเรื่อง ผมจึงขอนำมาขยายความดังต่อไปนี้

ประเด็นแรกคือการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศหรือ “เอฟดีไอ” (Foreign Direct Investment) ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 64% ในปี 2021 ที่ผ่านมาคิดเป็นมูลค่า 1.58 ล้านล้านเหรียญ แต่ในปี 2022 นี้ เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงอย่างมากและมีแนวโน้มว่าจะชะลอตัวลงไปอีกในปีหน้า

ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงว่ามูลค่าเอฟดีไปในปีนี้จะต่ำกว่าปีที่แล้วและจะปรับลดลงไปอีกในปีหน้า จึงเป็นที่มาของการพาดหัวข่าวว่าจะต้องมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดในการแย่งชิงเงินลงทุนจากต่างประเทศ

สำหรับภูมิภาคอาเซียนนั้นมีข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมว่า ได้มีเอฟดีไอไหลมาลงทุนรวมทั้งสิ้น 174,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2021 โดยประเทศที่ได้รับเงินลงทุนมากที่สุดคือสิงคโปร์ ซึ่งรับเงินลงทุนทั้งสิ้น 99,061 ล้านเหรียญหรือ 56.9% ของเงินลงทุนในอาเซียนจากต่างประเทศ

ประเทศไทยนั้นได้รับเงินลงทุนเพียง 11,442 ล้านเหรียญและอยู่ที่ลำดับ 5 ในอาเซียน ตามหลังอินโดนีเซียที่เป็นที่สองและตามด้วยเวียดนามและมาเลเซีย

การลงทุนนั้นเป็นตัวแปรหลักตัวหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเพราะการลงทุนคือการเพิ่มทั้งอุปสงค์ (กำลังซื้อ) ในระยะสั้นและเพิ่มอุปทาน (กำลังการผลิต) ในระยะยาว แตกต่างจากการบริโภคที่เพิ่มอุปสงค์ในระยะสั้นแล้วก็หมดกันไป ไม่ได้ทำให้อนาคตดีขึ้นแต่อย่างใด

ดังนั้นนโยบายเช่น “คนละครึ่ง” จึงไม่ใช่นโยบายที่จะพัฒนาประเทศ เหมือนกับนโยบาย “ช้อปดีมีคืน” ซึ่งไม่ได้ “มีคืน”ในระยะยาว เพียงแต่เป็นการขยับการบริโภคในอนาคตให้มาเกิดเร็วขึ้นเท่านั้น

การลงทุนใหม่นั้นมีความสำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งคือ มักจะนำมาซึ่งการนำเอาเทคโนโลยีล่าสุดเข้ามาในระบบการผลิตและระบบเศรษฐกิจ (และจะเป็นการทดแทนเทคโนโลยีดั้งเดิมที่มีประสิทธิภาพต่ำกว่า)

กล่าวคือการลงทุนมักจะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีพร้อมกันไปด้วย โดยเฉพาะหากเกิดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจึงเป็นการลงทุนที่ประเทศต่างๆ จะต้องการยื้อแย่งกันอย่างเต็มที่

งานวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์ในอดีตเพื่อพยายามหาข้อสรุปว่า เศรษฐกิจขยายตัวและเจริญรุ่งเรืองได้จากปัจจัยอะไรบ้าง (Growth Accounting Studies) โดยวิเคราะห์ข้อมูลในอดีต 100-200 ปีที่ผ่านมานั้นมักจะมีข้อสรุปว่า

ปัจจัยที่มีบทบาทมากที่สุดในการขับเคลื่อนการขยายตัวและการพัฒนาทางเศรษฐกิจก็คือ เทคโนโลยี ซึ่งเพิ่มผลิตภาพของปัจจัยการผลิตอื่นๆ คือแรงงานและทุน หากเร่งการลงทุนอย่างเดียว

โดยเทคโนโลยีไม่ได้พัฒนาพร้อมกันไปด้วย ก็แต่จะเสี่ยงว่าผลตอบแทนจากการลงทุนจะลดลง (diminishing returns)

เช่น กรณีของประเทศไทยในช่วงก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่เร่งลงทุนในเชิงปริมาณ แต่ไม่ค่อยมีคุณภาพ จึงเป็นการสร้างหนี้เพิ่มขึ้นที่เกิดภาระดอกเบี้ยตามมาซึ่งเกินกว่าผลตอบแทนจากการลงทุนดังกล่าว

