ส่องธุรกิจอาหารแช่แข็งไทย โตสวนกระแส กำไรพุ่ง
ธุรกิจอาหารแช่แข็งไทยเติบโตต่อเนื่องแม้ช่วงโควิด ผู้ประกอบการแห่ลงทุนเพิ่มขึ้นจากปี 64 กว่า 84% มูลค่าตลาดเฉลี่ย 3 ปี แตะ 3 แสนล้านบาท ปี 64 กำไรกว่าหมื่นล้านบาท ไทยครองตำแหน่งนักลงทุนอันดับ 1
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดตัวเลขการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจอาหารแช่แข็งไทย 10 เดือนแรกปี 2565 หรือตั้งแต่ม.ค.-ต.ค. พบว่า มีจำนวน 92 เพิ่มขึ้น 42 รายหรือเพิ่มขึ้น 84 % เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปี 64 ที่จัดตั้ง 50 ราย โดยมีทุนจดทะเบียน 299.30 ล้านบาท เพิ่ม 221.28 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นถึง 283.62 % เมื่อเทียบกับปี 64 ที่มีทุนจดทะเบียนเพียง 78.02 ล้านบาท
“สินิตย์ เลิศไกร” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้ข้อมูลว่า ธุรกิจอาหารแช่แข็งของไทยกำลังเป็นที่สนใจของนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ความแข็งแกร่งของธุรกิจสะท้อนได้จากช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลายธุรกิจล้วนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ธุรกิจอาหารแช่แข็งยังคงสามารถเติบโตได้ดี โดยดูจากมูลค่าตลาดเฉลี่ย 3 ปี มีตัวเลขกว่า 3 แสนล้านบาท โดย
- ปี 2562 มูลค่าตลาด 307,088.48 ล้านบาท
- ปี 2563 มูลค่า 283,864.95 ล้านบาท
- ปี 2564 มูลค่า 303,556.17
ขณะที่ผลประกอบการยังคงเป็นบวกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ
- ปี 2564 มีผลกำไรถึง 10,568.88 ล้านบาท
- ปี 2562 กำไร 7,363.03 ล้านบาท
- ปี 2563 กำไร 7,001.00 ล้านบาท
แชมป์ การลงทุนทำธุรกิจ อาหารแช่แข็ง
- อันดับ 1 คนไทยครองแชมป์ การลงทุนทำธุรกิจอาหารแช่แข็งเป็น มูลค่าทุน 48,091.14 ล้านบาท
- อันดับ 2 คือ ญี่ปุ่น ทุน 3,629.82 ล้านบาท
- อันดับ 3 จีน ทุน 1,038.45 ล้านบาท
- อันดับ 4 สิงคโปร์ ทุน 813.89 ล้านบาท
- สัญชาติอื่นๆ ทุน 2,213.40 ล้านบาท
ซึ่งแสดงให้เห็นว่าธุรกิจดังกล่าวอยู่ในความสนใจของนักลงทุนไทย เพราะเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องแม้จะมีปัญหาด้านเศรษฐกิจ
เมื่อแยกเฉพาะสัดส่วนของธุรกิจอาหารแช่แข็งพร้อมทาน ซึ่งอยู่ในกลุ่มอาหารแช่แข็งพบว่า ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) มากที่สุด รองลงมา คือ ธุรกิจขนาดกลาง และธุรกิจขนาดใหญ่ แม้รายได้ของปี 2564 ลดลงจากปี 2563 ประมาณ 2.56% แต่กำไรเพิ่มขึ้นกว่า 1.7 เท่า แสดงว่าธุรกิจอาหารแช่แข็งพร้อมทาน มีความสามรถในการบริหารต้นทุนมากขึ้น สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เน้นความสะดวกในการทานอาหาร
ปัจจัยที่ทำให้ ธุรกิจอาหารแช่แข็ง เติบโต
