มองกระแสลมเศรษฐกิจไทยปี 66 ในโลกที่ไม่แน่นอน
เศรษฐกิจไทยเป็นดังเรือที่เพิ่งผ่านมรสุมใหญ่คือการระบาดของโควิด-19 มาอย่างลำบาก แม้เรือลำนี้จะเริ่มเดินหน้าได้ในปี 2565 แต่ก็ต้องเผชิญกับทั้งแรงลมต้าน และแรงลมหนุน จำนวนมากจากภาวะเศรษฐกิจโลกและความขัดแย้งในภูมิรัฐศาสตร์ในปี 2566
หลังจากการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์และการควบคุมการเดินทางท่องเที่ยว เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ตั้งแต่ต้นปี 2565 แม้เผชิญกับปัญหาของแพง แต่เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ 3.2% ในปี 2565
ทีดีอาร์ไอคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ราว 3.5% ในปี 2566 ซึ่งได้รับ “แรงลมหนุน” จากการฟื้นตัวของการบริโภคครัวเรือนและรายได้จากการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่คาดว่าจะเริ่มกลับมาในครึ่งปีหลังของปีหน้า
อีกทั้งยังได้รับแรงหนุนจากการลงทุนภาคเอกชนและการย้ายฐานการผลิตออกมาจากประเทศจีน แต่อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยปีหน้าจะเผชิญกับ “แรงลมต้าน” จากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในหลายประเทศ ความขัดแย้งในภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาเงินเฟ้อและการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในโลก
แรงลมต้านนอกประเทศที่สำคัญคือ เศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงและอาจเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในหลายประเทศในปีหน้า ซึ่งเป็นผลพวงมาจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และเงินเฟ้อ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย
โดยการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เกิดจากความพยายามลดเงินเฟ้อโดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วในปีนี้และมีแนวโน้มว่าจะปรับเพิ่มต่อไปอีกในปีหน้า ซึ่งคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ อาจจะมากกว่า 5% ณ สิ้นปี 2566
ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนผ่านราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติที่แม้ว่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้วแต่ยังคงอยู่ในระดับสูงและจะเป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจยุโรปในปีหน้า
นอกจากนี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในโลกจะยังคงกดดันต่อต้นทุนการผลิตสินค้าโลก เนื่องจากการหยุดชะงักในห่วงโซ่อุปทานโดยเฉพาะในตลาดพลังงานและเซมิคอนดักเตอร์
สำหรับตลาดพลังงานแม้ว่าราคาก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้วแต่ยังคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจากอุปทานที่ตึงตัว และหากรัสเซียหรือยูเครนยกระดับการตอบโต้ในสงครามก็อาจกดดันให้ราคาพลังงานสูงขึ้นอีกครั้ง
สำหรับปัญหาการขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์คาดว่าจะยังคงขาดแคลนอีกอย่างน้อย 2 ปีจนกว่าบริษัทผลิตชิปที่ย้ายออกมาจากจีนจะสามารถสร้างโรงงานแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการผลิตทดแทนชิปจากจีนได้
เหล่านี้จะกลายเป็นแรงลมต้านจากภายนอกประเทศที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าในฐานะประเทศที่พึ่งพาการส่งออกและยังเป็นผู้นำเข้าพลังงานและวัตถุดิบเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์
สำหรับแรงลมต้านในประเทศที่สำคัญคือ ราคาสินค้าและอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยที่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปีหน้าตามการฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2566 อยู่ที่ 2.5%
นอกจากนี้ ผู้ผลิตยังได้เริ่มผลักภาระต้นทุนทั้งค่าพลังงานและค่าแรงไปยังผู้บริโภคผ่านการขึ้นราคา หลังจากก่อนหน้านี้ทำได้ค่อนข้างจำกัดเนื่องจากกำลังซื้อที่หายไปเพราะการระบาดของโควิด-19
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ โดยทีดีอาร์ไอคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 1.25% เป็น 2% ในสิ้นปีหน้า ซึ่งส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นราว 0.45% โดยเฉลี่ย
อย่างไรก็ดี การเปิดประเทศของจีนจะกลายเป็นแรงลมหนุนที่สำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทย เนื่องจากจีนเป็นตลาดส่งออกใหญ่เป็นอันดับสองของไทยรองจากสหรัฐฯ และเป็นแหล่งรายได้หลักของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งที่ผ่านมาการใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตในประเทศจีนที่ต้องนำเข้าสินค้าจากประเทศไทย
และยังจำกัดการเดินระหว่างประเทศของนักท่องเที่ยวชาวจีน ดังนั้น การผ่อนคลายนโยบายโควิดเป็นศูนย์ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงต้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 เป็นความหวังสำหรับภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวของไทยในปีหน้า แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดเป็นวงกว้างในจีนจะส่งผลต่อการผ่อนคลายมาตรการดังกล่าวในจีน
นอกจากนี้ สถานการณ์การเมืองในประเทศจีนและความขัดแย้งในภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้บริษัทต่างชาติในประเทศจีนจำนวนมากต้องย้ายฐานการผลิตออกจากจีน โดยส่วนหนึ่งย้ายมายังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะเวียดนามและประเทศไทย
ซึ่งอุตสาหกรรมที่ย้ายมาลงทุนในประเทศไทยจำนวนมากอยู่ในภาคเทคโนโลยีชั้นสูง เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วนรวมถึงรถยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี ตลอดจนเทคโนโลยีสารสนเทศและศูนย์ข้อมูล (data center)
ดังนั้น ประเทศไทยควรใช้ประโยชน์จากความแข็งแกร่งในฐานะผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงฐานการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคาร์บอนต่ำ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้มากขึ้นและกลายเป็นแรงลมหนุนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย
เพราะฉะนั้น ปีหน้าจะเป็นปีที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและความเสี่ยงจำนวนมาก ทั้งความขัดแย้งในภูมิรัฐศาสตร์ที่ไม่อาจคาดเดาจนเป็นความเสี่ยงต่อราคาพลังงาน ความมั่นคงในห่วงโซ่อุปทาน และภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก
แม้การเปิดเศรษฐกิจของจีนจะเป็นความหวังของเศรษฐกิจไทยแต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนหากอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ในจีนเพิ่มขึ้น เหล่านี้เป็นโจทย์สำคัญสำหรับทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลในปีหน้าเพื่อแล่นผ่านแรงลมต้านที่เป็นความท้าทายและใช้ประโยชน์จากแรงลมหนุนให้เรือที่ชื่อว่าประเทศไทยสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง