เปิดแผนอุตสาหกรรมปี 66 ฝ่าเศรษฐกิจโลกถดถอย

เปิดแผนอุตสาหกรรมปี 66 ฝ่าเศรษฐกิจโลกถดถอย

กระทรวงอุตสาหกรรมเปิดนโยบายขับเคลื่อนภาคธุรกิจท่ามกลางเศรษฐกิจโลกถดถอยปี 2566 ตามแนวคิดอุตสาหกรรมโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน มุ่งยกระดับโรงงาน 7.4 หมื่นแห่ง และเอสเอ็มอีกว่า 3.1 ล้านราย เร่งกระตุ้นจีดีพีภาคอุตสาหกรรมโตแตะ 2.5-3.5%

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม หรือ MIND กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกรวมถึงเศรษฐกิจไทยภายหลังจากวิกฤติโควิด-19 มีแนวโน้มฟื้นตัว โดยข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 2565 ปรับตัวสูงขึ้น 4.5% ขณะที่รายงานจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) 10 เดือนแรกปี 2565 อยู่ที่ 99.06 ขยายตัว 2.20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

และมีอัตราการใช้กำลังการผลิต 10 เดือนแรกของปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 63.06% เป็นผลจากการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศและการท่องเที่ยวที่กลับมาดีขึ้น สะท้อนจากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กลับเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกยังคงอยู่ในสภาวะเปราะบางจากหนี้สาธารณะของหลายประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉลี่ยเกือบ 100% อาทิ ญี่ปุ่น อังกฤษ สหรัฐ ฝรั่งเศส รวมทั้งเศรษฐกิจไทยที่มีปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ประกอบด้วย 

1. ต้นทุนภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น จากทิศทางราคาพลังงานทั้งภายในและต่างประเทศ ที่มีความผันผวนของราคาน้ำมันและการปรับค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ยังส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มจากการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ อีกทั้งต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามนโยบานการเงินเพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อ 
 

2. อุปสงค์ตลาดโลกที่ชะลอลง โดยเฉพาะตลาดส่งออกสำคัญที่มีแนวโน้มจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ได้แก่ สหรัฐ จีน และ ญี่ปุ่น 

3. ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ การกีดกันและย้ายฐานการผลิตทางเทคโนโลยี การเกิดการชะงักงันของซัพพลานเชน และนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีนุั

4. ปัญหาด้านโครงสร้างของอุตสาหกรรมในประเทศที่เริ่มแข่งขันได้ยากขึ้น อาทิ ต้นทุนด้านแรงงาน และการเข้าถึงแหล่งทุน รวมถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงปัญหาด้านภาพลักษณ์ของภาคอุตสาหกรรมต่อประชาชน

"ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบจะขึ้นอยู่กับขนาดอุตสาหกรรม โดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีความสามารถในการแข่งขันและปรับตัวหลังวิกฤติน้อยกว่าขนาดใหญ่"

ดังนั้นจากปัจจัยข้างต้น กระทรวงอุตสาหกรรม จึงวางแนวทางการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมด้วยนโยบายเร่งด่วนตามแนวคิด “อุตสาหกรรมดี อยู่คู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน” โดยมุ่งการปรับเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรมวิถีใหม่ผ่าน 4 มิติ ได้แก่ 

มิติที่ 1 ปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมสู่ S-curve ที่มุ่งเน้นการผลิต และโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ ปรับธุรกิจให้เหมาะสมกับโลกอนาคต การแข่งขันด้านประสิทธิภาพและต้นทุน รวมถึงการลดผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงาน เพิ่มความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมฐานราก อาทิ เกษตรอุตสาหกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ ยานยนต์แห่งอนาคต และท่องเที่ยวกลุ่มรายได้สูง

มิติที่ 2 การดูแลชุมชนโดยรอบโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งยามปกติและเมื่อเกิดวิกฤติ เพื่อลดความเสี่ยงข้อขัดแย้งและกระตุ้นให้เกิดการประกอบการที่ดี ปลอดภัย สร้างความมั่นใจให้ประชาชน 

มิติที่ 3 การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม สู่อุตสาหกรรมสีเขียว เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี ค.ศ. 2065 

มิติที่ 4 การกระจายรายได้ให้กับประชาชนและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เน้น “การสร้างงาน สร้างอาชีพ” ให้คนรุ่นใหม่ต่อยอดอาชีพดั้งเดิมของครอบครัวหรืออัตลักษณ์ชุมชน ขณะเดียวกันจะกระตุ้นผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) ทำงานร่วมกับชุมชนและเครือข่ายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างจริงจัง

นอกจากนี้ ยังเร่งผลักดันระบบโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการปรับปรุงการให้บริการอุตสาหกรรมสู่ดิจิทัลเต็มรูปแบบ เพื่ออำนวยความสะดวกทุกภาคส่วน ตรวจสอบได้ สร้างความโปร่งใสในการทำงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ ได้แก่ โรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ 74,016 โรงงาน เหมืองแร่ทั่วประเทศ 492 ราย เอสเอ็มอีทั่วประเทศ 3,178,124 กิจการ 

พร้อมทั้ง ผลักดัน “ชุมชนรักโรงงาน โรงงานรักชุมชน และสร้างการกระจายรายได้สู่ชุมชน” เพื่อให้ชุมชนรอบโรงงานประมาณ 1,000,000 คน และอุตสาหกรรมอยู่ด้วยกันอย่างเป็นมิตร พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และสร้างความเติบโตอย่างต่อเนื่อง

"โดยประมาณการปี 2566 คาดว่าจะสามารถกระตุ้น MPI ขยายตัว 2.5 – 3.5% และ GDP ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัว 2.5 – 3.5% และเติบโตอย่างต่อเนื่องในปีถัดไป"