ความยืดเยื้อของความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) เป็นประเด็นที่ทั่วโลกยังคงจับตาอย่างใกล้ชิดในปี 2566 โดยเฉพาะสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่อาจนำไปสู่มาตรการคว่ำบาตรและมาตรการตอบโต้เพิ่มขึ้น รวมถึงปัญหาระหว่างจีนและสหรัฐ โดยเฉพาะกรณีไต้หวันที่อาจนำมาสู่มาตรการกีดกันทางการค้าและการลงทุนที่รุนแรงขึ้น ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ภาคเอกชนจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะมีผลต่อราคาพลังงาน โกบอลซัพพลายเชนและการเคลื่อนย้ายทุน
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ยังมีต่อเนื่อง เพียงแต่จะไม่เป็นการทำสงครามร้อนระหว่างกัน โดยคาดว่าจะเป็นลักษณะสงครามเย็นหรือการกีดกันทางการค้าระหว่างกันแทน ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นต่อเนื่องเพราะยังไม่ถึงจุดที่คู่ขัดแย้งหรือประเทศต่างๆ อยู่กันไม่ได้ แต่หากถึงจุดนั้นเมื่อไร เชื่อว่าการเจรจาจะเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตามในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้ เป็นช่วงที่ประเทศไทยควรมองหาโอกาสเพื่อสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ ปัญหาการขาดแคลนสินค้าที่เกิดมาจากความขัดแย้งใด ๆ นั้น หากประเทศไทยมี และสามารถเข้าไปทดแทนได้ก็จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทย หากเราไม่มี ก็มองหาลู่ทางว่าจะสามารถดึงการลงทุนสินค้าหรืออุตสาหกรรมนั้น ๆ มายังประเทศไทยได้หรือไม่
“ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์อาจกดดันให้ประเทศต่างๆ เลือกข้างมากขึ้น แต่สำหรับประเทศไทยที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็ก ไม่สามารถลดการพึ่งพาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ การเป็นมิตรกับทุกฝ่ายและไม่เข้าไปอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งนั้น จะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของประเทศไทย เราต้องอยู่ตรงกลางรักษาสมดุลไว้ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศมากที่สุด”นายสนั่น กล่าว
สำหรับปี 2566 คาดว่าเศรษฐกิจของเอเชียจะยังเติบโตได้ ในขณะที่สหรัฐและยุโรปจะเผชิญกับปัญหาการชะลอตัวหรือการถดถอยทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสหรัฐนั้น เราต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะการออกหรือการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะด้านการเงินจะส่งผลกระทบไปทั่วโลก โดยสหรัฐสามารถเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินได้รวดเร็วมาก เช่น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมา
ในขณะเดียวกันสหรัฐก็สามารถอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบได้อย่างทันทีเช่นกัน ดังนั้น การดำเนินนโยบายใดของไทยจึงไม่ควรยึดติดกับการขึ้นลงของสหรัฐเป็นหลัก เพราะเราจะตามเขาไม่ทันและอาจเกิดผลกระทบตามมาได้
อย่างไรก็ตามประเทศไทยควรพึ่งพาตัวเองให้มาก โดยปัจจัยที่เป็นตัวขับเคลื่อนในปี 2566 เป็นเรื่องของการส่งออก การท่องเที่ยว และการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ แม้ว่าการส่งออกจะไม่เติบโตดีเหมือนปี 2565 แต่ก็ยังเป็นตัวช่วยที่ดี ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวจะเติบโตได้โดดเด่นขึ้น ยิ่งประเทศจีนเปิดประเทศ ก็จะยิ่งมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มมากขึ้น เชื่อว่าดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2566 จะเป็นบวกได้ ทั้งนี้ หอการค้าไทย ยังเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยยังสามารถเติบโตได้ ทั้งภาคการท่องเที่ยวและบริการที่จะกลับมาคึกคัก แม้จะยังไม่เต็มที่ แต่ก็มีสัญญาณที่ดีมาก
ไทยต้องเร่งดึงลงทุน“เอฟดีไอ”
นายสนั่น กล่าวว่า ส่วนการดึงดูดการลงทุนนั้น ประเทศไทยต้องเร่งดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ให้มากและรวดเร็วที่สุด เนื่องจากความพร้อมและความเชื่อมั่นของไทย ภายหลังจากการเป็นเจ้าภาพเอเปคที่ผ่านมา จะเป็นแรงหนุนให้เกิดการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีความพร้อมรองรับการลงทุนจากทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศยุทธศาสตร์เป้าหมาย ทั้งซาอุดิอาระเบีย จีน เวียดนาม อินเดีย และการรักษากลุ่มนักลงทุนเดิมที่สำคัญอย่างญี่ปุ่นและสหรัฐ
