ต้อนรับ 2566 ปีของการเปลี่ยนแปลง | บัณฑิต นิจถาวร
วันนี้วันที่ 2 มกราคม วันจันทร์แรกของปี ขอส่งความสุขและต้อนรับผู้อ่านและแฟนคอลัมน์ "เศรษฐศาสตร์บัณฑิต" สู่ปี 2566 ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ มีชีวิตที่มีแต่ความสุข สมหวังในสิ่งที่ปรารถนา และเป็นตัวอย่างพลเมืองที่ดีของประเทศ
ในวันแรกของปี ตอนแรกอยากคุยเรื่องเบาๆ แต่ก็หาเรื่องเบาๆ คุยหรือเขียนไม่ได้ เพราะใจนึกอยู่แต่ว่าปีนี้น่าจะเป็นปีพลิกผันสำคัญ ที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า defining year คือปีที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น
เป็นจุดเริ่มต้นนําไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหญ่ หรือสำคัญที่เกิดขึ้นตามมา ซึ่งในใจผมตอนนี้นึกถึงอยู่สามเรื่อง เป็นต่างประเทศสองเรื่อง และบ้านเราหนึ่งเรื่อง นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
การเปลี่ยนแปลงแรก คือจีน ที่ปีนี้จะเป็นปีที่จีนจะกลับมามีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจโลกหลังได้ลดบทบาทในเวทีโลกลงเพราะการระบาดของโควิด เป็นปีที่จีนจะกลับมาขยายอิทธิพลของตนในเศรษฐกิจโลก
วางตำแหน่งตนเองในฐานะประเทศผู้นําในระเบียบเศรษฐกิจและการค้าโลก และพร้อมท้าทายความเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของสหรัฐอย่างเปิดเผย นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นปีนี้
ต้องเข้าใจว่าเป้าหมายที่จะนำจีนกลับสู่ความเป็นหนึ่ง และความเป็นประเทศผู้นําของโลกนั้นอยู่ในใจผู้นำจีนมาตลอด เพราะเป็นการกลับไปสู่สถานะและความยิ่งใหญ่ที่จีนเคยมีในอดีต
ที่จีนมองตนเองว่าเป็น Middle Kingdom หรืออาณาจักรที่เป็นศูนย์กลางของอารยธรรมและความเจริญรุ่งเรืองของโลก
เป็นสิ่งที่จีนเคยเป็น เป็นสิ่งที่จีนเคยมี และเป็นเป้าหมายของผู้นําจีนรุ่นปัจจุบันที่จะนําจีนกลับสู่ความยิ่งใหญ่
สะท้อนได้จากปาฐกถาของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 เดือนตุลาคม ว่าจีนต้องเป็นประเทศผู้นําหลักของโลกภายในปี 2049 และประธานาธิบดี สี จิ้นผิงได้รับการต่ออายุให้ดำรงตำแหน่งเป็นวาระที่สาม
จีนปัจจุบันเป็นประเทศมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับสองของโลก มีสหรัฐเป็นอันดับหนึ่ง และจีนมองตนเองว่าเป็นมหาอำนาจขาขึ้นขณะที่สหรัฐเป็นมหาอำนาจขาลง ทําให้การขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สะท้อนระเบียบเศรษฐกิจและการค้าโลกที่กําลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน จากระเบียบปัจจุบันที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐประเทศเดียว ไปสู่ระเบียบเศรษฐกิจที่จะมีหลายขั้วอำนาจเข้ามีอิทธิพล (Multi-Polar) และมีจีนเป็นขั้วอำนาจใหญ่และเป็นขั้วอํานาจหลัก ซึ่งปัจจุบันจีนพร้อมแล้วที่จะผลักดันการเปลี่ยนผ่านนี้
ดังนั้น ปีนี้เราจะเห็นบทบาทที่สูงขึ้นของจีนในเวทีโลก เริ่มจาก
1.ทําให้เศรษฐกิจจีนกลับไปสู่ความเป็นปรกติเหมือนก่อนโควิดให้มากสุดและเร็วสุด
เห็นได้จากการผ่อนคลายการควบคุมโควิดอย่างฉับพลันที่จะนำไปสู่การเปิดประเทศในปีนี้ การใช้ทรัพยากรภาครัฐเข้าแก้ไขปัญหาที่คั่งค้างอยู่ เช่น อสังหาริมทรัพย์และกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งหมดก็เพื่อให้เศรษฐกิจจีนกลับมาขยายตัว
