"เฉลิมชัย" เดิน 15 แผนเชิงรุก เปลี่ยนกระทรวงเกษตรฯเป็นกระทรวงด้านเศรษฐกิจ
"เฉลิมชัย" เดินหน้า แผนเชิงรุกปี'66 ยึดนโยบาย 15 ด้าน เปลี่ยนกระทรวงเกษตรฯเปลี่ยนเป็นกระทรวงด้านเศรษฐกิจหลักของประเทศ สร้างความเข้มแข็งเกษตรกร ดัน "ไทยเป็นครัวของโลก” มีแหล่งผลิตอาหารที่เพียงพอสำหรับคนและสัตว์ ส่งเสริมการปลูกสำหรับอาหารในประเทศ ลดการนำเข้า
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายผู้บริหารเพื่อการขับเคลื่อนงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประจำปีงบประมาณ 2566 ว่า แนวทางการปฎิบัติกระทรวงเกษตรและหกรณ์หลักๆ เน้นนโยบาย 15 ด้านที่กำหนดเป็นแนวทางบริหารงาน และยุทธศาสตร์ 5 ด้าน ซึ่งทั้งหมดจะแนวทางให้ผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ นำไปบริหาร เพื่อแก้ไขปัญหา ตอบสนองความต้องการของพี่น้องเกษตรกร และเตรียมตัวรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคต อาทิ สภาวะโลกร้อน และคาร์บอนเคดิต เป็นต้น
นอกจากนี้ ได้ย้ำมาตราการเกษตรปลอดภัย มาปรับใช้กับกระบวนการผลิตภาคการเกษตรไทยทั้งหมด และมุ่งหวังให้ผู้บริโภค เกษตรกร และสินค้าเกษตรกรต้องปลอดภัย ซึ่งนับเป็นการการันตีรับรองให้พี่น้องเกษตรกร ว่ากระทรวงฯไม่ทอดทิ้ง และให้ข้าราชการกระทรวงฯ ทำงานทิศทางเดียวกัน ที่สำคัญกระทรวงได้บูรณาการทำงานกับทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน ประชาสังคม
ดังนั้น บิ๊กดาต้า ของกระทรวงฯ จะเป็นข้อมูลต่างๆของทุกกรม เพื่อติดต่อประสานงานทั้งระดับพื้นที่ อำนวยการแก่ประชาชนทุกช่องทาง โดยกำชับให้ข้าราชการจะต้องอำนวยการให้เพื่อน้องเกษตรกร เปรียบเสมือนครอบครัว หวังสร้างความมั่นใจแก่พี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศ
สำหรับการมอบหมายให้ นายสุทร ปานแสงทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ คนใหม่ นั้น จะรับผิดชอบ ดูแล 3 หน่วยงาน คือ กรมพัฒนาที่ดิน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)
" อยากเห็นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปลี่ยนเป็นกระทรวงด้านเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ให้ภาคการเกษตรเป็นภาคเศรษฐกิจหลักของประเทศด้วย และได้ฝากให้ผู้บริหารทุกหน่วยงานปรับตัวตามสถานการณ์เพื่อนำนโยบายดังกล่าวไปเป็นแนวทางไปปฏิบัติ โดยขอให้ดำเนินการทุกอย่างด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้"
ผมไม่อยากให้มองเป็นเรื่องการเมือง เพราะคนที่มาทำงานกระทรวงเกษตรฯ ข้าราชการการเมืองทุกคนมีความสุข ไปเช็คดูได้เลย และถือเป็นกระทรวงฯ ที่มีความสุข น่าจะมากที่สุดของรัฐบาลเลยก็ว่าได้" นายเฉลิมชัย กล่าว
สำหรับ 15 นโยบาย ได้แก่ 1.นโยบาย “ตลาดนำการผลิต”
2.การสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานราก
3.การส่งเสริมสถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการ และ Start Up
4.การส่งเสริมเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming)
5.การพัฒนาศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC)
6.การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ด้านการเกษตร
7.การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ
8.การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม
9.การส่งเสริมศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.)
10.การประกันภัยพืชผล
11.การส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน
12.การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน
13.การวิจัยและพัฒนา
14.การพัฒนาฐานข้อมูล Big Data ข้อมูลพื้นที่ระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลัง
15.การประกันรายได้
ทั้งนี้ การทำงานในปี 2566 นี้ ยังคงเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานยึดหลักยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ยุทธศาสตร์ 15 นโยบาย โดยให้ทำงานในเชิงรุกมากขึ้น ทั้งในเรื่องของยุทธศาสตร์เกษตร 4.0 ซึ่งในยุคต่อไป 4.0 คงจะไม่พอ จึงต้องนำเอาเทคโนโลยี นวัตกรรม การวิจัย เพื่อนำมาลดต้นทุน เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรให้กับเกษตรกร และบูรณาการการทำงานทั้งภายในกระทรวง หน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ภาคเอกชน และทุกภาคส่วน ที่สำคัญตั้งใจที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการเกษตร โดยจะต้องสร้างเครื่องมือและสร้างโอกาสให้พี่น้องเกษตรกร สร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรด้านการเกษตรและบุคลากรด้านการเกษตรอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำในเรื่องการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก คาร์บอนเครดิต ซึ่งทุกหน่วยงานต้องร่วมกันวางแผนว่าจะให้เกษตรกรเดินหน้าอย่างไร เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงและเงื่อนไขระดับโลก ซึ่งจะต้องปรับตัวตั้งแต่วันนี้ เพื่อที่จะส่งออกสินค้าเกษตรได้ อีกทั้งขอให้ทุกหน่วยงานมีการขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ อาทิ การนำนโยบายรัฐบาล BCG Model ไปสู่การปฏิบัติ ด้านเกษตรปลอดภัย จะทำอย่างไรให้เกษตรกรปลอดภัย ผู้บริโภคปลอดภัย ซึ่งถือเป็นหัวใจของการผลิต และเป็นนโยบายแรกที่มุ่งเน้นการดำเนินงานอย่างเข้มข้น การผลักดันค่าตอบแทนให้อาสาสมัครเกษตร
การบริหารจัดการน้ำที่ดี การใช้น้ำอย่างมีคุณค่าและเกิดประโยชน์มากที่สุด การแนะนำพืชเศรษฐกิจใหม่ ๆ พี่น้องเกษตรกร การคาดการณ์ตลาดโลก ตลาดผู้บริโภคในอนาคต การตั้งเป้าหมาย “เป็นครัวของโลก” ต้องมีแหล่งผลิตอาหารที่เพียงพอสำหรับคนและสัตว์ ส่งเสริมการปลูกสำหรับอาหารในประเทศ เพื่อลดการนำเข้า
ด้าน นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สำหรับเรื่องของขวัญปีใหม่ 2566 ที่จะมอบให้ประชาชน และเกษตรกร นั้น เบื้องต้นได้มีการเสนอกิจกรรมที่จะทำให้กับพี่น้องประชาชน อาทิ การจัดกิจกรรมนำสินค้าเกษตรมาจำหน่าย เพื่อจัดเป็นกระเช้าปีใหม่ ในราคาถูกและมีมาตรฐาน ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบเรียบร้อยแล้ว แต่ในส่วนของขวัญปีใหม่รูปแบบอื่น ขณะนี้ อยู่ระหว่างรวบรวม โดยในวันที่ 15 ธันวาคมนี้ นายเฉลิมชัย จะเป็นผู้แถลงข่าวให้ประชาชนรับทราบอีกครั้ง