ทั้งนี้ หากไทยปรับตัวช้าเท่ากับเสียโอกาสครั้งยิ่งใหญ่ในการช่วงชิงจังหวะการเติบโตของเศรษฐกิจ เพราะหากมองประเทศเพื่อนบ้าน เช่นเวียดนาม อินโดนีเซีย ต่างพากันปัดฝุ่นปูพรมต้อนรับการลงทุนใหม่อยู่ตลอดเวลา
นอกจากนั้น ไทยต้องเร่งการเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับนานาชาติให้มากขึ้น เพื่อขยายตลาดใหม่สำหรับสินค้าไทย และเป็นการลดความเสี่ยงจากประเทศคู่ค้าเดิมที่มีแนวโน้มเศรษฐกิจถดถอยลง
หนุนย้ายฐานการลงทุนเข้าไทย
นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA กล่าวว่า ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ในปัจจุบันแม้จะไม่รุนแรงจนนำไปสู่สงครามเย็นเหมือนในอดีต แต่ก็ไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตามในส่วนของไทยอาจได้ประโยชน์ เพราะเราอยู่ในอาเซียนซึ่งเป็นพื้นที่มีศักยภาพเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีในระยะข้างหน้า
“ดูแล้ว Geopolitics เป็นผลบวกกับไทยมากกว่าผลลบ เพราะเราเป็นประเทศขนาดกลางเล็กถ้ายักษ์ใหญ่ดีกันเขาก็ไม่มองเรา แต่เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น ประเทศไทยเนื้อหอมมากขึ้น เพราะอาเซียนเป็นพื้นที่มีศักยภาพ เศรษฐกิจดี”
ทั้งนี้ความขัดแย้งเริ่มผ่อนคลายลง แต่จะไม่หายไป ก็ป็นสิ่งที่ดีกับประเทศไทย เพราะ การเคลื่อนย้ายของทุนที่ออกมาจากประเทศจีนหลักๆ มากจากภูมิรัฐศาสตร์ ถ้าไม่มีเรื่องนี้ การเคลื่อนย้ายของทุนก็ไม่เกิด ซึ่งจุดหมาย (destination) ของทุน คือ ไทยจะได้ผลประโยชน์ เพราะอยู่ใน Position ที่ดี
แนะไทยปรับยุทธศาสตร์ประเทศ
ดังนั้นไทยต้องปรับยุทธศาสตร์ประเทศ ซึ่งต้องปรับหลายเรื่องตั้งแต่กฎมาย สิ่งแวดล้อมต่างๆ เพราะถ้าไม่ปรับอาจได้ประโยชน์ไม่ได้เท่าที่ควร
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวนั้น ซึ่งการเติบโตของเศรษฐกิจจะโตจากการเติบโตในประเทศมากขึ้น แม้หนี้ครัวเรือนจะสูง แต่ถ้าทำให้คนที่มีหนี้สามารถที่จะจ่ายหนี้ได้ ถ้าคืนได้จะมีหนี้เท่าไรก็ไม่เกิดปัญหา โดยการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจโลกกลับมาได้นั้น ผู้ที่มีกำลังมากสุด คือ ภาครัฐของทุกประเทศ
ส่วนแผนดำเนินงานของ EA นายสมโภชน์ กล่าวว่า ธุรกิจของ EA ยังเติบโตได้จากการเปลี่ยนแปลงที่สร้างโอกาสให้ธุรกิจ เพียงแต่เมื่อเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว ทาง EA อาจต้องระมัดระวังขึ้น โดยอาจจำกัดความเร็วการเติบโตไว้บ้างแต่ยังอยู่ในจุดที่เติบโตได้ดี
“ธุรกิจของ EA เข้าไปสู่ธุรกิจที่ลิ้งค์กับผู้บริโภค ทำให้เรื่องเศรษฐกิจโลกถดถอยนั้นเป็นความเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง และใส่ใจมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะกลัวจนไม่กล้าจะทำอะไร”นายสมโภชน์ กล่าว
ไทยรับประโยชน์เคลื่อนย้ายทุน
นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัทดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความเสี่ยงจากภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจเกิดมากขึ้นในปี 2566 นั้นไม่ได้กระทบกับธุรกิจของดับบลิวเอชเอ ซึ่งในทางตรงกันข้ามกลับเป็นโอกาสที่ดีของดับบลิวเอชเอ เพราะไทยไม่ขัดแย้งกับประเทศใด ซึ่งถือเป็นจุดแข็งที่ดีมากที่จะดึงการลงทุนจากภายนอกได้
“ซีอีโอหลายบริษัทมองตรงกันว่าในการเคลื่อนย้ายฐานการลงทุนเป็นเรื่องที่สำคัญที่จะเกิดมากขึ้น ทำให้หลายบริษัทตัดสินใจเคลื่อนย้ายการลงทุน มาลงทุนในไทย รวมทั้งการจัดประชุมเอเปคที่ผ่านมาที่มีผลดี จะมีส่วนอย่างมากที่ทำให้นักลงทุนทั้งจีน และซาอุดิอาระเบีย ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทยปีหน้า โดยซาอุดิอาระเบียจะมีการลงทุนในธุรกิจที่หลากหลายในประเทศไทย” นางสาวจรีพร กล่าว
“เศรษฐา”แนะไทยหาจุดสมดุล
นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทแสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า 2-3 ปีที่ผ่านมาภูมิรัฐศาสตร์มีบทบาทและสำคัญมากในเวทีการเมืองเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกเกิดขึ้นต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ การหดตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐที่ซ้ำเติมด้วยความขัดแย้งไม่ลงรอยกับจีน อีกทั้งมีโควิดและปัญหาสภาพภูมิอากาศโลกที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขและซับซ้อนขึ้น
"เป็นความท้าทายและโอกาสที่ไทยต้องหาจุดสมดุลให้เจอ และเล่นบทบาทตัวเองให้เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการเมืองในประเทศที่ต้องสนับสนุนประชาธิปไตย สร้างธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศ หน่วยงานภาครัฐที่โปร่งใสได้รับการยอมรับจากประชาชน ความโปร่งใสด้านสิทธิมนุษยชน การปรับแก้นโยบายและกฎหมายบางเรื่องที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศได้ เช่น โครงสร้างภาษีที่สร้างความเท่าเทียมมากขึ้น ความเท่าเทียมทางด้านการศึกษา ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม”
เสนอเร่งวางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ
นายเศรษฐา ย้ำว่า “ถึงเวลาที่ประเทศไทยจะต้องวางยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ สร้างจุดขายและสร้างความได้เปรียบในการต่อรองให้มากขึ้นเพื่อสร้างแต้มต่อในเชิงเศรษฐกิจ”
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเสริมศักยภาพอุตสาหกรรม อย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากเครื่องสันดาปภายในกับรถไฟฟ้า ซึ่งไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และซัพพลายเชนที่มีประสบการณ์ มีแรงงานที่มีฝีมือในภาคการผลิตรถยนต์มาก่อนหรืออุตสาหกรรมไบโอเทคโนโลยีโดยเฉพาะด้านอาหาร ซึ่งโลกกำลังให้ความสำคัญกับ “ความมั่นคงด้านอาหาร” (Food Security) ที่ได้เปรียบคู่แข่ง ซึ่งอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารไทยเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ก้าวหน้าที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พร้อมกันนี้ต้องดึงภาคเอกชนที่มีความแข็งแกร่งและพร้อมที่จะสนับสนุนเข้ามาเป็นตัวเชื่อมในการเจรจาหาพันธมิตร นอกเหนือจากรัฐกับรัฐแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับองค์กรเอกชนระดับโลกก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่จะผลักดันให้ไทยไปยืนในเวทีโลกได้เช่นกัน
“สิ่งสำคัญคือผู้นำประเทศต้องเข้าใจและรู้จักถ่อมตน รู้ตนเองว่าเราขนาดไหน ค้าขาย ต่อรองกับใครก็ต้องทำอย่างมีศักดิ์ศรี เพราะเราอยู่ด้วยตัวเองไม่ได้ อย่างไรก็ต้องพึ่งคนอื่น ซึ่งประธานาธิบดีวิโดโด ของอินโดนีเซีย ถือเป็นกรณีศึกษาที่ผู้นำควรพิจารณาว่าบทบาทของผู้นำมีความสำคัญอย่างไรในเวทีภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจของโลก”
จับตาคู่ขัดแย้งใหญ่เบรกลงทุน
นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFMAMA กล่าวว่า สถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลกในเวลานี้มีความเปราะบางอย่างมาก และเป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจต้องติตตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากผลกระทบต่อการตัดสินใจด้านการลงทุน ตลอดจนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ประเด็นใหญ่ที่ต้องเกาะติด คือ นโยบายของญี่ปุ่นที่พลิกจากกองกำลังป้องกันตนเอง ไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถทางกองกำลังทหารเชิงรุกมากขึ้น ทำให้มีงบประมาณซื้ออาวุธสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก เพื่อสร้างแสนยานุภาพเวทีโลก
ขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้งของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่าจะจบหรือไม่อย่างไร แต่เชื่อว่าปมการเมืองระดับโลกที่จะเกิดตามมาใหม่คือการต่อกรของ สหรัฐ ไต้หวัน ญี่ปุ่น และจีน
“ภูมิรัฐศาสตร์โลกเป็นสถานการณ์เปราะบาง ที่น่าเป็นห่วง คือ ญี่ปุ่นพลิกนโยบายสร้างกองกำลังทหารเชิงรุก ทุ่มเงินซื้ออาวุธสร้างแสนยานุภาพ เป็นตัวแปรใหม่ในภูมิภาค ซึ่งสงครามรัสเซีย-ยูเครนจบหรือไม่ ไม่รู้ แต่สหรัฐ ไต้หวัน ญี่ปุ่น จีนรออยู่แล้ว ภาพนี้เป็นแรงกดดันความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ และการตัดสินใจลงทุนใหญ่”