10 ประเด็นชวนคิดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2566 | พงศ์นคร โภชากรณ์
ปี 2566 เป็นปีที่หลายคนมองว่าเศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวได้ดี แต่ต้องไม่ลืมว่าปัญหาภายนอก 3 อย่าง ยังตามหลอกหลอนเราอยู่ นั่นคือ ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และปัญหาโควิด-19
ดังนั้น เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เศรษฐกิจ รัฐบาลจำเป็นต้องทำให้เศรษฐกิจแข็งแรงจากภายในโดยเร็ว ผมจึงเสนอ 10 ประเด็นชวนคิด เพื่อเป็นฐานคิดในการออกแบบนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2566 ดังนี้
1. ระดับประเทศ: โจทย์ที่เราต้องคิดใหม่ คือ เราจะอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางไปอีก 10 – 15 ปี นานไปหรือไม่ นั่นจะทำให้เราจะกลายเป็นประเทศที่แก่ก่อนรวย
สัดส่วนการลงทุนรวมต่อ GDP ของเราจะอยู่ต่ำกว่า 25% ของ GDP ไปอีกนานเพียงใด ไม่งั้นเราจะเติบโตช้าเรื้อรัง สิ่งที่เราต้องมุ่งมั่นจริงจังจะทำ ประกอบด้วย
ประเด็นชวนคิดที่ 1 การมุ่งเป็นประเทศรายได้สูงก่อนที่ประชากรจะลดลง เพราะจากแบบจำลองประชากรขององค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่า ไทยจะมีประชากรลดลงตั้งแต่ปี 2573 เป็นต้นไป หรือ 8 ปีข้างหน้า
ทำให้เราต้องเผชิญหน้ากับการขาดแคลนคนทำงาน สร้าง GDP และจ่ายภาษี ซ้ำเติมปัญหาสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ที่จะเริ่มในปี 2566 นี้
ฉะนั้น ทุนและเทคโนโลยีจะมีบทบาทสำคัญมากในการพัฒนาประเทศ การลงทุนต่อ GDP ควรจะมากกว่า 30% ต่อ GDP ต่อเนื่องทุกปี ภาษีที่จัดเก็บได้ควรจะมากกว่านี้
ประเด็นชวนคิดที่ 2 การไต่อันดับขีดความสามารถในการแข่งขันเป็น TOP 20 ของโลก โดยล่าสุดในปี 2565 อันดับโดยรวมเราลดลงมา 5 อันดับ จาก 28 มาอยู่ที่ 33 ของโลก ซึ่งเป็นผลจากการลดลงทั้ง 4 ด้าน
ได้แก่ สมรรถนะทางเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพภาครัฐบาล ประสิทธิภาพภาคธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้น ระยะสั้นต้องกลับมาเท่าเดิมก่อน
และระยะกลางถึงยาว เน้นเรื่องการพัฒนาระบบดิจิทัล การศึกษา สาธารณสุข เพิ่มการลงทุนพื้นฐานทุกภูมิภาค ขยายตลาดแรงงาน เพิ่มทักษะแรงงาน และปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ ให้ทันสมัยมากขึ้น
2. ระดับจังหวัด: โจทย์สำคัญในระดับนี้ คือ เรามีช่องว่างการพัฒนาขนาดใหญ่ทั้งในระหว่างจังหวัดที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน หรือแม้แต่ในระหว่างอำเภอในจังหวัดเดียวกัน นำมาซึ่งปัญหาการเติบโตที่ไม่ทั่วถึง อ่อนแอ และไม่พร้อมในหลายจังหวัด
ฐานข้อมูลที่สามารถชี้ปัญหา (Pain point) ก็มีอยู่เยอะ แต่ขาดการนำมาใช้ประโยชน์เท่าที่ควร เช่น ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ข้อมูลปัญหาเศรษฐกิจและสังคมระดับหมู่บ้าน (กชช.2ค) ดัชนีความก้าวหน้าของคน (HAI) เป็นต้น
