กสทช. ตั้งคณะทำงานทวงเงินค่าลิขสิทธิ์บอลโลก
ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต ระบุ การทำงานในฐานะบอร์ด กสทช.ช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาท่ามกลางความขัดแย้งของความเห็นที่ตนเองเป็นความเห็นข้างน้อย คือ เรื่องการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคที่ไม่เห็นด้วย กับ เรื่องการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022
กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต ระบุ การทำงานในฐานะบอร์ด กสทช.ช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาท่ามกลางความขัดแย้งของความเห็นที่ตนเองเป็นความเห็นข้างน้อย คือ เรื่องการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคที่ไม่เห็นด้วย กับ เรื่องการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ที่ควรให้ประชาชนได้รับชมบนทุกแพลตฟอร์มตามประกาศ กสทช.เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (Must Carry) และประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในรายการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป (Must Have) และยืนยันเสียงแข็งมาตลอดว่า ไม่เห็นด้วย ที่เอาเงินกองทุน กทปส.ไปสนับสนุนฟุตบอลโลก
การทำงาน 8 เดือน ที่ผ่านมาต้องปรับตัวเยอะ โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับบอร์ดคนอื่นที่มีความเห็นค่อนข้างต่างกันโดยสิ้นเชิง ก็ต้องเคารพในสิทธิของกันและกัน เพราะทุกคนก็มีชุดความคิดของตัวเอง
สำหรับความคืบหน้าในการเรียกเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) คืนจากการกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. เนื่องจากละเมิดข้อตกลง (MOU) ที่ทำร่วมกันไว้ว่าจะต้องให้สิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้ายให้ครอบคลุมทุกแพลตฟอร์มตามกฎ Must Carry
ล่าสุด กสทช.ได้ส่งหนังสือไปยัง กกท. แล้วตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการตอบกลับจาก กกท. ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงาน กสทช.ตั้งคณะทำงานเพื่อคำนวนความเสียหายดังกล่าว ซึ่งจะพิจารณาด้านความเสียหายต่อประชาชน ต่อผู้ประกอบการต่างๆ ส่วนจะอยู่ในมูลค่าประมาณเท่าไหร่ เบื้องต้นยังประมาณมูลค่าไม่ได้ เนื่องจากยังมีขั้นตอนการแต่งตั้งคณะทำงาน คาดว่าจะสามารถแต่งตั้งได้หลังปีใหม่ 2566 ทั้งนี้ ยืนยันว่าการยกเลิกสัญญากับทรูฯ ไม่ใช่ทางออกที่ กกท.จะไม่ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น
หนุนคอนเท็นต์ทีวีไทยโกอินเตอร์
ส่วนมุมมองถึงการมีช่องดิจิทัลที่หลากหลาย แต่อาจไม่นำมาสู่การพัฒนาคอนเทนต์ ซึ่ง กสทช.ก็มีแนวทางการดำเนินการ มีช่องทางเรื่องการส่งเสริมให้มีการผลิตรายการที่มีคุณภาพ และส่งผลประโยชน์ต่อสังคม ที่เป็นไปตามมาตรา 52 ของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการสื่อ กิจการโทรทัศน์ ปี 2551 ที่ระบุว่าให้คณะกรรมการสามารถจัดทำเกณฑ์ในเรื่องนี้ได้ เป็นเรื่องที่ กสทช. กำลังดำเนินการอยู่ และคาดว่าในไตรมาส 1/2566 เตรียมจะเสร็จ และไตรมาส 2/2566 จะมีการทำประชาพิจารณ์ สุดท้ายอาจจะเป็นช่วงก่อนปลายปี 2566 ถึงจะมีการสนับสนุนตรงนี้ได้ และมีการจัดสรรเงินทุนมาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ
เบื้องต้นมาตรา 52 ระบุว่า คณะกรรมการสามารถสนับสนุนการผลิตเนื้อหารายการที่เป็นประโยชน์และมีคุณภาพ กสทช.จึงต้องมีเกณฑ์ที่มอง 3 ส่วนหลักที่มีข้อมูลทางวิจัยรองรับ 1.เนื้อหาเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน 2.เนื้อหาที่มีศักยภาพในแง่การที่จะผลิตร่วมกันกับผู้มีศักยภาพมากๆ ในต่างประเทศ และ 3.เนื้อหาสะท้อนความหลากหลายของสังคม ซึ่งแนวทางที่จะนำมาสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเกิดแรงจูงใจในการผลิตคือการสนับบสนุนด้านการเงินที่มีแพ็กเกจให้ ซึ่งมองการผลิตที่สามารถนำไปใช้เชิงพาณิชย์ รวมถึงให้ใช้ลิขสิทธิ์ในเชิงธุรกิจได้ ระยะถัดไปอาจจะมีการเวิร์คช้อปเพื่อเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการต่อไป
ทั้งนี้ มองว่าผู้ประกอบการไทย มีศักยภาพแต่ในแง่การผลิตเนื้อหา อาจมีเส้นเรื่องที่ยังไม่ได้มาตรฐานระดับสากล รวมถึงไม่ดึงดูดใจชาวต่างชาติ กสทช.จึงได้จัดให้มีผู้เชี่ยวชาญจากประเทศเกาหลี ซึ่งจำนวนงบประมาณค้างท่อปี 2565 จำนวน 200 ล้านบาท ซึ่งจะมีการขออนุมัติจากบอร์ด กสทช.ก่อน เป็นโอกาสที่ไทยจะสร้างชิ้นงานเป็นของตัวเอง รวมถึงสร้างศักยภาพเรื่องซอฟต์เพาเวอร์ไทยให้แข็งแรงสู่สายตาระดับโลก