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ธุรกิจอาหารแช่แข็งมีแนวโน้มการเติบโตที่เพิ่มมากขึ้นทั้งการจำหน่ายเพื่อบริโภคในประเทศ และเพื่อการส่งออกไปตลาดต่างประเทศ เนื่องจากอาหารแช่แข็งสามารถเก็บรักษาได้นาน มีความได้เปรียบในการรักษาความสด และช่วยลดความถี่ในการออกไปซื้อของที่ตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ต โดยอาหารแช่แข็งมีกลุ่มลูกค้าทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการร้านอาหาร โดยร้านอาหารซื้อเพื่อเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารสำหรับจำหน่ายให้ลูกค้า ส่วนผู้บริโภคซื้อเพื่อนำไปประกอบอาหารทานเองที่บ้าน หรือซื้ออาหารแช่แข็งพร้อมรับประทานเพื่อความสะดวกในการบริโภค
มูลค่าการส่งออกสินค้าแช่แข็งของไทย
สอดคล้องกับมูลค่าการส่งออกสินค้าแช่แข็งของไทยไปตลาดโลก จำนวน 8 รายการ ทั้งผลไม้แช่แข็ง ผักสดแช่เย็นแช่แข็ง กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ปลาหมึกสดแช่เย็นแช่แข็ง เนื้อปลาและปลาสดแช่เย็นแช่แข็ง ปูสดแช่เย็นแช่แข็งนึ่งหรือต้ม ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และเป็ดสดแช่เย็นแช่แข็ง พบว่า ช่วงเวลา 9 เดือน ม.ค. – ก.ย. ของปี 2565 มีมูลค่าการส่งออก 87,896 ล้านบาท มากกว่าการส่งออกของปี 2563 ทั้งปี จำนวน 2,682 ล้านบาท ขณะที่การส่งออกของ 2564 ทั้งปี มีมูลค่า 94,847 ล้านบาท
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกรุงศรีฯ ระบุว่าธุรกิจอาหารแช่แข็ง ประกอบด้วยการผลิตวัตถุดิบแช่แข็ง และการผลิตอาหารแช่แข็งพร้อมทาน โดยในส่วนของวัตถุดิบแช่แข็ง ส่วนหนึ่งถูกผลิตเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ตามแนวทาง ‘อาหารไทย อาหารโลก’ สำหรับอาหารแช่แข็งพร้อมทาน ส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศ มีราคาไม่แตกจากอาหารปรุงสดใหม่มากนัก และมีแนวโน้มเติบโตตามการขยายตัวของร้านสะดวกซื้อ เนื่องจากเป็นช่องทางจำหน่ายหลักที่หาซื้อได้ง่าย มีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ
ธุรกิจอาหารแช่แข็ง จึงถือเป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่องท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นผลมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป การทำงานที่บ้าน (Work from Home) ส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาเลือกซื้ออาหารแช่แข็งเพื่อนำไปปรุงอาหารรับประทานที่บ้านมากขึ้น เนื่องจากมีความสะดวก สามารถเก็บรักษาได้นาน และลดความเสี่ยงจากการไปซื้อของสดในพื้นที่แออัด
เห็นได้จากตัวเลขในปีที่ผ่านมาทำกำไรเกิน 1 หมื่นล้านบาท มูลค่าตลาดเฉลี่ย 3 ปี แตะ 3 แสนล้านบาท มีนักลงทุนในธุรกิจนี้เพิ่มขึ้นจากปี 2564 กว่า 84% สะท้อนความแข็งแกร่งของกลุ่มธุรกิจเพราะอุตสาหกรรมนี้ที่ใช้เงินทุนไม่มาก เทคโนโลยีการผลิตไม่ซับซ้อน ทำให้การเข้า-ออกของผู้ผลิตรายใหม่ทำได้ไม่ยากเช่นกัน จึงเป็นโอกาสและความท้าทายของนักลงทุนที่สนใจในธุรกิจอาหารแช่แข็ง ทั้งรายเก่าและรายใหม่