สิ่งที่เราน่าจะทำให้ต่อเนื่องไปในอนาคต ประกอบด้วย
ประเด็นชวนคิดที่ 3 การเพิ่มขนาด GPP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด) ในจังหวัดรองรวมกัน ให้ขึ้นมาใกล้เคียงกับจังหวัดหลัก ปัจจุบัน 15 จังหวัดหลักทางเศรษฐกิจ ได้แก่
กทม.และปริมณฑล EEC เชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น ภูเก็ต สงขลา และสุราษฎร์ธานี กินสัดส่วนใน GDP ประมาณ 70% อีก 30% เป็น GPP ของ 62 จังหวัดรวมกัน ซึ่งกระจุกตัวเกินไป
ในอนาคตต้องสร้างจังหวัดเศรษฐกิจหลักรุ่นที่ 2 ขึ้นมาอย่างน้อย 10 จังหวัด เพื่อเป็นเครื่องยนต์ใหม่ (Engine of Growth) ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การลงทุน การค้า การส่งออก การจ้างงาน และการอยู่อาศัย และเพื่อกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค
ประเด็นชวนคิดที่ 4 การเร่งลงทุนปิดช่องว่างการพัฒนาในแต่ละจังหวัด โดยนำข้อมูลมากางดูว่าในแต่ละจังหวัดปัญหาที่สะท้อนจากข้อมูล กชช.2ค คืออะไร แต่ละจังหวัด อำเภอ ตำบล มีช่องว่างการพัฒนาไม่เหมือนกัน
รัฐบาลจึงต้องลงทุนไปเพื่อปิดช่องว่างนั้นโดยตรงเป็นลำดับแรก ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ลงได้ และตอบโจทย์ของประชาชนในพื้นที่
3. ระดับท้องถิ่น: ส่วนตัวผมคิดว่าระดับท้องถิ่น (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท.) น่าเป็นห่วงมากที่สุด เพราะหน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจจะมุ่งความสนใจไปที่ระดับประเทศและระดับบุคคลมากกว่า
เมื่อการวิเคราะห์ไม่ลึกพอ ก็ทำให้การแก้ปัญหาท้องถิ่นไม่ตรงเป้า ไม่ช่วยเสริมศักยภาพท้องถิ่นในการหารายได้ ไม่แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างท้องถิ่น ที่สำคัญเราขาดฐานข้อมูลท้องถิ่น ผมคิดว่าสิ่งที่เราต้องช่วยกันคิด ได้แก่
ประเด็นชวนคิดที่ 5 การทำลายกำแพง Hamilton’s Paradox ในความเป็นจริงท้องถิ่นจะมีรายได้ที่จัดเก็บเองส่วนหนึ่ง ได้จากรัฐบาลส่วนกลางจัดเก็บให้และแบ่งให้อีกส่วนหนึ่ง และได้จากเงินอุดหนุนอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งตัวหลังสำคัญมากเพราะเป็นเงินก้อนใหญ่
ข้อมูลเชิงประจักษ์ คือ อปท. ที่จัดเก็บรายได้เองได้น้อยก ลับได้เงินอุดหนุนน้อยตามไปด้วย ทำให้ไม่มีแรงจูงใจในการพัฒนาศักยภาพของท้องถิ่น ต้องพึ่งพาเงินอุดหนุนจากส่วนกลางอยู่ร่ำไป ตรงนี้เรียกว่า Hamilton’ Paradox ฉะนั้น รัฐบาลต้องช่วยให้ท้องถิ่นสร้างศักยภาพในการหารายได้ขึ้นมา
ประเด็นชวนคิดที่ 6 การปรับวิธีการจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่ อปท. ที่ยากจน อ่อนแอ ขาดศักยภาพและขาดความพร้อมในการรายได้ก่อนเป็นลำดับแรก
ผมลองนำข้อมูลรายได้ของ อปท. ทุกแห่งในแต่ละจังหวัดมารวมกันแล้วหาค่าเฉลี่ยของประเทศ เรียงจากมากไปน้อย แล้วนำไปเทียบกับเงินอุดหนุนที่ได้รับ พบว่า จังหวัดที่ อปท. จัดเก็บรายได้ได้มาก ยังได้รับเงินอุดหนุนมากตามไปด้วย
