เปิดกลยุทธ์ ‘EA’ หนีตลาด ‘อีวี’แข่งเดือด มุ่งพัฒนา ‘รถใหญ่’ – อัลตร้าฟาสชาร์จ
กระแสตอบรับรถ EV ในประเทศไทยที่ดีมากจากยอดจองและจำหน่ายรถในปีที่ผ่านมาที่มากกว่า 2 หมื่นคัน ทำให้หลายคนมองเป็นโอกาสที่จะสร้างพลังขับเคลื่อนใหม่ของเศรษฐกิจไทย ขณะที่บางส่วนมองในทางตรงกันข้ามในเรื่องของความพร้อมของ EV เช่น บริการหลังการขายและประกันภ้ย
ปรากฎการณ์ของการจองรถยนต์ไฟฟ้า (EV)ในประเทศไทยที่ได้รับการตอบรับดีมาก เห็นได้จากการจองรถไฟฟ้ารุ่น ATTO 3ของค่ายรถยนต์ BYD จากประเทศจีนที่มียอดจองกว่า 1 หมื่นคันภายในระยะเวลาประมาณ 1 เดือนเศษ จนบริษัทดีลเลอร์ผู้นำเข้ารถต้องปิดรับจอง ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าค่ายเทสล่า ที่นำเอารถ EV 2 รุ่นได้แก่ Tesla Model 3 และ Tesla Model Y เข้ามาเปิดตลาดในเมืองไทยก็มียอดจองภายใน 24 ชั่วโมงกว่า 4,200 คัน และเพิ่มขึ้นใกล้เคียง 1 หมื่นคันในช่วงเวลาไม่นาน
ปรากฎการณ์นี้ก็มองในแง่ของโอกาสการเป็นศูนย์กลาง หรือ “ฮับ” รถ EV ของไทยในภูมิภาค ขณะเดียวกันก็เกิดคำถามว่าโครงสร้างพื้นฐานรถ EV ในประเทศไทยนั้นมีเพียงพอรองรับการเติบโตของดีมานต์รถ EV ในประเทศหรือไม่
สมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์หุ้นมหาชน 2023”ในงานสัมมนา ส่องหุ้นไทย 2023 จัดโดยเครือเนชั่นเมื่อเร็วๆนี้ว่าในฐานะผู้เล่นในตลาดผู้ผลิตรถไฟฟ้า และแบตเตอรี่รถไฟฟ้ารายใหญ่ของไทยที่มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมนี้อย่างยาวนานกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ผมอาจจะมองไม่เหมือนคนอื่นนะ ผมมองว่าปรากฎการณ์นี้เหมือนกับตลาดหุ้นก่อนที่จะ Crash คือจะเกิดการพลิกลงมาก่อน
เพราะในตลาดรถเล็กจะเห็นว่าเป็นกระแสที่เกิดขึ้น และพอเทสล่าออกมาราคาลงไปในระดับที่เท่ากับรถญี่ปุ่นในระดับราคาที่ใกล้เคียงกัน มันจูงใจให้เกิดการซื้อรถ EV
“ผมว่าคนยังลืมไปในเรื่องของ อาฟเตอร์เซลล์เซอร์วิช เรื่องของสถานีชาร์จรถ เรื่องของราคาประกัน ผมว่ายังมีปัญหาอีกหลายๆเรื่องที่จะตามมา แล้วคนจะเริ่มเข้าใจมัน เพราะรถยนต์ส่วนบุคคลที่เป็นรถบ้าน คนไม่ได้ซื้อที่สมรรถนะของรถ เขาซื้อความพอใจ ใครที่สามารถสร้างกระแสได้ ลดราคาลงมาก็จะเรียกยอดจองได้มาก สักพักเรื่องของ Competition (การแข่งขัน) กำลังมา แล้วก็จะเกิดในเรื่องของ collapse (ยุบลง ) ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งไม่ได้บอกว่าเทรนด์นั้นไม่ไปคือจะไปแต่จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นก่อน แล้วจากนั้นตลาดจึงจะปรับสมดุลได้ซึ่งต้องใช้เวลา”สมโภชกล่าว
สมโภชกล่าวต่อไปด้วยว่าเรื่องการแข่งขันที่รุนแรงของตลาดรถ EV โดยเฉพาะในรถยนต์นั่งที่เป็นรถส่วนบุคคลนั้น EA คิดไว้ตั้งแต่ 4 – 5 ปีก่อน ซึ่งเป็นคำถามที่ว่าเราจะลงไปเล่าในเซกเมนต์ไหน เพราะมองแล้วรถ EV ที่เป็นรถยนต์นั่งนั้นเป็นตลาดที่จะแข่งขันรุนแรง (red ocean) แน่ๆ EA จึงวางกลยุทธ์ว่าเราจะไปอยู่ในกลุ่มรถ EV ที่เป็นรถขนาดใหญ่ เช่น รถเมล์ และรถบรรทุก ซึ่งในส่วนนี้ยังมีกำแพงภาษีอยู่ แต่รถยนต์ขนาดเล็กนั้นสามารถที่จะนำเข้ามาจากจีนได้โดยได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี 100%
ส่วนตลาดรถใหญ่ที่เป็นรถ EV นั้น โดยหากมองจากโอกาสธุรกิจรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่มีอยู่ 1.2 ล้านคัน หาก ประมาณ 50-70 % เปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าจะมีความต้องการใช้แบตเตอรี่อีกมหาศาล EA กำลังจะขยายกำลังการผลิตแบตเตอรี่จาก 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) เป็น 4 GWh ตามกำหด
“โอกาสในการเติบโต มีรถจดทะเบียน 1.2 ล้านคัน หากต้องปรับเปลี่ยนเป็น EV หากใช้แบตเตอรี่เพื่อรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ จะใช้อีกหลายร้อย GWh ที่ EV มีอยู่ 1 GWh ไม่ได้มากเกินไป”
นอกจากนั้นยังมีความท้าทายในเรื่องการทำ "อัลตร้าฟาสชาร์จ" ที่ต้องทำให้แบตเตอรี่ชาร์จได้เร็วแล้วทนทาน ซึ่ง EA ใช้เวลา 4 – 5 ปี ในการที่ทำให้แบตเตอรี่ที่สามารถชาร์จเร็ว และใช้งานได้นาน และใช้ชาร์จได้หลายยี่ห้อ และขยายไปทำรถไฟฟ้าในเทคโนโลยีนี้ ซึ่งไปจดสิทธิบัตรเทคโนโลยีนี้แล้วในหลายประเทศ และใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการทดสอบเทคโนโลยี ซึ่งมีการพัฒนาต่อเนื่อง
"ปัจจุบัน EA มีการทำโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับสถานีชาร์จ 490 แห่ง มีหัวชาร์จ DC ชาร์จได้เร็วมากกว่า 1,000 หัว จากทั้งหมด 2,000 กว่า และมีแผนที่จะขยายต่อเนื่องในปีหน้าเพื่อให้ครอบคลุมมากขึ้นซึ่งนี่คือจุดขายของบริษัทที่เราสร้างขึ้นมา" สมโภชน์กล่าว
ซึ่งเมื่อสามารถทำเทคโนโลยีนี้ให้เกิดขึ้นได้ก่อน ซึ่งจะทำให้เราแข็งแรงมากขึ้นในการทำรถ EV จากเทคโนโลยีที่มี จากนั้นเราค่อยลงไปแข่งในตลาดที่เป็น red ocean ซึ่งก็ยังไม่สาย