“เอสซีจี” ทุ่ม 1 แสนล้าน ขยายธุรกิจใหม่เสิร์ฟโซลูชั่นรับเทรนด์โลก
เปิดบทใหม่ “เอสซีจี” ปรับบทบาทสู่การเป็นผู้นำนวัตกรรมโซลูชั่น ตอบโจทย์ใหม่เมกะเทรนด์โลก ด้านพลังงานสะอาดและยานยนต์ไฟฟ้า สุขภาพและการแพทย์ สมาร์ทลิฟวิ่ง หุ่นยนต์อัจฉริยะ และการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ เร่งเดินหน้าขยายโครงการลงทุนทั่วโลก ด้วยงบ 1 แสนล้านบาท ภายใน 5 ปี
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาธุรกิจต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง ทั้งการขาดแคลนแรงงาน การเผชิญหน้ากับต้นทุนพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค ทำให้ธุรกิจต้องเร่งปรับตัวอย่างรวดเร็วให้ทันต่อเทรนด์โลกและความต้องการของตลาด รวมทั้งการต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อส่งต่อทรัพยากรให้คนรุ่นถัดไป
เอสซีจี จึงมุ่งพัฒนานวัตกรรมโซลูชันแห่งอนาคตเพื่อตอบโจทย์ความต้องการใหม่ๆ ของผู้บริโภคทั้งภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน ประกอบไปด้วย โซลูชันด้านพลังงานสะอาดและยานยนต์ไฟฟ้า สุขภาพและการแพทย์ สมาร์ทโลจิสติกส์ นวัตกรรมสีเขียว สมาร์ทลิฟวิ่ง และหุ่นยนต์อัจฉริยะ
“ธุรกิจด้านนวัตกรรมโซลูชันเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพสูงและเชื่อว่าจะสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งให้กับบริษัท โดยเอสซีจีได้วางแผนขยายโครงการลงทุนทั่วโลก โดยมุ่งขยายการเติบโตในอาเซียนด้วยงบลงทุน 100,000 ล้านบาท ในระยะ 5 ปีข้างหน้า”
นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า ปัจจุบันราคาพลังงาน ทั้งถ่านหิน น้ำมัน และแก๊สธรรมชาติ ยังคงตัวอยู่ในระดับสูงและคาดว่าจะเป็นปัญหาต้นทุนในระยะยาวของภาคธุรกิจ เนื่องจากต้นเหตุของราคาพลังงานสูงเกิดจากฝั่งผู้ผลิตซึ่งเชื่อมโยงกับความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายในเร็ววัน ภาคธุรกิจจึงต้องเร่งปรับตัวในเรื่องการลดต้นทุนพลังงาน การใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานทางเลือก
โดยเอสซีจีได้มีการพัฒนาโซลูชันพลังงานสะอาด ประกอบด้วย พลังงานชีวมวลคุณภาพสูง (biomass) จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น กะลาปาล์ม เหง้ามัน ต้นปาล์ม ใยปาล์ม ใบอ้อย และเชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) โดยพัฒนาเป็นพลังงานชีวมวลอัดเม็ด (Wood Pellet) เพื่อใช้แทนถ่านหิน
นอกจากนี้ ยังมีพลังงานแสงอาทิตย์จากโซลาร์ รูฟ สำหรับกลุ่มที่อยู่อาศัย โรงงานและนิคมอุตสาหกรรม กลุ่มอาคารขนาดใหญ่ กลุ่มโรงพยาบาล กลุ่มโรงแรม และห้างสรรพสินค้า รวมทั้งพลังงานลม และอยู่ระหว่างการศึกษาพลังงานทางเลือกอื่นๆ ที่มีศักยภาพ เช่น ไฮโดรเจน เซลล์เชื้อเพลิง (fuel cell)
ซึ่งปัจจุบัน เอสซีจีมีกำลังการผลิตพลังงานสะอาดกว่า 195 เมกะวัตต์ โดยตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 3,000 เมกะวัตต์ ภายใน 5 ปี
ทั้งนี้ เอสซีจี มีความพร้อมเสนอโซลูชั่นพลังงานสะอาดครบวงจรให้แก่ลูกค้า ภายใต้บริษัท เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ ซึ่งมีนวัตกรรมเด่น 2 เรื่อง สำหรับภาคอุตสาหกรรม ได้แก่
1. Smart Grid Smart Platform เครือข่ายอัจฉริยะจัดการซื้อ-ขายพลังงานสะอาดระหว่างโรงงานและนิคมอุตสาหกรรมภายในกริดเดียวกัน
2.นวัตกรรมแบตเตอรี่กักเก็บความร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ Thermal Energy Storage หรือ Heat Battery ที่สามารถเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าที่ได้จากแสงอาทิตย์เป็นพลังงานความร้อน ใช้กักเก็บความร้อนไว้ใช้ในช่วงที่ไม่มีแสงแดด ป้องกันปัญหาพลังงานขาดแคลน ทั้งยังลงทุนต่ำกว่าแบตเตอรี่ลิเธียมไออนและมีประสิทธิภาพในการกักเก็บพลังงานสูงกว่า
“โดยเอสซีจี ตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานทางเลือกเป็น 40-50% ในช่วง 2 ปีข้างหน้า ทดแทนการใช้ถ่านหินในโรงงานผลิตซีเมนต์ โดยจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 70% ในปี 2030 และขยับสู่เป้าหมายพลังงานสะอาด 100% ภายในปี 2050”