2.ขยายบทบาทจีนในเวทีการค้าโลก ที่จีนจะแสดงภาวะผู้นำรักษาระบบการค้าแบบพหุภาคีของโลกเอาไว้ สนับสนุนการร่วมมือระหว่างประเทศ และเข้าเป็นสมาชิกเขตการค้าเสรี CPTPP เพื่อแสดงความพร้อมที่จีนจะปรับมาตรฐานทางการค้าให้สูงขึ้นในฐานะประเทศผู้นําทางเศรษฐกิจ
3.ตอบโต้มาตรการของสหรัฐ ที่จะปิดกั้นการขยายอิทธิพลและบทบาทของจีนในเศรษฐกิจโลกและท้าทายสหรัฐในความเป็นประเทศผู้นําทางเศรษฐกิจ
นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้น ที่จะปักหมุดการเปลี่ยนผ่านอำนาจทางเศรษฐกิจ พูดได้ว่าเป็นครั้งแรกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
เรื่องที่สอง ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญคือการต้องเอาจริงกับภาวะโลกร้อน ที่ปีนี้โลกจะร้อนขึ้นอีกเพราะการแก้ปัญหาไม่คืบหน้า ความวิปริตของอากาศและภัยพิบัติธรรมชาติจะยิ่งรุนแรง ไม่ว่า ไฟป่า น้ำท่วม อากาศหนาวจัด ภัยแล้ง และแผ่นดินไหว
ทั้งหมดจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและชีวิตประชาชนอย่างไม่เคยมีมาก่อนแม้จะไม่สามารถทํานายได้ว่าภัยพิบัติแบบไหนจะเกิดขึ้น
ที่สำคัญ เมื่อซํ้าเติมด้วยผลของสงครามและการขาดแคลนอาหาร มีการวิเคราะห์ว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ปีนี้ เราจะเห็นวิกฤติภัยต่อมนุษยชาติ (humanitarian crises) ที่รุนแรงเกิดขึ้นในหลายพื้นที่
กระทบความเป็นความตายของคนทั่วโลกกว่า 300 ล้านคน กดดันให้รัฐบาลและธุรกิจทั่วโลกต้องตื่นตัว เร่งลดการใช้พลังงาน น้ำมัน นำไปสู่การออกมาตรการทั่วโลกที่จะหยุดโลกร้อน
ส่วนเรื่องที่สาม คือการเมืองในประเทศเรา ที่ประชาชนรู้สึกเบื่อและพอแล้วกับระบบการเมืองปัจจุบันที่ไม่จริงจังที่จะแก้ปัญหาและทําให้ความเป็นอยู่ของคนในประเทศดีขึ้น เริ่มมองหาแนวทางหรือทางเลือกใหม่
มีผู้รู้ท่านหนึ่งเคยให้ข้อสังเกตว่า การเมืองคือการต่อสู้ระหว่างคนสองกลุ่ม คือกลุ่มที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงให้ประเทศดีขึ้น กับกลุ่มที่ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง เพราะกลัวจะสูญเสียสิ่งที่มีอยู่ เป็นบริบทของการเมืองในทุกประเทศ
กลุ่มที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงคือ ชนชั้นกลางและคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความหวัง ต้องการชีวิตและอนาคตทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น
ส่วนที่ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงคือ กลุ่มอนุรักษนิยม ที่ได้ประโยชน์จากระบบปัจจุบัน กลัวสูญเสียสิ่งที่มีอยู่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง และพร้อมรักษาสิ่งที่มีอยู่เอาไว้
การเมืองในบ้านเราก็ไม่หนีบริบทนี้ แต่ที่ผ่านมาการเลือกตั้งบ้านเราจะสะท้อนการชิงอำนาจในกลุ่มอนุรักษนิยมด้วยกันเป็นสำคัญ
คือแย่งกันเป็นรัฐบาล ระหว่างกลุ่มที่อยู่ในอำนาจกับกลุ่มที่เคยมีอำนาจเคยเป็นรัฐบาลและอยากกลับมามีอำนาจอีก มากกว่าที่จะเป็นการต่อสู้ระหว่างประชาชนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงกับที่ไม่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลง
ปีนี้เป็นปีเลือกตั้ง ที่จะเกิดขึ้นคือ ประชาชนเบื่อหน่ายกับระบบการเมืองที่ประเทศมี ต้องการเห็นประเทศเปลี่ยนแปลงดีขึ้น และสนับสนุนการเมืองที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างล้นหลาม.
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล