ประธานเฟดแอตแลนตาเผยตัวเลขจ้างงานบ่งชี้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัว
นายราฟาเอล บอสติก ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา ระบุว่า ตัวเลขการจ้างงานในวันนี้เป็นอีกสัญญาณหนึ่งที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป
"ในวันนี้ ผมมีความสบายใจไม่ว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% หรือ 0.25% และถ้าผมเห็นสัญญาณบ่งชี้ตลาดแรงงานคลายความตึงตัวต่อไป ผมก็จะหันมาหนุนมากขึ้นต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25%" นายบอสติกกล่าวต่อสำนักข่าว CNBC
อย่างไรก็ดี นายบอสติกกล่าวว่า ข้อมูลการจ้างงานในวันนี้ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงมุมมองของเขาที่ว่า เฟดควรเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงสุดระยะหนึ่งจนกว่าจะถึงปี 2567 เพื่อให้เงินเฟ้อชะลอตัว
นอกจากนี้ นายบอสติกคาดว่าสหรัฐจะไม่เผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีนี้ และคาดว่าอัตราว่างงานจะแตะระดับ 4% ในช่วงปลายปี ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของเจ้าหน้าที่เฟดหลายราย
ทั้งนี้ สหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรชะลอตัวจากเดือนพ.ย. ขณะที่ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน ซึ่งเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณเกี่ยวกับเงินเฟ้อ ได้ออกมาต่ำกว่าคาด บ่งชี้ว่าเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว ซึ่งจะเป็นปัจจัยชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด
ขณะเดียวกัน สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐหดตัวครั้งแรกรอบกว่า 2 ปี ซึ่งเป็นสัญญาณว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดได้ช่วยลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจสหรัฐ
นอกจากนี้ ISM เปิดเผยว่า ดัชนีราคาในภาคบริการร่วงลงสู่ระดับ 67.6 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2564 ซึ่งบ่งชี้ถึงการชะลอตัวของเงินเฟ้อ
นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นการประชุมนโยบายการเงินนัดแรกของเฟดในปีนี้ หลังสหรัฐเปิดเผยรายงานจ้างงานนอกภาคเกษตรและดัชนีภาคบริการในวันนี้
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 77.2% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.50-4.75% ในการประชุมวันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ. และให้น้ำหนักเพียง 22.8% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50%
กระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 223,000 ตำแหน่งในเดือนธ.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 200,000 ตำแหน่ง แต่ต่ำกว่าระดับ 256,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ย.
อัตราการว่างงาน ลดลงสู่ระดับ 3.5% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.7%
ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมง โดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบรายเดือน โดยชะลอตัวจากระดับ 0.6% ในเดือนพ.ย. และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.4%
เมื่อเทียบรายปี ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 4.6% ในเดือนธ.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.0%
ส่วน ISM เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 49.6 ในเดือนธ.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 55.0 จากระดับ 56.5 ในเดือนพ.ย.
ดัชนีอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้การหดตัวของภาคบริการ โดยเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2563
ดัชนีภาคบริการของสหรัฐได้รับผลกระทบจากการดิ่งลงของการจ้างงานและคำสั่งซื้อใหม่
ส่วนดัชนีราคาในภาคบริการร่วงลงสู่ระดับ 67.6 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2564 และบ่งชี้ถึงการชะลอตัวของเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ ดัชนีภาคบริการของ ISM ประกอบด้วยอุตสาหกรรม 17 กลุ่ม ซึ่งรวมถึงอสังหาริมทรัพย์ การขนส่ง การก่อสร้าง และเหมืองแร่