ดาวโจนส์พุ่ง 133 จุดหลังเฟดมินิทเผยเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย
ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันพุธ(4ม.ค.)พุ่งขึ้น 133 จุด หลังรายงานเฟดมินิทบ่งชี้ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างระมัดระวังในปีนี้ โดยจะไม่ให้กระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์บวก 133 จุด หรือ 0.40% สู่ระดับ 33,269.77 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 บวก 0.75% ปิดที่ 3,825.97 จุด และดัชนีแนสแด็ก ปรับตัวขึ้น 0.69% ปิดที่ 10,458.76 จุด
ทั้งนี้ รายงานการประชุมนโยบายการเงินของ เฟด ประจำเดือนธ.ค.ระบุว่า เงินเฟ้อยังคงเป็นปัจจัยสร้างความกังวลสูงสุดแก่เฟด หลังจากที่ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ พุ่งแตะระดับ 5.5% ในเดือนพ.ย. ซึ่งสูงกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับเป้าหมายเงินเฟ้อของเฟดที่ระดับ 2%
เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีที่แล้วเพื่อสกัดเงินเฟ้อ หลังจากที่รัสเซียประกาศบุกโจมตียูเครนในวันที่ 24 ก.พ.2565 ทำให้สหรัฐและชาติตะวันตกออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย ส่งผลให้ทั่วโลกเกิดการขาดแคลนพลังงานและอาหารอย่างหนัก และเป็นสาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้น
เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากถึง 7 ครั้งในปีที่แล้ว โดยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% จำนวน 1 ครั้ง, 0.50% จำนวน 2 ครั้ง และ 0.75% จำนวน 4 ครั้ง ส่งผลให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 4.25%
คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) มีมติเป็นเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.50% สู่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมเดือนธ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี
ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดคาดว่าจะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในปี 2566 และจะไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2567 โดยเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสู่ระดับ 5.1% ในปี 2566 ก่อนที่จะสิ้นสุดวัฏจักรปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยระดับดังกล่าวเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2550
หลังจากที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 5.1% ในปี 2566 หรือเทียบเท่ากับช่วงเป้าหมายอัตราดอกเบี้ย 5.00-5.25% เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อจับตาดูผลกระทบของการคุมเข้มนโยบายการเงินที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