แปลว่า จังหวัดไหนเก็บได้มากก็เติมให้มาก จังหวัดไหนเก็บได้น้อยก็เติมให้น้อย ฉะนั้น ควรปรับการจัดสรรเงินอุดหนุนใหม่ โดยให้แต้มต่อกับ อปท. ที่ยากจน อ่อนแอ ขาดศักยภาพและความพร้อมในการรายได้ เพื่อสร้างความเสมอภาคให้เกิดขึ้น
ประเด็นชวนคิดที่ 7 การสนับสนุนให้ อปท. สร้างฐานข้อมูลรายหลังคาเรือนเป็นของตนเอง โดยนำระบบดิจิทัลมาช่วย ซึ่งจะช่วยให้ทุกภาคส่วน (รัฐบาล อปท. ชาวบ้าน) เข้าถึงข้อมูลแบบ Data Visualization และสามารถนำไปทำ Data Analytics ได้ ช่วยให้นักวิเคราะห์เศรษฐกิจท้องถิ่นมีเครื่องมือในการวิเคราะห์และวางแผน
4. ระดับบุคคล: โจทย์ระดับบุคคลไม่ได้อยู่ที่การวิเคราะห์ข้อมูล เพราะมีหลายหน่วยงานวิเคราะห์อยู่แล้ว และมีเครื่องมือหลายอย่าง เช่น Big Data ผู้มีรายได้น้อยของกระทรวงการคลัง TPMAP ของสภาพัฒน์ฯ
แต่ปัญหา คือ การจัดสรรงบประมาณแก้จนบิดเบี้ยว และการช่วยเหลือมีความซ้ำซ้อน ประเด็นที่ผมอยากชวนคิด ได้แก่
ประเด็นชวนคิดที่ 8 การจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาความยากจนควรแบ่งตามสัดส่วนคนจนต่อประชากร ที่ผ่านมางบประมาณในการแก้จนถูกนำไปรวมกับงบประมาณด้านอื่น ๆ
ทำให้ขนาดของพื้นที่ ขนาดของเศรษฐกิจ จำนวนประชากร งบประมาณที่ได้รับในอดีต เป็นตัวกำหนดงบประมาณที่ได้รับ ทำให้การแก้จนบิดเบี้ยว ไม่เพียงพอ
ดังนั้น ควรจัดสรรงบประมาณแก้จนแยกออกมาต่างหาก และควรใช้สัดส่วนคนจนเป็นตัวตั้ง
ประเด็นชวนคิดที่ 9 การนำฐานข้อมูลผู้มีรายได้น้อยที่ผ่านการคัดกรองแล้วไปใช้ในการจัดสรรสวัสดิการ หน่วยงานที่มีหน้าที่ช่วยเหลือ เยียวยา บรรเทาภาระค่าครองชีพ ให้แก่กลุ่มคนต่าง ๆ
เช่น คนจน คนพิการ ผู้สูงอายุ เกษตรกร ผู้ที่ไม่มีประกันสังคม พ่อค้าแม่ค้า หาบเร่แผงลอย ขับรถรับจ้าง คนตกงานว่างงาน ที่อยู่ในแต่ละจังหวัด อำเภอ ตำบล
ควรนำฐานข้อมูลนี้ไปใช้วิเคราะห์ ชี้เป้า พัฒนาอาชีพ จัดสรรงบประมาณ จะได้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และตรวจสอบข้อมูลระหว่างกันได้
ประเด็นชวนคิดที่ 10 การขจัดความซ้ำซ้อนของสวัสดิการเพื่อเพิ่มพื้นที่ทางการคลัง เท่าที่รวบรวมพบว่า ประเทศไทยมีสวัสดิการตั้งแต่เกิด เรียน ทำงาน จน ป่วย ชรา ตาย ถึง 71 สวัสดิการ
หลายสวัสดิการให้กับกลุ่มคนกลุ่มเดียวกัน ครัวเรือนหนึ่ง ๆ อาจได้รับสวัสดิการหลายอย่าง ทำให้มีการจ่ายสวัสดิการเกิดความซ้ำซ้อน
ดังนั้น การทำ Big Data สวัสดิการทั้งระบบจะช่วยขจัดความซ้ำซ้อนได้ และทำให้มีงบประมาณเหลือไปทำอย่างอื่น
ผมเชื่อว่า หากเรามีทางออกที่ชัดเจนใน 10 ประเด็นข้างต้น ก็น่าจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม ประชาชนเล็งเห็นอนาคต หลายอย่างคงไม่สำเร็จภายในปี 2566 แต่อย่างน้อย ก็ควรจะเริ่มทำได้แล้ว
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้ผูกพันเป็นความเห็นขององค์กรที่สังกัด