ในทำนองเดียวกัน การเพิ่มแต่แรงงานก็จะต้องทำให้เงินเดือนของผู้ใช้แรงงานลดลง (หรือไม่เพิ่มขึ้น) ซึ่งไม่น่าจะเป็นวัตถุประสงค์ในระยะยาวของการพัฒนาเศรษฐกิจ

หากกลับมาดูรายละเอียดของเอฟดีไอในแต่ละประเทศอาเซียนหลัก ก็จะพบว่า เอฟดีไอที่เข้าไปที่สิงคโปร์นั้นเป็นการเข้าไปสู่เทคโนโลยีขั้นสูง

เช่น การประกาศของบริษัท UMC จากไต้หวันในครึ่งแรกของปีนี้ว่าจะลงทุน 5 พันล้านเหรียญเพื่อก่อสร้างโรงงาน wafer fabrication  (เพื่อผลิต semiconductor) และศูนย์การวิจัย (R&D) และการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมการผลิตเป็นหลัก

สำหรับไทยนั้นสภาพัฒน์มีวิสัยทัศน์คือ 30@30 แปลว่าจะผลิตชิ้นส่วนรถ EV 30% ภายในปี 2030 ซึ่งผมแน่ใจว่าทำไมต้อง 30% และทำไมภายในปี 2030

แต่เนื้อข่าวส่วนใหญ่เกี่ยวกับการเชื้อเชิญบริษัทต่างชาตินั้น ให้มาตั้งสำนักงานใหญ่ (headquarters) ในประเทศไทย รวมทั้งการตั้งศูนย์บริหารเงิน (treasury center) ตลอดจนศูนย์บริการเพื่อสนับสนุนธุรกิจดิจิตอล) (business and digital support service)

และที่กล่าวถึงมากคือ Long Term Resident Visa หรือวีซ่าให้ต่างชาติเข้าประเทศไทยและพำนักในประเทศได้ในระยะยาวเป็นเวลา 10 ปี โดยตั้งเป้าว่าชาวต่างชาติที่ร่ำรวย (Wealthy Global Citizens) 1 ล้านคนจะเข้าโครงการ LTRV ภายใน 5 ปีข้างหน้า

ซึ่งตรงนี้ผมไม่แน่ใจว่าจะช่วยกระตุ้นการถ่ายโอนเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาในประเทศไทยได้มากนัก นอกจากนั้นหากจะให้ชาวต่างชาติเข้ามาพักอาศัยในประเทศไทยได้เป็นเวลานานๆ หลายปี แต่ก็ยังยืนยันห้ามไม่ให้ต่างชาติซื้อบ้านและที่ดิน

จะเป็นการส่งสัญญาณที่ย้อนแย้งกันว่า ประเทศไทยนั้นยินดีต้อนรับชาวต่างชาติมากน้อยเพียงใด

ฝ่ายที่มองว่าการให้ต่างชาติถือครองบ้านและที่ดินเป็นการ “ขายชาติ” นั้นก็คงทราบว่าชาวต่างชาติมีการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทยมาเป็นเวลานานต่อเนื่องอยู่แล้ว เพียงแต่เป็นการอาศัยโครงสร้างการถือหุ้นที่คนไทยซึ่งเป็นนอมินีของต่างชาติให้ถือหุ้นเสียงข้างมาก

กล่าวคือในสภาวะปัจจุบันนั้นชาวต่างชาติที่เข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทยจะต้องเป็นประเภท ”กล้าได้กล้าเสีย” ยอมรับความเสี่ยงของความคลุมเคลือทางกฎหมาย

สำหรับความต้องการเป็นศูนย์บริหารเงินและให้บริการด้านธุรกิจดิจิตอลนั้นก็ต้องถามว่าประเทศไทยได้ reskill คนไทยให้มีความรู้และความเชี่ยวชาญในด้านที่เกี่ยวข้อง เช่น การเป็น programmer หรือการเป็น data scientist หรือมีความเชี่ยวชาญด้านภาษาต่างประเทศในจำนวนที่เพียงพอ เพื่อรองรับความต้องการของกิจกรรมดังกล่าวแล้วมากน้อยเพียงใดครับ.

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร

กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร