“สุพัฒนพงษ์” โชว์แผนงานปี 66 ชู 4 มิติ มุ่งสู่ยุคเปลี่ยนผ่านพลังงาน
กระทรวงพลังงาน ถือเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนนโยบายด้านพลังงาน ซึ่งจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและราคาพลังงานโลกพุ่งสูงขึ้น "สุพัฒนพงษ์" รมว. พลังงาน ชูนโยบายปี 66 ดันแผนงาน 4 มิติ มุ่งสู่ยุคเปลี่ยนผ่านพลังงาน
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ทิศทางของนโยบายพลังงานในปี 2566 ยังต้องติดตามสถานการณ์พลังงานอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการพลังงานให้มีความต่อเนื่อง เพื่อให้มีปริมาณเพียงพอกับที่คาดการณ์ว่าแนวโน้มความต้องการใช้พลังงานจะเพิ่มขึ้น กระทรวงพลังงานต้องปรับบทบาทองค์กรก้าวสู่ยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition)
นอกจากจะต้องสร้างความมั่นคงด้านพลังงานแล้ว ยังต้องเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายและการดำเนินการหลายด้านเพื่อขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) อาทิ การส่งเสริมการผลิตพลังงานสะอาดให้เป็นไปตามเป้าหมาย การปรับตัวเพื่อรองรับและส่งเสริมการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) พร้อมๆ ไปกับติดตามและบริหารจัดการสถานการณ์ราคาพลังงาน เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบการ รวมทั้งสร้างพันธมิตรและร่วมมือกับทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการพัฒนา เพื่อให้เกิดการลงทุนธุรกิจพลังงานใหม่ๆ ตามเป้าหมาย
สำหรับแผนงานสำคัญของกระทรวงพลังงานในปี 2566 จึงมุ่งสู่พลังงานสะอาดเพื่อตอบโจทย์สังคมยุคไร้คาร์บอน โดยได้วางแผนงานและโครงการแบ่งเป็น 4 มิติ ประกอบด้วย
มิติที่ 1 พลังงานสร้างความมั่นคงสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยแผนพลังงานชาติและแผนพลังงานรายสาขาใหม่เน้นการส่งเสริมพลังงานสะอาด ตามเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 มีแผนการลงทุน Grid Modernization ของประเทศฉบับแรก ปลดล็อค ปรับปรุงกฎ กติกา เพื่อส่งเสริมการซื้อขายไฟฟ้าสะอาดเชิงพื้นที่ ส่งเสริมการลงทุนรถ EV และสถานีอัดประจุไฟฟ้า รวมทั้งศึกษาศักยภาพ กำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS)
มิติที่ 2 พลังงานเสริมสร้างเศรษฐกิจ ด้วยการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในประเทศ และประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าการนำเข้า Spot LNG เร่งพัฒนาเครื่องมือทางการเงินเพื่อส่งเสริมพลังงานทดแทน และการอนุรักษ์พลังงาน พร้อมกันนี้ยังส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาสำหรับหน่วยงานของรัฐ การบังคับใช้เกณฑ์ด้านพลังงานสำหรับการออกแบบอาคารสร้างใหม่ (BEC) เป็นต้น
ทั้งนี้ การลงทุนทางด้านพลังงานในประเทศในปี 2566 คาดว่าจะเกิดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจในมิตินี้กว่า 240,000 ล้านบาท
มิติที่ 3 พลังงานลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยส่งเสริมการลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวล/ก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงานเพื่อชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก โดยเร่งการลงทุน 200 เมกะวัตต์ คาดว่าจะมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจรวม 20 ปีประมาณ 37,700 ล้านบาท และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 630,737 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ในมิตินี้ยังมีการพัฒนาระบบไฟฟ้าสำหรับพื้นที่เกาะและพื้นที่ห่างไกล และที่สำคัญก็คือมาตรการการช่วยเหลือด้านพลังงานแบบเฉพาะให้กับกลุ่มเปราะบาง เช่น ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือช่วยเหลือค่าไฟฟ้าแก่ผู้มีรายได้น้อย
มิติที่ 4 การพัฒนาองค์กรเพื่อให้บริการ โดยเผยแพร่ข้อมูลด้านพลังงานรูปแบบ Interactive Dashboard แสดงข้อมูลเชิงลึกด้านพลังงานผ่านการประมวลผลรูปแบบที่เข้าใจง่าย เพื่อใช้สื่อสารให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพด้านดิจิทัลในการดำเนินงานด้านพลังงาน
“ในปี 2566 สภาพัฒน์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3 - 4% จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว การบริโภค การลงทุน และการผลิตภาคเกษตร สถานการณ์กำลังปรับตัวไปในทิศทางที่เป็นบวก แต่เรายังเผชิญปัจจัยที่มีความไม่แน่นอนด้านพลังงาน และกระแสการลดโลกร้อนกำลังทวีความสำคัญ เพราะฉะนั้น การพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดจะเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินนโยบายด้านพลังงาน เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการดูแลผลกระทบจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่ผันผวนต่อเนื่องให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง”