เป้านักท่องเที่ยว 80 ล้านคน ต้องเตรียมบุคลากรให้พร้อม
ประเทศไทยเมื่อตั้งความหวังกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไว้สูงแล้วต้องเตรียมบุคลากรให้พร้อม รวมถึงค่าตอบแทนในภาคส่วนนี้ต้องเหมาะสม
วันก่อนได้ยิน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แถลงถึงเป้าหมายของกระทรวงในอีก 5 ปีข้างหน้า จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาประเทศไทยมากถึง 80 ล้านคน เติบโต 2 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด ทำให้ในปี 2570 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่าประชากรไทยซึ่งปัจจุบันมี 70 ล้านคน สร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากฐานรายได้ 1.93 ล้านล้านบาทเมื่อปี 2562
ฟังแล้วชื่นใจและน่าจะเป็นไปได้ไม่ยากเมื่อจีนเปิดประเทศแล้ว เทียบกับปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด ไทยเคยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 40 ล้านคน เป็นนักท่องเที่ยวจีน 10.9 ล้านคน
การคาดการณ์ของกระทรวงการท่องเที่ยว สอดรับกับผลสำรวจความเห็นของผู้บริโภคกว่า 26,000 คนใน 25 ประเทศที่ยูกอฟ (YouGov) สำรวจให้กับสภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก (WTTC) เมื่อช่วงปลายเดือนพ.ย. 2565 พบว่า ความต้องการเดินทางไปต่างประเทศอยู่ที่ระดับสูงสุดนับแต่โรคโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาด 63% ของผู้ที่ได้รับการสำรวจวางแผนที่จะเดินทางไปพักผ่อนในต่างประเทศในช่วง 12 เดือนข้างหน้า
เช่นเดียวกับองค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) เปิดเผยในเดือนพ.ย.ว่า ภายในสิ้นปี 2565 การขยายตัวด้านการท่องเที่ยวทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะพุ่งแตะ 65% ของระดับในช่วงก่อนโรคโควิด-19 แพร่ระบาด เนื่องจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
WTTC คาดการณ์ว่า การท่องเที่ยวจะเติบโตตลอด 10 ปีข้างหน้า เป็นปัจจัยหนุนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ทั่วโลกเติบโตเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า
สิ่งที่ต้องคิดต่อคืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นงานบริการที่ต้องใช้คนเป็นสำคัญ ต่อให้มีหุ่นยนต์มาช่วยบ้าง เช่น โรงแรม Henn na ในญี่ปุ่นที่ใช้หุ่นยนต์เป็นพนักงานต้อนรับ เช็กอินด้วยระบบเอไอ เป็นข่าวฮือฮาไปทั่วโลกเมื่อหลายปีก่อน แต่อย่างไรเสียขึ้นชื่อว่างานบริการก็หนีไม่พ้นคนด้วยกัน นึกถึงความรู้สึกเมื่อยเนื้อเมื่อยตัวไปนั่งเก้าอี้นวดย่อมเทียบไม่ได้กับหมอนวดฝีมือดี
ปัญหาที่ไทยจะเจอต่อไปคือขาดแคลนบุคลากรภาคการท่องเที่ยว อย่างที่ยุโรปเคยเจอมาก่อนตอนที่เที่ยวบินกลับมาให้บริการได้ใหม่ๆ หลังซบไปสองปีเพราะโควิด ช่วงนั้นพนักงานในธุรกิจการบินและการท่องเที่ยวถูกเลย์ออฟไปเป็นจำนวนมากจนแทบหาคนทำงานไม่ได้
ในแง่ของนักท่องเที่ยวจีนตลาดหลักของไทย การประเมินของหลายสำนักประเมินว่าต้องใช้เวลาอีกสักพักกว่าจะกลับสู่ระดับก่อนโควิด คนที่ออกมาช่วงแรกเป็นคนจีนกระเป๋าหนัก เศรษฐกิจจีนเสียหายจากโควิดสูงมาก ดังนั้น คนธรรมดาสามัญต้องทำมาหากินหรือรอให้หายโศกเศร้าจากการที่คนที่รักจากไปด้วยโควิดเสียก่อนกว่าจะทยอยมากันก็น่าจะไตรมาสสอง ส่วนไทยเมื่อตั้งความหวังกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไว้สูงแล้วต้องเตรียมบุคลากรให้พร้อม รวมถึงค่าตอบแทนในภาคส่วนนี้ต้องเหมาะสม อีกประเด็นที่ต้องพิจารณาคือธุรกิจการท่องเที่ยวจะต้องกระจายรายได้สู่ประชาชนรากหญ้าได้จริง ไม่ใช่แค่นายทุนใหญ่เจ้าของโรงแรมหรือทุนที่เกี่ยวข้องไม่กี่กลุ่ม หากทำได้เมื่อนั้นรายได้จากการท่องเที่ยวจึงจะสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจต่อยอดไปถึงผลตอบแทนทางสังคมที่น่าจะดีกว่าได้แค่ตัวเลขจีดีพีสวยๆ เท่านั้น