ปีใหม่ ราคาใหม่! ปี 2566 คนไทยต้องเตรียมจ่ายค่าอะไรเพิ่มบ้าง?

ปีใหม่ ราคาใหม่! ปี 2566 คนไทยต้องเตรียมจ่ายค่าอะไรเพิ่มบ้าง?

ปีใหม่ ราคาใหม่! ส่งท้ายปีเก่า 2565 ต้อนรับปี 2566 ด้วย "ค่าครองชีพ" ที่ไม่น่ารักเหมือนน้องกระต่าย แถมดอกเบี้ยเงินกู้ก็ปรับขึ้น ภาษีขายหุ้นก็เตรียมเริ่มเก็บ.. มาอัปเดตกันว่า คนไทยเตรียมตัวรับมือกับค่าใช้จ่าย มีอะไรปรับขึ้นบ้าง?

ปี 2565 ถือเป็นปีที่ทั้ง “โหด” และ “หิน” ที่สุดอีกปีหนึ่ง ไม่เพียงเฉพาะกับคนไทยเท่านั้น แต่ยังระบมกันไปทั้งโลก ด้วยทั้งการระบาดของโควิด-19 ยังไม่สิ้นลายดี วิกฤติเศรษฐกิจ สงครามรัสเซีย-ยูเครน วิกฤติพลังงาน ฯลฯ ก็ซัดกระหน่ำ ลามมาถึงเงินในกระเป๋าสตางค์กันถ้วนหน้า

หลายคนส่งคำอวยพรขึ้นต้น "ปีใหม่ 2566" ให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น แต่.. ความจริงก็คือ เรามีต้นทุน "ค่าครองชีพ" รวมถึง ค่าโน่น ค่านี่ ค่านั่น จ่อรอปรับขึ้นอีกหลายรายการ แบบไม่รู้จะจบที่ตรงไหน

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนส่องดูกันว่า ในปี 2566 นี้ มีอะไรปรับขึ้นบ้าง (อัปเดต ณ 30 ธ.ค.65)

  • ดอกเบี้ยขาขึ้น.. ภาษีขายหุ้น ก็สุดยื้อ ถึงเวลาต้องจ่าย!

ภายหลังการเปิดประเทศ ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น รวมไปถึงทิศทางดอกเบี้ยทั่วโลกมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ “ธนาคารแห่งประเทศไทย” ทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องให้สอดคล้องกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว และได้พิจารณาปรับอัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) กลับมาที่ระดับปกติที่ 0.46%สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น และเพื่อเป็นการส่งผ่านผลของนโยบายดังกล่าว

ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ จึงทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR, MOR และ MRR 0.40% ซึ่งเริ่มมีผลตั้งแต่เดือนม.ค.2566 เป็นต้นไป

ดอกเบี้ยเงินกู้

ขณะที่ฝั่งนักลงทุนเองก็ต้องเตรียมรับแรงกระแทก หลังจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติให้ "เก็บภาษีขายหุ้น 0.1%" หลังจากเว้นการเก็บภาษีดังกล่าวมานานกว่า 30 ปี โดยจะมีผล 90 วันหลังประกาศใช้หรือประมาณไตรมาส 2 ปี 2566

โดยในปีแรกเก็บอัตรา 0.055% เมื่อรวมภาษีท้องถิ่น คาดจัดเก็บรายได้เพิ่มไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาท

  • รถไฟฟ้า-แท็กซี่ ขอขึ้นราคาด้วย

สำหรับในส่วนของขนส่งระบบราง เส้นทางหลักที่คนเมืองต้องพึ่งพา อย่างรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดิน ก็เตรียมปรับขึ้นราคาโดยมีผลตั้งแต่ 1 ม.ค. 2566 เป็นต้นไป โดยมีรายละเอียด ดังนี้

รถไฟฟ้า BTS

- สายสุขุมวิท (หมอชิต-อ่อนนุช)
- สายสีลม (สนามกีฬาฯ-สะพานตากสิน)
- ส่วนต่อขยายสายสีลม (กรุงธนบุรี-วงเวียนใหญ่)

ปรับขึ้นจากราคา 16 - 44 บาท ปรับเป็น 17 - 47 บาท

มีผล 1 ม.ค. 2566

รถไฟฟ้าสายสีทอง (สถานีกรุงธนบุรี-สำนักงานเขตคลองสาน)

ปรับขึ้นจากราคา 15 บาทตลอดสาย ปรับเป็น 16 บาทตลอดสาย

มีผล 1 ม.ค. 2566

รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน)

- ช่วงหัวลำโพง - บางซื่อ
- ช่วงหัวลำโพง - บางแค
- ช่วงบางซื่อ - ท่าพระ

ปรับขึ้น จากราคา 17-42 บาท ปรับ 17-43 บาท

มีผล 1 ม.ค. 2566

รถยนต์แท็กซี่ (TAXI - METER) ที่จดทะเบียนในกรุงเทพฯ เป็นรถเก๋งสามตอน รถเก๋งสามตอนแวน รถยนต์นั่งสามตอน และรถยนต์นั่งสามตอนแวน

ปรับขึ้นราคา จากระยะทาง 1 กิโลเมตรแรก 35 บาท ปรับเป็น 40 บาท

ทั้งนี้ รอประกาศลงราชกิจจานุเบกษา

  • ค่าไฟ-ค่าก๊าซ ปีใหม่.. ราคาใหม่!

อีกหนึ่งภาระค่าใช้จ่ายที่จะกระทบเงินในกระเป๋าของเราแน่ๆ นั่นก็คือ ต้นทุนพลังงาน เนื่องจากจะมีการปรับขึ้นราคา ดังนี้

ค่าไฟฟ้า

- ภาคประชาชน คิดที่อัตราคงเดิม คือ หน่วยละ 4.72 บาท

- ภาคธุรกิจ ปรับเพิ่มขึ้นหน่วยละ 0.61 บาท เป็น 5.33 บาท

มีผล 1 ม.ค. 2566

ก๊าซหุงต้ม LPG

- ขยายเวลาตรึงราคาถัง 15 กก. ที่ 408 บาท อีก 1 เดือน (1-31 ม.ค.66) หลังจากนั้นอาจพิจารณาราคาใหม่

ก๊าซธรรมชาติ NGV

ปรับขึ้นราคารถยนต์ทั่วไป 1 บาท/กก.

จาก 16.59 บาท เป็น 17.59 บาท/กก.

มีผลไปแล้วตั้งแต่เมื่อ 16 ธ.ค. 65 ที่ผ่านมา