‘สศช.’คิกออฟ ‘SEA’ สงขลา - ปัตตานี เตรียมเปิด 40 เวทีรับฟังความเห็นในพื้นที่
สศช.เดินหน้าทำ SEA พื้นที่สงขลา - ปัตตานี ให้แล้วเสร็จในปี 67 เปิดทางเลือกพัฒนาพื้นที่ที่ดีที่สุด หลังทำเวทีรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนให้เรียบร้อย ชี้โครงการนิคมในพื้นที่สามเหลี่ยมมั่นคงในพื้นที่ต้องเลื่อนออกไปก่อน จนกว่าจะได้ข้อสรุปแนวทางพัฒนาที่ชัดเจน
เป็นเวลาประมาณ 1 ปี ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2564 มีมติให้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำจัดทำผลการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment) หรือ “SEA” ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา ซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการพัฒนาเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา“เมืองต้นแบบอุตสาหกรรม ก้าวหน้าแห่งอนาคต”
วานนี้ (9 ม.ค.)สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการการจัดทำ SEA ในพื้นที่ได้มีการแถลงความคืบหน้าของการดำเนินการ
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช.เปิดเผยว่า สศช.ได้ดำเนินการจ้างที่ปรึกษา โดยวิธีคัดเลือก ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการ 3 ชุด ประกอบด้วย คณะกรรมการจัดทำร่างขอบเขตงานจ้างที่ปรึกษา คณะกรรมการดำเนินการจ้างที่ปรึกษาโดยวิธีคัดเลือก และคณะกรรมการตรวจรับพัสดุในงานจ้างที่ปรึกษา โครงการการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์
สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานที่สำคัญ ได้แก่ สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมเป็นองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ
โดย สศช. ได้ส่งหนังสือเชิญชวนที่ปรึกษาเพื่อยื่นข้อเสนอทางเทคนิคและข้อเสนอทางราคา ในการจัดทำโครงการ ภายใต้กรอบงบประมาณวงเงิน 28,227,800 บาท ระยะเวลาโครงการ 18 เดือน ซึ่งผู้ผ่านการคัดเลือก คือ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และได้มีการลงนามในสัญญาจ้างที่ปรึกษาฯ ไปแล้ว เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2565
ส่วนแผนการดำเนินงานโครงการในระยะต่อไป ที่ปรึกษาจะเริ่มมีการจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ซึ่งตามขอบเขตของงานจ้างที่ปรึกษา กำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็น 32 เวที โดยมีผู้เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 2,100 คน ในปีนี้ และในปี 2567 จะมีการรับฟังความคิดเห็นอีก 8 เวที โดยมีผู้เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 900 คน เพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วนจากทุกฝ่ายมากที่สุด
ทั้งนี้ สศช. จะรายงานข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการจัดทำโครงการการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานีอย่างต่อเนื่อง โดยผู้สนใจสามารถติดตามได้ทางเว็บไซต์และเพจ Facebook ของโครงการฯ
เมื่อถามว่าโครงการนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ จ.สงขลาที่เดิมมีแผนที่จะก่อสร้างก่อนหน้านี้ นายดนุชา กล่าวว่าเมื่อยึดตามมติ ครม.ที่ให้มีการจัดทำ SEA ก่อนโครงการดังกล่าวก็ต้องชะลอไปก่อน เพื่อรอความชัดเจนของผลการศึกษาที่จะได้มาจากการรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้เรียบร้อยซึ่ง สศช.จะพยายามกำกับการจัดทำ SEA ในพื้นที่นี้ให้แล้วเสร็จตามกำหนดในปี 2567
“สศช.พยายามทำให้เป็นกลางและสามารถสร้างการยอมรับจากทุกฝ่ายในพื้นที่และลดความขัดแย้งโดยมีกระบวนการในการทำงาน ส่วนที่ลงไปในพื้นที่ยังไม่ได้เริ่มกระบวนการ SEA เป็นการลงไปดูพื้นที่เท่านั้น จากนี้ไปจะเริ่มกระบวนการทำงานรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายที่จะเริ่มต้นขึ้น”
นายดนุชา กล่าวต่อว่าในการคัดเลือกพื้นที่ในการทำ SEA ในครั้งนี้ได้เลือกพื้นที่ จ.สงขลาและปัตตานี ที่มีพื้นที่ทางเศรษฐกิจเชื่อมโยงกัน และมีความสำคัญ และมีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะต่อไป ทั้งนี้ในส่วนของการทำ SEA ในพื้นที่อื่นๆนั้น สศช.กำลังอยู่ระหว่างร่างระเบียบกลาง เพื่อกำหนดให้การจัดทำแผนการพัฒนาเชิงพื้นที่ ในการจัดทำแผนการพัฒนาทั้งในพื้นที่ และในระดับจังหวัดก็ควรจะต้องทำ SEA ควบคู่ไปด้วย
สำหรับในในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา สศช.ดำเนินจัดทำ SEA ที่ผ่านมาประมาณ 1 ปี สศช. ได้ดำเนินงานขับเคลื่อนโครงการฯ ในอีก 4 เรื่องตามลำดับ ได้แก่
1.จัดทำแนวทางการดำเนินงาน SEA สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 4 ครั้ง ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2565 เพื่อหารือกับผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ จำนวน 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มภาครัฐและเอกชนกลุ่มผู้ห่วงใยจะนะ กลุ่มแนวร่วมการพัฒนา และกลุ่มนักวิชาการ
โดยรับฟังความคิดเห็นต่อ แนวทางการดำเนินงาน SEA สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ ในประเด็นสำคัญๆ เช่น ปัจจัยแห่งความสำเร็จ (Key Success Factors) ความคาดหวังต่อการจัดทำแผนพัฒนาโดยใช้ SEA เป็นเครื่องมือ ประเด็นข้อห่วงใยเกี่ยวกับการพัฒนาในพื้นที่ แผนพัฒนาที่ควรใช้ SEA ในการจัดทำ พื้นที่ขอบเขตการศึกษา ระยะเวลาในการดำเนินการ ประเด็นอ่อนไหวหรือข้อพึงระวังในการดำเนินการ และเกณฑ์การคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิที่จะเป็นคณะกรรมการกำกับงาน SEA เพื่อนำมาจัดทำร่าง TOR ที่ตอบสนองกับความต้องการในพื้นที่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีรับทราบแนวทางการดำเนินงาน SEA เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565
2. เตรียมความพร้อมในการดำเนินงานโครงการฯ ในระหว่างวันที่ 27 – 29 สิงหาคม 2565 โดยผู้บริหาร สศช. พร้อมเจ้าหน้าที่ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการมีส่วนร่วมแบบสันติวิธีจากสถาบันพระปกเกล้าได้ลงพื้นที่จังหวัดสงขลา เพื่อศึกษาลักษณะทางภูมิศาสตร์และบริบททางเศรษฐกิจและสังคมโดยทั่วไปของพื้นที่ที่จะมีการจัดทำ SEA เพื่อสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการกำกับการจัดทำ SEA ในระยะต่อไป
3. ขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการฯ โดยเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 - 2567 จำนวน 28,227,800 บาท โดยแบ่งเป็น งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 14,113,900 บาท และส่วนที่เหลือจำนวน 14,113,900 บาท ให้ก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 - 2567
และ 4. แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการจัดทำ SEA สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2565 โดยมีเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานร่วม มีสำนักงบประมาณและสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นกรรมการ ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 12 คน เพื่อทำหน้าที่ให้ความเห็นประกอบการจัดทำ TOR และกำกับโครงการฯ